top of page

ส่องประกันครึ่งปีหลัง...เศรษฐกิจยังซึม


ผ่านครึ่งปีแรกแล้ว เศรษฐกิจไทยยังไม่ไปไหนไกล วัดจากกำลังซื้อและหนี้ครัวเรือนระดับสูง ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยไทย ล้วนบ่นระงมเป็นบทสรุปเสียงเดียวกันว่า “ไม่ดี” แม้ไม่ถึงกับ “แย่” จนเกินไปก็ตาม

แหล่งข่าวในฝ่ายการตลาดของบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าวว่าเบี้ยรับปีแรกช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2560) ที่สมาคมประกันชีวิตไทยเปิดข้อมูลมาว่าติดลบ 10% ถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตาว่าจะส่งผลต่อช่วงที่เหลือของปีนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะสะท้อนกำลังซื้อภาพรวมที่ชะลอตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปีที่กำลังซื้อหดตัวติดลบเห็นชัดตามภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ปีนี้ยังคงโตเป็นเลขหลักเดียวอย่างแน่นอน

เมื่อถึงเข้าสู่ไตรมาส 3 ถือเป็นปกติของธุรกิจประกันชีวิตของทุกปีที่จะอยู่ในภาวะซึมตัว กิจกรรมการขายและการตลาดต่างๆจะไม่ค่อยสดใสนัก จากผลของภาวะฤดูกาล หลายบริษัทต้องทบทวนแผนการตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายโดยรวมทั้งเบี้ยใหม่-เก่า ที่ไม่ค่อยลื่นไหลนัก ซึ่งจากสถิติของธุรกิจประกันชีวิต จะพบว่าไตรมาส 2-3 จะเป็นช่วงที่แย่สุดในแต่ละปี

จากนั้น จะค่อยกระเตื้องขึ้นในไตรมาส 4 ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมก่อนหน้านั้นว่าเลวร้ายมากน้อยแค่ไหน เพราะหลายแห่งจะเริ่มเร่งแคมเปญใหม่ๆ ราวๆเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาในช่วงท้ายปีที่ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นยอดฮิต ซึ่งถ้าปีไหนยอดขายและกระแสการตลาดค่อนข้างดี ก็จะมีผลต่อเนื่องไปถึงทิศทางของไตรมาส 1 ในปีถัดไปอีกด้วย เหล่านี้ ถือเป็นวงจรปกติของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น เป็นหน้าเดียวกันทั้งระบบ เพราะแข่งขันรุนแรง จนแทบไม่เหลือกำไรจากการรับประกันภัย บริษัทประกันภัยรายใหญ่ในกลุ่มท็อป 10-15 แห่ง ยังคงแผ่รัศมีในตลาดภาพรวมอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกลไกตลาดปกติแทบจะทำงานไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งวงการธุรกิจฟันธงว่าปีนี้เต็มที่จะมีอัตราการเติบโตไม่เกิน 5% ตราบเท่าที่ยังหน้าดำคร่ำเคร่งแข่งกันแบบเอาเป็นเอาตายกันอย่างหนักอยู่แบบนี้

นายเรืองศักดิ์ ปัญญาบดีกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายการตลาด บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “บีแอลเอ ทุพพลภาพ โพรเทค” ตอบโจทย์ความต้องการด้านวางแผนการเงินของประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่ม SME และ Startup ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงหัวหน้าครอบครัว หรือผู้ที่ยังมีภาระหนี้สิน ช่วยสร้างหลักประกันเพื่อบริหารและคุ้มครองความเสี่ยงให้หมดกังวลเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คุ้มครองผู้เอาประกันภัยกรณีตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ หรือจากการสูญเสียอวัยวะตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติสถานการณ์ด้านผู้พิการในประเทศไทยในปี 2559 พบว่าจำนวนผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ มีจำนวน 1,725,601 คน โดยประเภทของผู้พิการมากสุดคือ พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 836,224 คน 48.84%รองมาเป็นการได้ยินหรือสื่อความหมาย 313,442 คน หรือ 18.31%และสูญเสียการมองเห็น 182,229 คน หรือ10.64%

121 views
bottom of page