หนี้ครัวเรือนลด 5 ไตรมาสติด คาดสิ้นปีอยู่ที่ 78.5% ต่อจีดีพี
- Dokbia Online
- Jul 6, 2017
- 1 min read

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในไตรมาส 1/60 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 อยู่ที่ 78.6% ต่อจีดีพี คาดทั้งปีอยู่ที่ 78.5% ต่อจีดีพี เหตุหดตัวทั้งสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อบ้าน ขณะที่ข้อมูลย้อนหลังถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง พบอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนลดลง แต่สัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ห่วงคนไทยหนี้สูงขึ้นหากออมลดลง รัฐ-เอกชนควรสร้างวินัยการออมให้คนรายได้น้อยเพื่อเป็นกันชนทางการเงินของครัวเรือนไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1/2560 และคาดการณ์สำหรับในช่วงต่อไปว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 11.48 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 3.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกันตามความคาดหมาย มาที่ระดับ 78.6% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับ 79.8% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2559
ทั้งนี้ การเติบโตที่ชะลอลงของหนี้ครัวเรือน และสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ปรับลดลงในไตรมาส 1/2560 สามารถอธิบายได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น 1.การหดตัวของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งสิ้นเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจในช่วงไตรมาส 1/2560 ตามการชำระคืนของครัวเรือนในช่วงต้นปี 2.การชะลอลงของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หลังอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยถูกจำกัดด้วยราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และนโยบายเครดิตที่คงความระมัดระวังต่อเนื่องของสถาบันการเงินเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย และ 3.อานิสงส์จากผลของฐานจีดีพี (ณ ราคาปัจจุบัน) ที่ขยายตัวสูงกว่าหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มในปี 2560 แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงมุมมองว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสขยับลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และได้มีการปรับลดกรอบคาดการณ์ลงมาที่ 78.0 – 79.0% ต่อจีดีพี โดยมีค่ากลางที่ 78.5% ต่อจีดีพี (บนสมมติฐานจีดีพีขยายตัว 3.3%) เนื่องจากมูลค่าจีดีพี ณ ราคาปัจจุบันขยายตัวสูงกว่าคาดไว้เดิม ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนถูกเหนี่ยวรั้งด้วยการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงในหนี้ครัวเรือน โดยสถาบันการเงินกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือน ขณะที่ Non-Bank จะกลับมามีบทบาทมากขึ้นตามการฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
สำหรับวาระของการครบรอบ 20 ปี วิกฤตการณ์การเงินไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินการเปลี่ยนแปลงของหนี้ครัวเรือนตลอดช่วง 2 ทศวรรษในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพื่อสะท้อนมุมมองของเสถียรภาพของฝั่งครัวเรือนในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
หนี้ครัวเรือนไทยระหว่างปี 2540 – 2559 เติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ 8.3% (CAGR) ชะลอลงจาก 12.2% ในช่วงปี 2537 – 2539 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากราว 49.2% ต่อจีดีพีในปี 2540 สู่ระดับ 78.6% ต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว เป็นผลจากการขยับขึ้นของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี จุดเฝ้าระวังคงอยู่ที่การเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เพราะสัดส่วนการกู้เพื่ออุปโภคและบริโภค ตลอดจนกู้เพื่อประกอบธุรกิจเกษตรอยู่สูงกว่า 70% ของหนี้ครัวเรือน นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยขยับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่กระจายอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไปเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบการเงินและมีอำนาจในการซื้อสินค้าคงทนสูง
สถานการณ์การออมของครัวเรือนไทย แม้จะมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงหลังวิกฤต (2543 – 2554) แต่ก็เริ่มชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จากระดับ 25.1% ต่อรายได้เฉลี่ยรายเดือนในปี 2554 สู่ระดับ 21.4% ในปี 2558 ซึ่งอาจเนื่องจากหนี้ครัวเรือนในช่วงดังกล่าวเริ่มขยายตัวเร็วขึ้น ทั้งจากการกู้เพื่อซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 และการขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าคงทนอย่างบ้านและรถยนต์ ตามนโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกของภาครัฐ อย่างไรก็ดี สัดส่วนการออมของครัวเรือนไทยดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ ที่สัดส่วนการออมภาคครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อรายได้ครัวเรือน
ประเด็นสังเกตเกี่ยวกับภาวะการออมของครัวเรือนไทย คงอยู่ที่การออมส่วนใหญ่มาจากกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทโดยเฉลี่ย มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ดังนั้น ทางการและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรสานต่อมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนการออมและการสร้างวินัยทางการเงินของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ เพื่อเป็นกันชนทางการเงินของครัวเรือนไทย รวมถึงบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในอีกไม่เกิน 10 ปีต่อจากนี้

Comentarios