top of page
379208.jpg

ระวัง! 3 ปัจจัยเสี่ยง...เฟดลดการลงทุน/ ดอกเบี้ยขึ้น/ ราคาน้ำมันผันผวน


จับตา 3 ตัวแปรสำคัญเศรษฐกิจ-การเงินโลก หนึ่ง. เฟดลดการลงทุนด้านเงินฝากและบอนด์ในตปท. สอง. อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับสู่โหมดขาขึ้น สาม. ราคาน้ำมันผันผวน สร้างปัจจัยเสี่ยงทั้งขึ้นและลง

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการประชุมของธนาคารกลางหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาว่า ทางเฟดค่อนข้างมีความชัดเจนในเรื่องแผนการที่จะลดงบดุลของเฟดซึ่งเป็นเม็ดเงินที่นำไปซื้อพวกสินทรัพย์ต่างๆ ว่าจะลดเหลือไตรมาสละเท่าไหร่หรือจะเพิ่มขึ้นอย่างไร ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังมีทรรศนะที่แตกต่างกันของ 2 ฝ่าย โดยตลาดเงินมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีต่อๆ ไปคงมีไม่มากเนื่องจากปัญหาด้านเงินเฟ้อไม่รุนแรงมากนัก แต่ในส่วนของเฟดยังมองว่ายังสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ค่อนข้างมากในปีต่อๆ ไป

“ส่วน ECB ออกมาชัดเจนว่ายังดำเนินการด้านดอกเบี้ยต่อไป มาตรการเรื่อง QE ยังคงต้องทำไป คงไม่เป็นไปตามที่ตลาด เงินคาดว่าปลายปีคงจะมีจำกัดแล้ว แต่ถ้าสหรัฐฯมีการปรับนโยบายมากก็อาจจะส่งผลต่อ ECB เหมือนกัน ส่วนญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มนโยบายออกมาเหมือน ECB ว่าจะยังดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญที่สุดคือประเทศจีน ขณะนี้พยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เพื่อทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจด้านการก่อหนี้ให้อยู่ในร่องในรอย แต่อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวก็ยังคงปล่อยอยู่ ขณะที่อังกฤษยังมีเรื่อง Brexit ที่ยังทำให้อ่อนแออยู่ การเจรจาต่อรองไม่มีอำนาจมากเพราะยังมีความแตกแยกค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นจะมีความอ่อนแอ และนโยบายทางการเมืองคงที่ ค่าเงินปอนด์ก็จะตกไปซักระยะหนึ่ง”

ส่วนเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยของตลาดการเงินโลกนั้น ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่า มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่ไม่ปรับสูงมากนัก

“ในปีหน้าและปีต่อไปยังไม่ชัดมากนักว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยได้มากน้อยแค่ไหน ภาพที่มองคือ ครึ่งปีหลังเกิด Inflation และยอดค้าปลีกไม่ค่อยเข้าเป้ามากนัก เพราะฉะนั้นโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือก็จะสูง แต่ถ้าเกิดว่า Inflation อ่อนตัวต่อเนื่องก็จะลำบากเหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ระยะสั้นของสหรัฐคาดว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้มากถ้านโยบายการคลังของสหรัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่เคยหาเสียงไว้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ในปีหน้า เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯในระยะสั้นจะอ่อนกำลังลงเหมือนที่เคยมองไว้เมื่อต้นปี แต่ในปีหน้าและในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นซึ่งจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ย โดยในช่วงครึ่งปีหลังเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง”

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่ปรับขึ้นมาแล้วและอาจจะปรับขึ้นมาอีก ทำให้มีความใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่า จะมีผลในเรื่องของช่องห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯมีน้อยลง ทำให้การลงทุนซื้อพันธบัตรไทยในระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มน้อยลง แต่ไทยน้อยลง โดยไทยยังมีบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกค่อนข้างสูง จึงช่วยประคองค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนลงในช่วงสั้น

