นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงปัญหาสกิมมิ่งตู้เอทีเอ็มที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ ขณะที่เรื่องเอกสารตามที่เป็นข่าว ที่มีการส่งมา จะเป็นเอกสารตามวิธีการการทำงานปกติของสมาชิกธนาคาร สมาชิกชมรมธุรกิจบัตรเครดิต ชมรมธุรกิจเอทีเอ็มภายใต้สมาคมธนาคารไทยที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่แล้ว ข้อความในเอกสารเป็นข้อความที่ส่งภายในสมาชิกของชมรมเพื่อให้ไปดำเนินการต่อ เป็นข้อความที่จริง แต่ข้อความนี้มีการนำก็อบปี้ไปแล้วเอาไปโพสต์ในส่วนธนาคารสมาชิก 1 ธนาคาร
“ข้อความดังกล่าว มีการคลาดเคลื่อนหลายส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ ข้อความที่บอกว่าตู้เอทีเอ็ม 14 ตู้ เป็นสิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งออกไปให้ธนาคารสมาชิกจริง เพื่อการป้องกันของธนาคารแต่ละธนาคาร แต่ข้อมูลที่ออกมาเป็นข้อมูลที่ทางเรา คาดว่าตู้นี้อาจจะมีความเสี่ยงที่จะถูกติด เนื่องจากเวลาเราทำงานธนาคารไทยพาณิชย์ จะทำงานในด้านการป้องกันเพื่อไม่ให้การกระทำผิดเกิดขึ้นก่อน อย่างเช่นตู้เอทีเอ็ม 1 ตู้ ยกตัวอย่างในพื้นที่รัชดาภิเษก พอเราเจอปัญหาจะมีการดึงข้อมูลจากตู้เอทีเอ็มทุกตู้ที่เป็นรุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ผลิตจากบริษัทเดียวกัน ภายในพื้นที่ใกล้เคียงกันออกมาทั้งหมด แล้วเราก็มาเก็บข้อมูลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมของคนร้าย ช่วงเวลาที่เขาดำเนินการทำเครื่องสกิมเมอร์ขึ้นมา คือเครื่องก็อบปี้แถบแม่เหล็กจะโมดิฟายด์มาแบบเดียว ใช้กับตู้รุ่นนั้นรุ่นเดียว แต่ติดได้ทุกตู้ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง แล้วแต่ความสะดวกของคนร้ายได้มีเวลามีโอกาสในการทำ ดังนั้น เวลามาครั้งหนึ่ง คนร้ายจะไม่ทำแค่ตู้เดียว และก็ไม่ได้ระบุด้วยว่าทำธนาคารเดียว
“ล่าสุดที่ทีมของธนาคารไทยพาณิชย์เจอปัญหา สามารถจับคนร้ายที่เป็นชาวจีนได้ 3 คน เราได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 สามารถจับคนร้ายได้ที่ตู้เอทีเอ็มของอีกธนาคารหนึ่ง เป็นคนร้ายกลุ่มที่ได้ข้อมูลไป เป็นกลุ่มที่บอกว่า 14 ตู้เอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจริงๆ ใน 14 ตู้เอทีเอ็มที่เป็นข่าวจะมีของธนาคารอื่นด้วยที่เป็นตู้เอทีเอ็มรุ่นนี้ ยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งสามารถจับได้แล้ว” นายพงษ์สิทธิ์กล่าว “ตอนที่เราจับคือจับได้ 3 คน และหนีไปได้ 2 คน 2 คนที่หนีไปได้จะมีข้อมูลติดไปด้วย ดังนั้น ข้อมูลทั้ง 14 ตู้ ไม่ได้บอกว่าทั้ง 14 ตู้ ที่โดนทั้งหมด แต่เพื่อเป็นการป้องกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ เราทำงานในลักษณะจะเป็นประชาชนที่ดี คือแจ้งข้อมูลเพื่อให้คุณรับรู้ว่าตู้เอทีเอ็ม คุณต้องระวัง แต่ข้อมูลก็มีการเอาออกสู่สาธารณะ ซึ่งยอมรับว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่เกิดแล้วเรารู้ทัน และได้แจ้งกับเพื่อนๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพราะตรงนี้เป็นฉันทานุมัติที่ทำกันมากว่า 10 ปี”
นายพงษ์สิทธิ์เปิดเผยความเสียหายเรื่องดังกล่าวว่าเกิดขึ้นบ้างกับบางตู้เอทีเอ็มเท่านั้น โดยพบประมาณ 3-4 ตู้ที่เป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ อีก 1 ตู้ยังไม่มั่นใจด้วยว่าข้อมูลนี้ใช่หรือไม่ เพราะเป็นข้อมูลที่เวลาคนร้ายเอาไปจะไม่ใช้ทันทีทันใด บางครั้งอาจเก็บนานถึง 6 เดือนซึ่งจะไม่ทราบเลย และทุกธนาคารจะเป็นแบบนี้หมด เพราะฉะนั้นการป้องกันจะเป็นไปตามกระบวนการ ดังนั้น ข้อมูลที่เกิดขึ้นกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ถูกจำกัดที่น้อยมาก หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ทางธนาคารไทยพาณิชย์สามารถติดตามได้ทันท่วงที หน่วยงานของธนาคารไทยพาณิชย์มีเจ้าหน้าที่ทำงาน 24 ชั่วโมงใน 7 วัน มีการทำงานเป็นกะ ธนาคารไทยพาณิชย์มีการทำงานแบบเข้มงวดทั้งระบบ โดยจะมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่จะมามอนิเตอร์ตรวจสอบรายการตลอดเวลา เมื่อพบสิ่งไม่ปกติ
“สมมุติเกิดความเสียหายกับลูกค้า 1-2 ราย เราก็จะดึงข้อมูลออกมาดูยาวๆ และก็จะเปลี่ยนให้กับลูกค้า บางครั้งเราเปลี่ยนกว่า 100 รายเลย เพราะเราไม่ทราบว่าข้อมูลอยู่ในมือคนร้ายเท่าไหร่ ขณะที่ลูกค้าไม่ต้องตระหนก สามารถใช้บริการได้ตามปกติ ส่วนธนาคารจะดูแลเรื่องความปลอดภัย พร้อมเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า นายพงษ์สิทธิ์กล่าวและว่า ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น หรือถ้าลูกค้าเสียหาย เช่น ในกรณีที่มีการใช้บัตรในบัญชีลูกค้าและมีเงินที่หายไป ธนาคารจะรับผิดชอบให้ พร้อมกับจะคืนเงินให้กับลูกค้าอย่างรวดเร็วที่สุด โดยการคืนเงินนั้นสูงสุดตอนนี้จะไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 3 วัน หากตรวจสอบพบ “เราจะคืนเงินทันที เราดำเนินการอย่างนี้มาโดยตลอด โดยที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการตรวจสอบให้กับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ลูกค้าไม่ต้องกังวล เมื่อเราตรวจพบจะแจ้งไปยังลูกค้าให้มีการเปลี่ยนบัตรให้กับลูกค้าทันที ขณะที่ความเสียหายตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น หากลูกค้าจะกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มตอนนี้ไม่ต้องกังวล ไม่ว่าจะเป็นตู้ของธนาคารไหนก็ตาม”