
แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย ห่วงสินเชื่อรายย่อยปีนี้พลาดเป้าโต 10% หลังครึ่งปีแรกโตดีแค่สินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกันโตน้อย แถมแบงก์ชาติเตรียมออกเกณฑ์กดวงเงินสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต จาก 5 เท่าเหลือแค่ 1.5 เท่าของรายได้ เล็งปรับแผนธุรกิจหารายได้เสริม ล่าสุด ออกโปรดักต์ใหม่ให้กลุ่มลูกค้าเวลธ์ พร้อมปลุกแนวคิดทำชีวิตประสบความสำเร็จด้วยแนวทางของตัวเอง
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 สินเชื่อรายย่อยของธนาคารขยายตัวได้ 5-6% จากเป้าหมายขยายตัวทั้งปี 10% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ช้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เนื่องจากลูกค้ายังไม่มีความมั่นใจในการบริโภค อย่างไรก็ดี ในส่วนของสินเชื่อบ้านมีการขยายตัวดี ซึ่งครึ่งปีแรกขยายตัวได้แล้ว 6% และมั่นใจว่าสินเชื่อบ้านทั้งปีจะขยายตัวได้ 10% ตามเป้าหมาย ขณะที่ยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าทำให้ภาพรวมสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำ ทำให้สินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี มีการขยายตัวน้อย
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ไม่รวมสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ประมาณ 78,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 67,780 ล้านบาท สินเชื่อเติบโตประมาณ 4,1922 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต) อยู่ที่ราว 12,360 ล้านบาท ขยายตัว 979 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ดำเนินการโดยบริษัทในเครือมีพอร์ตสินเชื่อรวมกันประมาณ 23,000 ล้านบาท สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายย่อย ปัจจุบันอยู่ที่ 3.5% ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายควบคุมให้ในปีนี้อยู่ในระดับไม่เกิน 3.5-3.6%
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับกฎเกณฑ์ควบคุมการให้สินเชื่อของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เพื่อลดระดับหนี้ภาคครัวเรือนและการก่อหนี้เกินตัวของประชาชน ซึ่งมีกระแสข่าวว่า ทางด้านบัตรเครดิตจะมีการปรับระดับการให้วงเงินจากเดิมที่เคยให้วงเงิน 5 เท่าของรายได้ทั้งหมด เป็นผู้มีรายได้ต่อเดือน 15,000-30,000 บาท ให้วงเงินได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ ผู้มีรายได้ 30,000-50,000 บาท ปรับเป็นได้วงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และผู้มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป ยังคงให้วงเงินได้สูงสุด 5 เท่าของรายได้เช่นเดิม และให้สถาบันการเงินออกบัตรได้ไม่เกิน 3 ใบ ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อบุคคล ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ พร้อมกำหนดให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 3 แห่ง ส่วนผู้มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไปยังได้รับอนุมัติสินเชื่อ 5 เท่าของรายได้
นายอดิศร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ธนาคารยินดี พร้อมปฏิบัติตาม และเห็นด้วยกับแนวทางของ ธปท. ที่จะควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคมีภาระหนี้เกินตัวที่จะกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา ซึ่งปัจจุบันธนาคารก็ให้ความสำคัญในส่วนนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี นอกจากการควบคุมปริมาณหนี้ ธปท.ควรมีการให้ความรู้ในการวางแผนการเงินกับประชาชน เพื่อให้มีการวางแผนการใช้จ่ายในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ ยอมรับว่าธนาคารคงได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ใหม่บ้าง ทำให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในปีนี้อาจเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งคงต้องมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ชดเชยส่วนที่หายไป แต่ผลกระทบกับธนาคารอาจไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารเลือกลูกค้าที่มีระดับรายได้ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และปัจจุบันลูกค้าประมาณ 70% เป็นกลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปอยู่แล้ว
ด้าน นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารได้รุกกลุ่มลูกค้าธุรกิจ Wealth มากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ในการลงทุน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้เล่นรายอื่นๆ ยังไม่มี หรือยังไม่ได้เข้ามาบุกตลาดอย่างจริงจัง เช่น การให้บริการ รับซื้อ-เสนอขายพันธบัตรและหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด (secondary bond) โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ความต้องการลงทุนและผลิตภัณฑ์ที่มีในตลาดให้ลูกค้า อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า พันธบัตรและหุ้นกู้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ก่อนครบกำหนด ธนาคารจึงจะกระตุ้นและเชิญชวนนักลงทุนให้ทราบว่า ตราสารหนี้ซื้อ-ขายเปลี่ยนมือได้ เลือกลงทุนสั้น-ยาว มีความหลากหลายตรงตามความต้องการ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มที่ต้องการรับรายได้คงที่สม่ำเสมอ และผลตอบแทนสูง
