top of page
image.png

สะท้อนวิกฤตต้มยำกุ้ง...20 ปีพายเรือในอ่าง ค่าเงิน ‘บาท’ ผู้ร้าย


อดีตรองผู้ว่าแบงก์ชาติกับอดีตขุนคลังมองย้อนหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ส่งผลสถาบันการเงินวันนี้ระวังตัวแจกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย x-ray ลูกค้าละเอียดเกิน จนกระทบการเติบโตเศรษฐกิจ เผยโศกนาฏกรรมผ่านไป 20 ปี สถานการณ์วันนี้ตรงข้ามสิ้นเชิง มีเงินไหลเข้าเมืองไทยจนต้องหาทางระบายออก กับปวดหัวกุมขมับค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป จนกระทบเศรษฐกิจ/ธุรกิจไทยเหมือนเดิม

ดร.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 2540 ว่า ต้องมองย้อนกลับไปถึงปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยเกิดปัญหาเศรษฐกิจในปี 2540 เกิดจากการที่ไทยเราใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในอดีตได้ผูกกับดอลลาร์ 100% หลังจากนั้นจะผ่อนคลายเรื่อยๆ จนในที่สุดไปผูกกับตะกร้าเงิน แต่ว่าบังเอิญในตะกร้าเงิน ไทยเราใส่ดอลลาร์ไปจำนวนมากถึงประมาณ 80% เลยทำให้ธุรกิจต่างๆ กู้ยืมเงินจากต่างประเทศสกุลดอลลาร์ เกิดความรู้สึกเข้าใจผิดว่าการกู้เงินแล้วมีหนี้เป็นดอลลาร์มีความเสี่ยงจริง แต่ว่าไม่มาก กลายเป็นว่ากลุ่มที่มีโอกาสกู้ดอลลาร์ได้ก็จะกู้ เพราะว่าขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นสูงมากถึง 16-17% แต่หากกู้เป็นดอลลาร์ จะอยู่ที่ประมาณ 4-5% จึงทำให้มีคนแห่ไปกู้ดอลลาร์เข้ามา

“คือคิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยง แต่ปัญหาในขณะนั้นมันมารุมเร้า เนื่องจากทางแบงก์ชาติไปเปิดเสรีในการกู้ดอลลาร์ที่เราเรียกว่า BIBF พอเปิดเสรีทางการเงินขึ้นมา จากเดิมการกู้ดอลลาร์อาจจะทำยาก เพราะจะต้องไปทำสตอรี่อธิบายให้กับธนาคารในสิงคโปร์ต่างๆ มันกลายเป็นง่ายขึ้น เหมือนว่าเราคุยกับธนาคารในกรุงเทพเลย ทำให้มีการรุมกู้ดอลลาร์จนเกินกำลัง แล้วเกินความสามารถในการที่จะคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง ดังนั้น ปัญหาที่เกิดคือ พอเงินไหลเข้ามามาก ก็ไปทำให้เกิดการกระตุ้นเก็งกำไรทั่วไปหมด ธุรกิจที่ทำกิจการที่เรียกว่าเก่าแก่เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็กลายเป็นแถม คือแถมซื้อที่ดินว่างเอาไว้เพื่อเก็งกำไร บางคนไปทำธุรกิจ

อสังหาริมทรัพย์ มีการกระจายไปทำธุรกิจที่ตัวเองไม่ชำนาญอย่างแท้จริง และลักษณะในการกู้ สัดส่วนการกู้เมื่อเทียบกับทุน ถือว่ามีสัดส่วนสูงมาก ทำให้เงินมีจุดอ่อนในระบบสถาบันการเงิน สุดท้ายกลายเป็นลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล คือไม่สามารถชำระหนี้คืนได้”

