top of page
image.png

ธปท.เข้มหนี้รายย่อย - หนี้ครัวเรือน ขึ้นสมอง! ไล่ ‘คนจน’ พึ่งเงินนอกระบบ


แบงก์ชาติออกเกณฑ์คุมบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ปรับเพดานวงเงินจาก 5 เท่า เหลือ 1.5 เท่ารายได้ กระทบทุกหย่อมหญ้า สถาบันการเงินสินเชื่อหด รายได้ลด กำไรหาย ทั้งผลักคนทำมาหากินหันไปกู้หนี้นอกระบบมากขึ้น เศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศลด เตะตัดขาการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังชัดๆ ชี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดต่อเนื่อง ยังไม่ต้องรีบออกกฎใหม่ หันไปสร้างวินัยการเงินให้ประชาชนดีกว่า

จากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลกับหนี้ภาคครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงเตรียมปรับกฎเกณฑ์การควบคุมการให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม 2560 โดยจะมีการปรับลดเพดานการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของธนาคารและธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ซึ่งเดิมสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ 5 เท่าของรายได้ผู้ขอใช้สินเชื่อ เปลี่ยนเป็นในส่วนของบัตรเครดิตกำหนดให้มีผู้รายได้ต่อเดือน 15,000-30,000 บาท ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ ส่วนผู้มีรายได้ต่อเดือน 30,000-50,000 บาท จำกัดวงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ได้รับวงเงิน 5 เท่าของรายได้เท่าเดิม ขณะที่จะไม่มีการควบคุมจำนวนการถือบัตร

ทางด้านสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) กำหนดให้มีผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดเพียง 3 แห่ง หรือผู้ขอสินเชื่อได้รับวงเงินรวมคิดเป็น 4.5 เท่าของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้ต่อเดือนที่ 30,000 บาทขึ้นไปยังได้รับวงเงิน 5 เท่าเช่นเดิม

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แหล่งข่าวผู้บริหารจากสถาบันการเงินที่ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรายหนึ่ง ให้ความเห็นกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า การปรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวของ ธปท. ไม่เพียงส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ให้บริการหรือธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากยังจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้บริโภค สภาพสังคม และภาพรวมเศรษฐกิจอีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินและ Non-Bank ได้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน สะท้อนได้จากราคาหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ปรับตัวลดลงอย่างแรงจนทำนิวโลว์ ทั้งที่มีเพียงกระแสข่าวว่าจะมีการปรับเกณฑ์ควบคุม เนื่องจากผู้ถือหุ้นมองว่ารายได้และผลกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะตกต่ำลง ซึ่ง KTC ทำธุรกิจสินเชื่อ 2 ตัวนี้เป็นหลักจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง เช่นเดียวกับสถาบันการเงินอื่นที่รายได้และกำไรจะตกต่ำลงอย่างมากจากการปล่อยสินเชื่อได้ลดลงตามเกณฑ์การควบคุมวงเงินอนุมัติที่จะออกมาใหม่

อย่างไรก็ดี แม้ในด้านหนึ่งผู้บริหารสถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้แสดงท่าทีเห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ใหม่ ซึ่งจะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนของประเทศลดลง และคุณภาพหนี้ดีขึ้น หนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินลดลง แต่ในขณะที่ยังมีการให้วงเงิน 5 เท่าของรายได้ สถาบันการเงินก็ได้ระมัดระวังเรื่องคุณภาพหนี้ด้วยตัวเองเป็นอย่างดีอยู่แล้ว มีการรณรงค์การให้สินเชื่อย่างมีความรับผิดชอบ มีการดูยอดหนี้ทั่วไปของผู้ขอไม่ให้เกิน 40% ของรายได้ ส่วนยอดการอนุมัติบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของแต่ละแห่งก็เข้มงวดอยู่ในระดับไม่เกิน 40% ของผู้ขอบัตรและสินเชื่อ และเห็นได้จากสถาบันการเงินแทบทุกแห่งต่างโชว์ตัวเลข NPL อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในส่วนของสถาบันการเงินไม่ได้เป็นห่วงในประเด็นคุณภาพหนี้ หากในการเข้าประชุมกับ ธปท.ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้ว ธปท.กลับมักชูประเด็นนี้ให้เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินเห็นด้วยกับการลดวงเงินสินเชื่อ

ส่วนทางด้านผลกระทบต่อประชาชนและสังคม การปรับลดวงเงินเท่ากับผลักให้ผู้มีความต้องการใช้สินเชื่อออกไปเป็นหนี้นอกระบบ เนื่องจากสิ่งที่ ธปท.ออกเกณฑ์ใหม่นี้มองโลกเพียงมุมเดียว คือ คนไทยก่อหนี้เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคจนเกินจำเป็น ทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยลืมมองว่าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่คนไทยก่อส่วนหนึ่งเป็นการนำไปใช้ในการประกอบอาชีพหารายได้ อย่างผู้ประกอบการ SME รายย่อยเป็นจำนวนมากที่ได้เงินกู้จากแบงก์อยู่แล้ว แต่เมื่อมีเหตุต้องใช้เงินหมุนฉุกเฉินแล้วแบงก์ปล่อยโอดีเพิ่มให้ไม่ได้ ก็ต้องหันไปใช้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยยอมเสียดอกเบี้ยสูง 28% แต่ต่อไปเมื่อสินเชื่อส่วนบุคคลถูกลดวงเงินลง เขาได้เงินไม่พอ เขาก็ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบ เสียดอกเบี้ยมากกว่าเดิม

“ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SME หรือประชาชนทั่วไป เขาเป็นหนี้ในระบบดีๆ อยู่แล้ว เขาจะชำระขั้นต่ำไปตลอด หรือจะชำระหนี้แบบฟันหลอ เดือนเว้น 2 เดือน เพื่อไม่เป็นหนี้เสีย ก็เรื่องของเขา เป็นเรื่องของแบงก์จะไปจัดการ ดันจะไปลดวงเงิน ผลักให้เขาตกหลุมหนี้นอกระบบ รัฐบาลพยามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแก้แล้วแก้อีก แบงก์ชาติกลับไม่ดูไม่คิดให้รอบคอบ จะไปสร้างปัญหาหนี้นอกระบบให้กับรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก หรือที่ปรับเกณฑ์คุมวงเงินแค่อยากให้หนี้ครัวเรือนลด ส่วนจะไปโผล่เป็นหนี้นอกระบบช่างมัน ได้ผลงาน ได้หน้าไปแล้ว เรื่องหนี้นอกระบบเป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องของหน่วยงานอื่น ไปหาทางแก้กันเอาเองหรือเปล่าก็ไม่รู้” แหล่งข่าวกล่าวและเผยต่อไปว่า

นอกจากนี้ การปรับลดวงเงินยังจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทุกฝ่ายต่างรอการลงทุนของภาครัฐ ส่วนการบริโภคภายในประเทศเติบโตน้อยมาก แม้กระทรวงการคลังออกมาตรการด้านภาษีกระตุ้นการบริโภคในประเทศแล้วหลายครั้งก็ไม่ได้ผลมากนัก การลดวงเงินสินเชื่อจะยิ่งทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลงไปอีก การที่ ธปท.เลือกที่จะออกเกณฑ์การควบคุมสินเชื่อในช่วงนี้จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกที่ถูกเวลา

“คนเรียนจบใหม่ๆ เงินเดือนแค่ 15,000 บาท ทำบัตรเครดิตได้ ขอสินเชื่อส่วนบุคคลได้ บางอาชีพเขาต้องซื้อคอมพิวเตอร์ ซื้อโน๊ตบุ๊คสเปกสูงราคาสูง หรือช่างภาพต้องซื้อกล้องอย่างดีราคาสูงเพื่อใช้ในการทำงานเลี้ยงชีพ เมื่อก่อนก็ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อได้ เพราะมีวงเงินมากพอ แล้วก็ไปผ่อนเอาตามที่แต่ละบัตรจัดรายการผ่อน 0% 6 เดือน 10 เดือน เมื่อถูกลดวงเงินทีนี้เขาจะซื้อของพวกนี้ไม่ได้แล้ว เพราะราคาของมันเกินวงเงิน ต่อให้มีบัตรหลายใบก็ซื้อไม่ได้ เพราะรูดได้ทีละบัตร จะไปกดเอาเงินสดจากบัตรหลายใบออกมาซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยทันที 20% เสียดอกเบี้ยสูงกว่าที่แต่ละบัตรจัดให้ผ่อน 0% หรือคิดดอกเบี้ยเล็กน้อยไม่ถึง 1% เป็นเวลา 6 เดือน 10 เดือน ออกกฎแบบนี้คนอยากซื้อของก็ซื้อไม่ได้ คนอยากขายของก็ขายไม่ได้ แล้วเศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศจะเดินยังไง จะโตยังไง อยากรู้จริงๆ ว่า รมว.คลังคิดยังไงกับเรื่องนี้ เพราะหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจแทบตายกลับกำลังจะโดนแบงก์ชาติเตะตัดขาซะแล้ว”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เมื่อดูไส้ในของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค แม้จะเร่งตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท ขณะเดียวกันหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยได้ปรับตัวลดลงมาติดต่อกัน 5 ไตรมาส จนในไตรมาส 1/2560 ลดลงมาอยู่ที่ 78.6 ต่อจีดีพี แนวโน้มการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของหนี้ภาคครัวเรือนจึงไม่จำเป็นที่ ธปท.จะต้องเร่งรีบออกกฎเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อรายย่อยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดีนัก หากสิ่งที่ควรเร่งทำ น่าจะเป็นการที่ ธปท. และสถาบันการเงินต้องออกไปให้ความรู้ สร้างวินัยทางการเงิน และส่งเสริมการออมให้กับภาคครัวเรือนมากกว่า

49 views
bottom of page