ผู้เลี้ยงไก่ไข่ไทยมั่นใจส่วนใหญ่สู้โรคระบาดไข้หวัดนก-อหิวาต์ได้ด้วยระบบการจัดการที่ดี มีมาตรฐานถูกสุขลักษณะ เฝ้าระวังมาตลอด เผยไข่ไก่ไทยคุณภาพสูงเทียบชั้นมะกัน-ยุโรปได้สบาย แต่ยังบุกตลาดนอกไม่ได้มาก เพราะต้นทุนสูง ทั้งค่าเลี้ยง, ค่าบรรจุ, ค่าส่งออก เลยขายแข่งสู้เขาไม่ได้
นายมาโนช ชูทับทิม ที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ธุรกิจผู้เลี้ยงไก่ไข่ว่า ขณะนี้ราคาขายภายในประเทศไม่ค่อยดีนัก ขณะที่ราคาขายต่างประเทศก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ที่ส่งออกขายไปจะส่งไปที่ฮ่องกงเป็นหลัก ถือเป็นฐานลูกค้าประจำ โดยที่ออร์เดอร์จากฮ่องกงทุกปีมีการขยายตัวอยู่เป็นประจำ เพราะมาตรฐานหรือคุณภาพไข่ของไทย เทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้ผู้บริโภคที่ฮ่องกงชื่นชอบ ในส่วนของราคาสามารถแข่งขันได้ในตลาด
“การส่งออกไข่ไก่ไปเกาหลีก็มีบ้าง ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองและตรวจสอบ โดยทางเจ้าหน้าที่สมาคมผู้นำเข้าของเกาหลีกับทางราชการ และผู้ประกอบการภายใน กำลังตกลงเงื่อนไขต่างๆ และดูเรื่องคุณภาพของแต่ละฟาร์มอยู่ ส่วนประเทศอื่นๆ ไทยเคยขายที่ตะวันออกกลาง, แอฟริกาบ้าง แต่ยังน้อยอยู่ เนื่องจากมีไข่จากอินเดีย และทางอเมริกาใต้เข้าไปขายอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เป็นตลาดที่รองรับกันอยู่ ส่วนไข่ไก่ของเรา จะแทรกเข้าไปก็เป็นแค่บางช่วงไม่ได้มากมายอะไร” นายมาโนชกล่าวและว่าการส่งออกไข่ไก่ของไทยไปต่างประเทศเมื่อหักค่าใช้จ่าย ไข่ไก่ไทยยังมีราคาที่สูงอยู่ เพราะการส่งออกต่างประเทศมีค่าขนส่ง, ค่าแพ็คเกจ ส่วนนี้จะเป็นต้นทุนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับภายในเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ราคาก็ไม่ต่างกัน บางทีจะถูกกว่าด้วยซ้ำ
นายมาโนชเปิดเผยราคาในประเทศสำหรับไข่คละใหญ่อยู่ที่ประมาณ 2.50-2.60 บาท ส่วนไข่คละกลางและเล็กอยู่ที่กว่า 1 บาท จนถึง 2 บาท ลดหลั่นไปตามขนาด ตอนนี้ราคายังดีกว่าช่วง 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ ที่ราคาขายลงไปเหลือ 2 บาท โดยราคาที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เริ่มช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นราคาที่พออยู่กันได้ แต่ถ้าถามว่าดีคงไม่ดีและอาจจะลำบากเพราะปัจจุบันต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ และการจัดการฟาร์มที่เราต้องมีความเข้มข้นในเรื่องของการเฝ้าระวังต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาระส่วนนี้จะตกอยู่กับฟาร์ม
“ตอนนี้ก็มีข่าวโรคระบาดในไก่ไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกาหรือที่เกาหลี สำหรับไทยนั้นในฟาร์มไก่ไข่ที่ได้มาตรฐาน แทบจะไม่ได้รับผลกระทบที่ระบาดกันในไทย เท่าที่ได้รับแจ้งจากปศุสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นไก่พื้นเมืองหรือไก่พื้นบ้านที่เขาเลี้ยง ตรงนั้นจะไม่มีการควบคุมและดูแล การทำวัคซีนก็อาจไม่ดีพอทำให้เสียหายเป็นวงกว้าง แต่นับจำนวนที่เกิดปัญหายังไม่มากเท่าไหร่ โดยที่ฟาร์มไม่ได้มาตรฐานอาจจะถูกกระทบบ้าง คงต้องให้เฝ้าระวังมากขึ้น โดยโรคที่เกิดระบาดคือ อหิวาตกโรค ส่วนเรื่องหวัดนกส่งผลกระทบในวงกว้าง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าในส่วนราชการ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้และช่วยบอกกล่าวในเรื่องของการเฝ้าระวัง และส่งสัญญาณให้กับทางฟาร์มได้จัดการมาตรฐานฟาร์มให้ถูกสุขลักษณะ เฝ้าระวังและจัดการภายในให้ดีพอ และทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้ทางไทยเราค่อนข้างจะโชคดีมากที่สุด”
ส่วนเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นนายมาโนชเปิดเผยว่า เราได้เข้าในระบบตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ทำให้แรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่อาจจะมีบางส่วนที่ใช้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายอยู่บ้าง วันนี้น่าจะเข้าสู่ระบบทั้งหมดแล้ว แต่ก็อาจจะมีบางรายเดือดร้อนบ้าง คาดว่าฟาร์มส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนไทยเป็นหลักอยู่แล้ว โดยแรงงานอาชีพนี้ไม่จำกัดอายุ ใช้ความชำนาญเป็นหลัก ยกเว้นฟาร์มขนาดใหญ่ อาจจะมีปัญหาเรื่องแรงงานบ้าง โดยรวมก็ลื่นไหลไปตามสถานการณ์ โดยที่กฎหมายที่ออกมาต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาภาพรวมของประเทศ และต้องปรับตัวไปตามเหตุการณ์ ตามกฎหมายที่เกิดขึ้น ยังโชคดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญและเข้าใจตรงจุดนี้ให้มีเวลาได้ปรับตัวกัน คือทุกคนต้องเข้าสู่ระบบ
“ที่ผ่านมามีนักลงทุนหน้าใหม่ๆ เข้าสู่ธุรกิจนี้ โดยทั่วไป จะมีเป็นระยะๆ ตามแรงจูงใจที่จะเข้ามาสู่ระบบ” นายมาโนชกล่าวและว่า เรื่องโรคระบาดที่มีข่าวหนาหูในช่วงนี้ สะท้อนถึงการเลี้ยงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากขึ้น ถ้าไม่ใช่มืออาชีพจริงๆ คงเข้ามายาก ยกเว้นคนไม่รู้ข้อมูลและเข้ามา ก็รับความเสี่ยงไป “อยากจะฝากถึงรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯและกรมปศุสัตว์ที่ผ่านมาก็ทำงานควบคู่ไปกับเกษตรกรอยู่แล้วเป็นเหมือนพี่เลี้ยง และให้ความรู้ด้านต่างๆ ตรงจุดนี้ขอชมเชยว่าทางเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับเกษตรกร ขณะเดียวกัน อยากฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกทั่วไป ช่วงนี้หน้าฝนและต่อไปจะเข้าสู่หน้าหนาว รอยต่อช่วงนี้จะทำให้ไก่อ่อนแอ ดังนั้นควรดูแลไก่ให้ดีหรือในฟาร์มให้ดีให้ได้มาตรฐาน และทุกอย่างจะอยู่รอดปลอดภัย”