ดร.ธีระชัยเปิดเผยสถานการณ์ในตอนนั้นยังมีปัญหาที่รุมเร้าเข้ามาอีกทางหนึ่ง จากนักเก็งกำไรในต่างประเทศ พอจะมองออกว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาอยู่ไม่ได้ พอถึงจุดหนึ่งต้องเปลี่ยน เลยเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท ทางแบงก์ชาติเองก็รู้ว่าต้องหาวิธีที่จะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากที่ผูกกับตะกร้าให้เป็นลอยตัว แต่ว่าจะมีปัญหาในแง่ของจังหวะเวลา เพราะถ้าทำเร็วเกินไปโดยยังไม่ได้แก้ปัญหาในกลุ่มบริษัทเงินทุนตอนนั้นลุกลาม และจะทำให้บริษัทล้มระเนน

“เข้าใจว่าทางแบงก์ชาติ มีความพยายามแก้ไข แต่เนื่องจากว่าปัญหามันเกิด 2 มือ คือทั้งซ้ายและขวา เลยบีบบังคับให้ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนได้โดยเร็ว ก็รอแก้ปัญหาในเรื่องของบริษัทเงินทุนอยู่ ตอนนั้นมีนโยบายรวมบริษัทเงินทุนที่แข็งแรง 4-5 บริษัทขึ้นมาเป็นแกนนำ และพยายามเอาบริษัทเงินทุนต่างๆเข้ามาควบรวมแล้วค่อยๆปรับเป็นธนาคาร ปรากฏว่าการเจรจาไม่คืบเลยเพราะว่าพวกผู้ถือหุ้นบริษัทต่างๆ ยังไม่ตระหนักว่ามีปัญหาใหญ่ และการเจรจาก็ต้องการให้มีราคาสูงจึงควบรวมไม่ได้ ตอนนั้นส่วนตัวผมบอกว่าจะต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ และให้อำนาจแก่ทางการบังคับให้มีการควบรวม จึงมีการยกร่างกฎหมายตรงนี้ และพอไปเสนอคณะรัฐมนตรีก็ให้การสนับสนุน แต่บังเอิญไปเพิ่มเติมเงื่อนไขคือขอให้ไปผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย กลายเป็นกฎหมายที่มีแต่เหงือก ไม่มีฟัน เลยใช้ไม่ได้ หลังจากนั้นเหตุการณ์สุกงอมถึงขั้นที่จำเป็นจะต้องปล่อยมือ และเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จากนั้นเงินบาทก็อ่อนลงไปจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ลงไปเป็น 50-55 บาท หนี้ที่เป็นดอลลาร์ของกิจการต่างๆจาก 100 บาท เป็น 200 บาททันที ทุกคนเลยมีปัญหาใหญ่โต และเกิดในแง่ของสภาพคล่องที่ขาดไปทั้งระบบ” ดร.ธีระชัยกล่าวและว่าเรื่องนี้ไม่ได้ลุกลามแค่ไทย แต่ยังลุกลามไปที่อินโดนีเซียและต่อไปที่เกาหลี หลังจากนั้นไปกระทบแถวประเทศลาตินอเมริกาต่อ

“ประเทศไทยได้บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ในการปรับตัวเองหลายด้าน แบงก์ชาตินอกจากการปรับองค์กรภายในแล้ว ยังมีการเปลี่ยนระบบนโยบายการเงินไปเป็นที่เรียกว่าตั้งเป้าเงินเฟ้อ ในเรื่องการกำกับดูแลสถาบันการเงินก็ใช้มาตรฐานสากลที่เข้มแข็งมากขึ้น เพราะฉะนั้นในแง่ของบริษัทธุรกิจจะมีการควบคุมความเสี่ยงอย่างรัดกุมมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงในแง่ของวงเงินกู้อย่าให้เกินสัดส่วนของทุนมากเกินไป ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงถ้าเกิดมีหนี้ที่จะเป็นดอลลาร์หรือไม่ใช่เงินบาท จะต้องมีการคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะนี้คิดว่าองค์กรในไทยได้เรียนรู้และก็ปรับตัวให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เราต้องยอมรับว่าในแง่ของระบบสถาบันการเงิน เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาลุกลามได้อย่างรวดเร็วเพราะฉะนั้นในขณะนี้มีสิ่งที่ต้องคอยจับตาอยู่นั่นก็คือในเรื่องของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เท่าที่ดูจะมีการบูมก่อนหน้านี้ เราก็ต้องระวังไม่ให้เกิดโอเวอร์ซัปพลายที่จะทำให้เกิดปัญหากับระบบ ส่วนอีกประการหนึ่ง คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ตรงนี้ต้องมีการบริหารจัดการแบบระมัดระวัง แต่ว่าโดยรวมในแง่ของความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ยังถือว่าดีมาก”

บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 นั้น ดร.ธีระชัยเปิดเผยว่าทำให้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังมาก ล่าสุดจากที่พิจารณาตัวเลขจากทางเครดิตบูโร ปรากฏว่าจำนวนครั้งที่ธนาคารมาดูเพื่อจะทบทวนเครดิตของลูกหนี้พุ่งขึ้นมาอย่างมากมายหลายเท่า แสดงให้เห็นว่าตอนนี้ธนาคารมีความเกร็งอยู่ ลักษณะอย่างนี้ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้มีการคลายตัวในส่วนนี้ซึ่งยังนึกไม่ออกว่าควรจะทำอย่างไร เพราะถ้าหากธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยเกินไป

“การโจมตีค่าเงินบาทแบบวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 มีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้สถานการณ์กลับกัน กลายเป็นว่าต่างชาติเขาเกรงว่าเงินบาทจะแข็งค่า เลยเอาเงินเข้ามามากขึ้น เดิมเอาเงินออก คือขายบาท แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เขาอยากจะซื้อบาทเลยกลับทางกัน และทำให้เงินบาทแข็งค่า และแข็งเกินไป จนทำให้ผู้ส่งออกบอกว่าแข่งขันลำบาก ทำให้แบงก์ชาติต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วแต่ก็จะมีปัญหาทันทีว่าการที่แบงก์ชาติแทรกแซงอย่างนั้น แบงก์ชาติต้องเข้าไปซื้อดอลลาร์ พอซื้อดอลลาร์ ทุนสำรองก็เพิ่ม ตอนนี้เราไม่ได้มีปัญหาทุนสำรองลด แต่ทุนสำรองเพิ่ม เลยมีปัญหาว่า เราจะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนอย่างไรถึงจะปลอดภัย พอลงทุนแบบปลอดภัยในต่างประเทศ ทุนดอลลาร์มันก็ดอกเบี้ยต่ำนิดเดียว แต่ว่าในขณะเดียวกันเวลาแบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์เข้ามา แบงก์ชาติจะต้องออกพันธบัตรเป็นเงินบาท เพื่อที่จะดูดเงินกลับ รัฐบาลก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินบาท ในขณะนี้ดอกเบี้ยเงินบาทมันสูงกว่าดอลลาร์ ทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาในการบริหารจัดการแบงก์ชาติอยู่ระดับหนึ่ง”

ปัจจุบันแบงก์ชาติขาดทุน 8-9 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้แบงก์ชาติตายก่อนหรือไม่นั้น ดร.ธีระชัยเชื่อว่าไม่เพราะว่าการขาดทุน ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการขาดทุนจากการตีราคาอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลง ตรงนี้จึงไม่น่ากังวล แต่ขณะนี้จะกังวลเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าเกินไป สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่านั้น จะมีปัญหาคือไทยไม่อยากได้เงินต่างประเทศ แต่เงินไหลเข้ามา ส่วนหนึ่งเราต้องหาทางที่จะเปิดให้เงินไหลออกไปมากกว่านี้ “หรือในอีกทางหนึ่งในบางประเทศใช้วิธีตั้งกำแพงเพื่อให้เอาเงินเข้ามายากขึ้น คือผลตอบแทนที่เขาเข้ามา แทนที่จะได้เยอะ ก็ลดลงหน่อย ตรงนี้อยู่ที่ทางแบงก์ชาติและกระทรวงคลังจะปรึกษาหารือกันว่า จะใช้วิธีอย่างไร”

46 views
bottom of page