“แต่ผลตรงนี้ก็ยังไม่ชัดมากในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังไม่ฟื้นตัวมาก ถ้าเกิดสหรัฐฯฟื้นตัวและอัตราดอกเบี้ยขึ้นก็อาจมีผลบ้าง ซึ่งยังต้องคิดเผื่อไว้ว่าอาจจะขึ้นเพียง 1 ครั้ง ส่วนไทยเข้าใจว่าคงไม่อยากลดดอกเบี้ย เพราะกรรมการของแบงก์ชาติค่อนข้างไม่อยากให้ดอกเบี้ยไทยต่ำ ส่วนหนึ่งห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือน ดังนั้น โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยก็มีเหมือนกันในปีหน้า ส่วนในปีนี้น่าจะยาก น่าจะยังคงต่อไปไว้แบบนี้ ในปีหน้าคิดว่าน่าจะขึ้นอีก 0.25% เพื่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท ของไทยยังไม่อยากให้ค่าเงินต่ำ อยากจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ในปีนี้คงจะเห็น 1.50% แบบนี้ไปก่อน”

นอกจากนี้ ศ.ดร.ตีรณยังกล่าวถึงกรณีที่เฟดจะลดงบดุลว่า ไทยคงไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเฟดจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะเน้นลดการลงทุนการซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่า เพราะขณะนี้ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวยังนิ่งและต่ำ ยังไม่เข้าสู่โหมดความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

“การมองดอกเบี้ยน่าจะมองถึงเศรษฐกิจโลกว่าจะฟื้นตัวมากขนาดไหน คิดว่าเศรษฐกิจโลกใน 2 ปีข้างหน้ายังไม่ฟื้นตัวแรง สหรัฐอาจจะฟื้นตัวดีหน่อยและอาจจะฟื้นตัวมากกว่าปีนี้ คาดการณ์อยู่ประมาณกว่า 2% ไม่ถึง 3% โดยทิศทางอาจจะมีผลต่อ Fund Flow ประเทศที่กำลังพัฒนาในช่วงปีหน้า คาดว่า Fund Flow น่าจะมีความผันผวนมาก...

และอีกหนึ่งตัวแปรที่ต้องจับตามองให้ดีคือราคาน้ำมัน เพราะขณะนี้การคาดคะเนเป็น 2 ทิศทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยทิศทางแรกมองว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับขึ้นไปถึง 60 เหรียญต่อบาร์เรล และอาจจะปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้และปี 2561 ส่วนอีกฝ่ายมองว่าราคาน้ำมันจะต่ำลงไปถึง 30-40 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนตัวยังมองว่าสหรัฐฯพร้อมที่จะผลิตน้ำมันออกมาจำนวนมาก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะมีผลต่อภาคการผลิตน้ำมันระยะยาว แต่ถ้าราคาไม่เปลี่ยนแปลงมาก ผลต่อเศรษฐกิจก็คงจะมีไม่มาก...

หากราคาวิ่งต่ำไปจากที่คาดคะเนไว้ 50-60 เหรียญ มาเป็นราคา 30-40 เหรียญ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งพวกนี้เศรษฐกิจก็จะอ่อนแอลงและจะไปกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจโลกก็จะชะลอตัวมากในปีต่อไป ราคาน้ำมันตรงนี้ต้องจับตามองเพราะมีความคาดคะเนยากมาก ในสหรัฐฯตอนนี้บางรายบอกว่าถ้าราคาน้ำมันลงมากก็พร้อมขายหมดเพื่อความอยู่รอด ถ้าวิ่งไปประมาณกว่า 50 เหรียญก็จะไม่มีอะไรมาก ก็เป็นไปตามเสถียรภาพ แต่ถ้าวิ่งไปที่ 30-40 เหรียญแล้วหยุดอยู่ตรงนี้นานๆ ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก”

26 views
bottom of page