“ลูกค้าพันธบัตรและหุ้นกู้ส่วนใหญ่ 99.99% กัดฟันถือจนครบอายุ เพราะไม่รู้ว่าซื้อตราสารหนี้ไปแล้ว นำมาขายเปลี่ยนมือได้ ไม่ต้องรอให้ครบกำหนด ยกตัวอย่าง ลูกค้ามีเงินเก็บ ต้องการลงทุนสั้น 1 ปี แต่ในตลาดไม่มี พันธบัตรหรือหุ้นกู้อายุ 1 ปีเสนอขายเลย ลูกค้าสามารถซื้อ พันธบัตรหรือหุ้นกู้อายุ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วถือไว้ 1 ปีตามที่ต้องการ หลังจากนั้นค่อยนำมาขายก่อนครบกำหนดได้ เท่ากับว่าคุณเลือกเวลาลงทุนเองได้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากหรือ พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่เสนอขาย IPO ในช่วงนั้น แต่ตลาดส่วนนี้ยังไม่มีใครรุกขึ้นมาทำจริงจัง ธนาคารจึงเข้ามาจับตรงนี้” นางสาวดุษณี กล่าวและว่า
ธนาคารรับซื้อ-ขาย พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ ที่มีระดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป หรืออยู่ใน Investment Grade ลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารทั่วประเทศ สำหรับลูกค้ากลุ่มที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก นอกจากการไปลงทุนในหุ้นโดยตรง ธนาคารยังเสนอทางเลือกใหม่ คือ ‘หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง Maxi EQ’ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิงกับราคาหลักทรัพย์ ใน SET50 โดยจะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เงินลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท และทวีคูณครั้งละ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงตัวแรกที่อ้างอิงกับราคาหุ้น ก่อนหน้านี้ ธนาคารเสนอขายหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิงกับ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และสินค้าโภคภัณฑ์มาแล้ว
ขณะที่ นายอดิศร กล่าวว่า ธนาคารมีแคมเปญ ‘Be The Victor’ เป็นการเข้าถึงลูกค้าด้วยทัศนคติ หรือ Mind Set ที่ธนาคารต้องการวางลงไปคู่กับแนวทางการทำงานของธนาคารหลังจากนี้ โดยในด้านหนึ่ง ธนาคารเป็นตัวกลางทางการเงิน ให้คำปรึกษา ให้บริการวางแผนการเงิน และเป็นแหล่งทุน ในอีกด้านหนึ่ง ธนาคารต้องการเป็นกลไกจุดประกายความคิดให้คนทั่วไป โดยเฉพาะลูกค้าที่เข้ามาสัมผัสธนาคาร ปลุกคนให้คิด และค้นหาว่าสิ่งที่อยากทำจริงๆ คืออะไร เพื่อกำหนดแผนชีวิตที่จะสุดท้ายจะนำมาซึ่งการแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ VICTOR แปลว่า ผู้ชนะ แต่การเป็นผู้ชนะ ไม่จำเป็นต้องวัดที่ความร่ำรวย หรือตำแหน่งการงาน คนแบบ Victor คือ คนที่มีมุมมองและทัศนคติในการสร้างความสำเร็จด้วยรูปแบบของตัวเอง และความสำเร็จไม่ใช่การทะยานสู่จุดสูงสุดเท่านั้น ยังหมายถึงการพาชีวิตก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย ค้นหาตัวตนแล้วทำให้โดดเด่นในมุมที่คุณเป็น กล้าฝัน ลงมือทำ แม้จะเป็นฝันที่ใหญ่ หากทำวันละนิด ยืนหยัดจนถึงเป้าหมาย เท่านี้คุณก็เป็นผู้ชนะเป็น Victor ของซีไอเอ็มบี ไทย
ช่วงเริ่มต้นธนาคารจะรุกแคมเปญ Be The Victor กับลูกค้ากลุ่ม CIMB Preferred ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่ม Wealth ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคารก่อน โดยเชิญชวนลูกค้ามาวางแผนการเงินโดยคิดลึกไปถึงการวางแผนชีวิต หลังจากนั้น จะเริ่มขยายไปหาลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อย ขอเพียงกล้าและลงมือทำ ก็เป็น Victor ได้
“เราจะสร้างชุมชนที่รวบรวมคนแบบ Victor เข้าไว้ด้วยกัน เริ่มจากบุคคลต้นแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประสบความสำเร็จโดยไม่ย่ำอยู่บนรอยเท้าใคร แบ่งปันแนวคิด การไม่ยึดติดกับกรอบ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกค้าและคนทั่วไป ถามว่าธนาคารได้อะไรจากแคมเปญนี้ และจะวัดผลสำเร็จอย่างไร วันนี้เราทำธุรกิจ ไม่ได้มุ่งเน้นแต่กำไร เราอยากให้ลูกค้าที่มาใช้บริการอยู่ในจุดที่มีความสุขกับชีวิตมากที่สุด และเราเชื่อว่าคนที่มีความสุขกับชีวิตมากที่สุดคือคนที่กล้าเดินตามฝัน แม้ยังไม่ถึงจุดหมาย แต่ขอให้มีความสุขกับทุกก้าว หากธนาคารทำให้ลูกค้ามีความสุขได้ ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการกับเรามากขึ้น ไว้วางใจให้ธนาคารเป็นผู้วางแผนการเงิน สุดท้ายจะสะท้อนกลับมาเป็นกำไร เป็นกำไรบนความสุข และชัยชนะของลูกค้า นี่คือจุดวัดความสำเร็จ” นายอดิศร กล่าว