ธปท.คลอดเกณฑ์คุมวงเงินบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลตามคาด หากเพิ่มเกณฑ์ให้ขอวงเงินอีกได้กรณีจำเป็นในการดำรงชีพหลังถูกโจมตีผลักคนเป็นหนี้นอกระบบ เริ่มใช้บังคับ 1 ก.ย.นี้ ด้านผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจวกอีก คำจำกัดความของการดำรงชีพคลุมเครือ ปล่อยสินเชื่อมั่วอีก ทั้งประกาศเกณฑ์ก่อนใช้จริงตั้ง 1 เดือน ส่งผลคนแห่ขอบัตรฯ-สินเชื่อ สถาบันการเงินแข่งแย่งลูกค้าใหม่สนุกแน่
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาหนี้ในภาคครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่ง ธปท.ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลหนี้ในภาคครัวเรือนดังกล่าว จึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบภายใต้โครงการการแก้ไขหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและมีเจ้าหนี้หลายราย หรือคลินิกแก้หนี้
ทั้งนี้ การปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท.เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยดูแลการก่อหนี้สินของภาคครัวเรือนให้เหมาะสมขึ้น เนื่องจากประชาชนเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ได้ง่าย และเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อาจส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเปราะบางก่อหนี้จนเกินความสามารถชำระหนี้ของตนได้
สำหรับมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ รายได้ตั้งแต่ 30,000 ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า และได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 18% จากเดิม 20% ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง
ด้านมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับได้ปรับวงเงิน ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผุ้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และให้ได้รับสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับไม่เกิน 3 ราย สำหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย โดยยังคงเพดานดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจะเรียกเก็บได้ เพื่อให้สามารถให้บริการสินเชื่อแก่ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้
อย่างไรก็ดี ธปท.ตระหนักถึงความจำเป็นที่ผู้บริโภคอาจต้องมีช่องทางเข้าถึงสินเชื่อในกรณีที่มีเหตุการณ์จำเป็นฉุกเฉินที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ธปท.จึงอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสามารถให้วงเงินชั่วคราวในกรณีดังกล่าวได้ และให้กำหนดการจ่ายชำระคืนตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ แนวทางการกำหนดวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จะมีผลใช้บังคับกับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป และสำหรับเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 เช่นกัน โดยจะมีผลใช้บังคับกับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลผู้บริโภค ธปท.ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับต้องให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคในกรณีที่ไม่ต้องการให้ติดต่อเพื่อเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยต้องมีกระบวนการและดูแลให้เป็นไปตามประสงค์ของลูกค้า รวมถึงในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินที่ผิดพลาดของบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องให้สิทธิทางเลือกแก่ผู้ถือบัตรเครดิตที่จะขอรับเงินคืนผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากการคืนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตด้วย
ด้าน แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ กล่าวว่า เกณฑ์ใหม่ของ ธปท.เป็นไปตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทเช่นเดิม และยังเพิ่มขึ้นจากการลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงจาก 20% เหลือ 18% อย่างไรก็ดี เกณฑ์ใหม่มีส่วนเพิ่มเติม คือ การให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มวงเงินฉุกเฉินให้ลูกค้าได้ในกรณีจำเป็น ซึ่ง ธปท.คงได้ตระหนัก หลังจาก หนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ได้นำเสนอข่าวเรื่องเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ที่จะผลักให้คนออกไปเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้น จึงมีการเพิ่มเติมในส่วนนี้เข้ามา ซึ่งน่าจะช่วยลดการออกไปเป็นหนี้นอกระบบได้ในระดับหนึ่ง แต่การพิจารณาว่าวงเงินที่เพิ่มจะเป็นไปเพื่อการดำรงชีพจริงหรือไม่ สถาบันการเงินที่ซื่อสัตย์อาจให้วงเงินเพิ่มตามความจำเป็นจริงๆ ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ซื่อสัตย์ และโดนเป้าขยายสินเชื่อก็อาจจะให้จนเกินความเหมาะสม เพราะไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของความจำเป็นในการดำรงชีพ
“การประกาศเกณฑ์บังคับใช้ใหม่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้จริงเป็นเวลากว่า 1 เดือน จะส่งผลให้ทั้งฝ่ายผู้บริโภครีบสมัครขอออกบัตรเครดิตใหม่ และเร่งขอสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อไม่ต้องอยู่ภายใต้วงเงินต่ำๆ ของเกณฑ์ใหม่ ส่วนทางฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเองก็จะโหมเร่งออกบัตรและสินเชื่อใหม่ ทำให้ภายใน 1 เดือนทอง หรือนาทีทองนี้คงเห็นผู้ประกอบธุรกิจออกแคมเปญโปรโมชั่นแข่งขันชิงลูกค้ากันสนุกแน่” แหล่งข่าวกล่าวในตอนท้าย