top of page
379208.jpg

EXIM BANK เตือน ‘ผู้ส่งออก’ อย่าริเล่นกับไฟ...ซื้อประกันภัยความเสี่ยงซะ


EXIM BANK แอ่นอกอาสาช่วย “ผู้ส่งออกไทย” เผชิญความเสี่ยงจากการขายสินค้าไปต่างประเทศทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะถูกผู้ซื้อชักดาบถ้ามีการซื้อประกันภัยส่งออกกันเหนียวได้เงินชัวร์ หรือจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินผันผวน แนะ “ผู้ส่งออก” อย่าหวังรวย 2 เด้งจากกำไรขายของ+ค่าเงิน เพราะขนาดแบงก์พาณิชย์ยังเจ๊งจากเก็งกำไรค่าเงินมาแล้วเลย นับประสาอะไรกับคนทำการค้าอาจพลาดท่าเสียทีได้ จึงไม่ควรริอ่านเล่นกับไฟ แนะให้เอาอย่างบรรษัทการค้าข้ามชาติ+ยักษ์ใหญ่ ส่งออกมุ่งขายสินค้าลูกเดียว ปลอดภัย กำไรแยะ

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า EXIM BANK ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เสนอกับผู้ส่งออกไทยขณะนี้เป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยการส่งออก เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ส่งออกเมื่อส่งสินค้าไปขายจะได้เงินแน่ อยากให้ความมั่นใจกับผู้ส่งออกว่าส่งออกสินค้าไปขายแล้ว สามารถนำเงินกลับมาชำระธนาคารพาณิชย์ได้

“ตรงนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ EXIM BANK และเป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่มี ถือเป็นการช่วยธนาคารพาณิชย์ให้มั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบการกู้เงินไปและส่งสินค้าไป ผู้ประกอบการก็สามารถนำเงินกลับมาชำระให้กับธนาคารพาณิชย์ได้แน่นอน ยิ่งถ้าผู้ประกอบการไม่ได้กู้เงิน ก็จะยิ่งดีใหญ่ ตรงนี้เราช่วยโปรโมทว่า ให้ผู้ประกอบการส่งออกมาทำประกัน เพราะไม่รู้ว่าฝั่งคู่ค้า มีการค้าขายเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการมีผู้ซื้ออยู่หลายสิบรายหรือกว่าหนึ่งร้อยราย ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งเราอยากช่วยส่งเสริมเรื่องการรับประกันการส่งออก” นายพิศิษฐ์กล่าวถึง EXIM BANK อยู่ในช่วงการโปรโมทผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่งออก จูงใจผู้ใช้บริการด้วย การเก็บค่าธรรมเนียมถูกกว่าช่วงปกติช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ทางด้านนี้ ขณะเดียวกัน ในส่วนการประกันภัยการส่งออกนั้นมีวงเงินเริ่มต้นไม่เกิน 5 แสนบาทต่อรายผู้ซื้อ คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 3 พันบาท มีโปรโมชั่นลด 50% เหลือแค่ 1.5 พันบาท ถือว่าคุ้มมาก

“ในช่วงที่ผ่านมาจะมีลูกค้าที่ไม่ได้รับการจ่ายเงินจากคู่ค้า และความเสียหายคู่ค้าในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าที่อยู่ในตลาดประเทศเดิมๆ และคู่ค้าที่เป็นประเทศที่เจริญแล้ว ผู้ประกอบการอาจจะไว้ใจประเทศเหล่านั้นมากไป แต่ถ้าเกิดเป็นประเทศเกิดใหม่ ยกตัวอย่างส่งออกไปแอฟริกา หรือบราซิล ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ เราจะมีความระมัดระวังเช็กประวัติอย่างเข้มงวด หรือแย่สุดเราจะขอให้คู่ค้าทำการเปิดแอลซีมา แต่ถ้าคู่ค้าเป็นบริษัทใหญ่ เขาก็ไม่อยากจะเปิดแอลซีมา ตรงนี้คือเหตุผลหลัก ตอนนี้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะมีอยู่บ้างที่เกิดขึ้นมา แต่ก็ไม่มากกว่าปกติมากนัก อย่างปี 2559 มีอัตราการล้มละลายของคู่ค้า อยู่ในเกณฑ์ 3-4% หมายความว่าผู้ซื้อ 100 ราย จะมีล้มละลายไปบ้าง 3-4 ราย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กๆ”

สำหรับ EXIM BANK จะมีความเสี่ยงหรือไม่ที่ไปแบกรับความเสี่ยงมาอีกทอดหนึ่งจากผู้ส่งออก นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า เป็นหน้าที่ของ EXIM BANK ทั่วโลก รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ค้าได้รับการรับประกันเพื่อการค้าจะได้มีความคล่องตัว ขณะเดียวกันในเรื่องนี้ทาง EXIM BANK จะมีพันธมิตรกับบริษัทอินชัวรันซ์ทั่วโลก และมีการกระจายความเสี่ยงออกไป ยกตัวอย่างเช่น เรารับประกันมาคุ้มครอง 100 จะกระจายความเสี่ยงออกไป 60 ให้มีคนมารับประกันภัยต่อไปอีกทีหนึ่ง รายการส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการค้า ถ้าไม่มีการโกงกันในเรื่องเอกสาร ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีอย่างเช่น เราไปเช็กเครดิตบูโรว่าคู่ค้ามีเครดิตแค่ไหน มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีวงเงินอยู่กับธนาคารเท่าไหร่ เหมือนกับคนที่จะกู้เงินในเมืองไทย ทางธนาคารจะมีการเช็กเครดิตเช่นเดียวกัน

สำหรับความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวน นายพิศิษฐ์เปิดเผยว่า EXIM BANK จะมีการรับประกัน 2 ลักษณะ โดยประเด็นหลักก็คือว่าตอนที่ผู้ส่งออกทำการส่งสินค้าออกไป จะรู้แล้วว่าเมื่อส่งออกไปคำนวณที่ราคาเท่าไหร่ เราแนะนำตลอดว่าผู้ส่งออกรู้แล้วว่าเมื่อส่งออกไป จะได้รับเงินมาทั้งหมดเท่าไหร่ เพราะ ณ วันนั้นได้คำนวณแล้วว่าจะได้เงินทั้งหมดเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เมื่อคำนวณก็จะมีกำไรเหลืออยู่ และเราก็พยายามแนะนำผู้ค้าว่า ท่านไม่มีความชำนาญเรื่องค่าเงิน แม้แต่ธนาคารพาณิชย์เองยังกังวล ธนาคารพาณิชย์เคยเจ๊งมาแล้ว

“เราแนะนำว่าผู้ประกอบการชำนาญเรื่องการค้า ส่วนการเงินให้มาหาธนาคาร และเมื่อขายสินค้าไป ก็อย่าไปเก็งกำไรเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน คือขายไปล็อกไปที่ 34 บาท ท่านก็มาทำการฟิกซ์ฟอเวิดกับธนาคารปิดความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนไป หรือมีอีกวิธีคือผู้ประกอบการมาซื้อออฟชั่น คือถ้าอัตรา 34 บาทต่อดอลลาร์ แล้วท่านจะแลกหรือไม่แลกก็ได้ แต่ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน ท่านทำการซื้อออฟชั่นไว้ ขอสิทธิที่จะขายเงินดอลลาร์ที่อัตราแลกเปลี่ยน 34 บาท ท่านก็จ่ายค่าธรรมเนียมไป ค่าธรรมเนียมอาจจะสูงหน่อย อาจจะประมาณ 3-4% ถ้าค่าเงินดอลลาร์ลงมาที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ท่านก็มาทำการขอสิทธิ์กับธนาคารที่จะเอาดอลลาร์มาขายกับธนาคารแล้วได้เงินมา 34 บาทต่อดอลลาร์” นายพิศิษฐ์กล่าวและว่า หากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นไป 35 บาทต่อดอลลาร์ ท่านก็จะปล่อยสิทธิ์ตรงนี้ทิ้งไป นำเงินดอลลาร์ที่ได้มาจากต่างประเทศเอามาขายกับธนาคารที่อัตรา 35 บาท “เพียงแต่ค่าธรรมเนียมในการซื้อสิทธิ์จะสูงหน่อย เพราะว่าท่านจะขอสิทธิ์ในการเลือก”

นายพิศิษฐ์เปิดเผยว่าที่ผ่านมามีผู้ส่งออกไทยชอบเสี่ยง คืออยากได้ 2 เด้ง จากการขายสินค้าได้กำไร และอยากได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเอสเอ็มอี เราเองไม่แนะนำ ขณะที่บริษัทใหญ่ๆอย่างเช่น มัลติเนชั่นแนล..บริษัทข้ามชาติ หรือบริษัทใหญ่ๆที่มีขอดขายเป็นพันล้านบาทขึ้นไป เขาจะไม่สนใจเรื่องเก็งกำไร ค่าเงิน เพราะเขาเองถนัดเรื่องการค้า จะมุ่งเรื่องการค้าเป็นหลัก และพยายามปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน “ผู้ส่งออกขายไป ที่ 33.80 บาท เขาก็มาซื้อ ทำการขายเงินดอลลาร์ให้กับธนาคารเลยว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าเขาจะทำการส่งออกไปแล้วก็จะได้เงินมาแน่นอนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็มาทำการขายเงินดอลลาร์ให้กับธนาคารไปเลย และล็อกกำไรส่วนต่างไป ความเสี่ยงจะเกิดเกี่ยวกับเรื่องการส่งออกมากกว่า เช่นคู่ค้ายังไม่จ่ายเงิน ท่านก็มาซื้อประกันความเสี่ยงทางด้านการส่งออก ผลิตภัณฑ์นี้เราเรียกว่า ประกันความเสี่ยงส่งออกไปได้เงินแน่ ดังนั้น แนะนำให้ผู้ส่งออกมาประกันความเสี่ยงกับเราได้เลย”

44 views
bottom of page