
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงผลการเลือกตั้งของประเทศอังกฤษล่าสุดนี้ว่า พรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนที่นั่งลดลงในสภา เป็นเรื่องที่นางเทเรซา เมย์ ต้องรับผิดชอบ อย่าลืมว่าตอนที่นางเทเรซา เมย์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเพราะนายเดวิด คาเมรอน ลาออก แสดงความรับผิดชอบต่อผลประชามติลงเอยด้วย Brexit เธอจึงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อีกการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายต้องการเสียงจากประชาชนให้มีคะแนนท่วมท้นในการที่จะไปเจรจาเรื่อง Brexit ออกจากสหภาพยุโรป
“ผลโพลล์ออกมาแบบพลิกโผ เหมือนคะแนนจะนำมาตลอด แต่พอเอาเข้าจริงกลายเป็นเสียไป 13 ที่นั่ง แทนที่จะมีเสียง 331 เสียง โดยเสียงในสภาทั้งหมดมี 650 เสียง จึงต้องมีเสียงมากเกินครึ่ง แต่กลับได้มา 318 เสียง ต้องมีคะแนนเสียง 326 เสียงถึงจะมีคะแนนเสียงเกินครึ่ง ทีนี้พอไม่มีเสียงค่อนข้างมาก ก็ต้องไปพึ่งพรรคอื่นๆ ซึ่งพรรคใหญ่ที่เป็นพรรคคู่ต่อสู้ คือ พรรคแรงงาน มีนายเจเรมี คอร์บิน เป็นหัวหน้าพรรค ที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะมาแรงขนาดนี้ แต่ก็ได้ที่นั่งเพิ่มมาถึง 30 ที่นั่ง จากเดิมที่ได้ 232 ที่นั่ง เลือกตั้งครั้งนี้ได้เพิ่มเป็น 262 ที่นั่ง โดยส่วนตัวนายเจเรมี คอร์บิน ดูเหมือนเป็นนักสังคมนิยมและยังเอียงซ้ายมาก และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จึงคิดว่าไม่น่าได้คะแนนมากขนาดนี้ ขณะเดียวกันในพรรคก็เอียงซ้ายมาก แต่พอเข้าโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่มีทั้งยุทธวิธี การเดินหมากเข้มข้นแบบวันต่อวันว่าใครจะพลาดก่อนกัน แต่คิดว่านางเทเรซา เมย์ พลาดตรงที่ไม่ยอมออกไปโต้วาทีกับนายเจเรมี คอร์บิน โดยได้ส่งรองหัวหน้าพรรคไปแทน ในยุคสมัยนี้ไม่เหมือนยุคสมัยก่อนที่ยุคสื่อสังคมออนไลน์เชี่ยวชาญมาก” ดร.ฐิตินันท์กล่าว
“หลังเลือกตั้ง พอนางเทเรซา เมย์ ไม่ออกไปก็โดนโจมตีมากและได้เสียฐานคะแนนไปประมาณหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงที่นั่งมากกว่าใคร ยังมีพรรคเล็กๆ อย่าง พรรค SNP หรือ Scottish National Party ได้ถึง 35 ที่นั่งแต่ก็มีจำนวนลดลงไปถึง 21 ที่นั่ง และยังมีพรรค DUP ที่มีความสอดคล้องกับพรรคอนุรักษ์นิยมพอประมาณ และดูเหมือนว่าตอนนี้พรรค DUP มี 10 ที่นั่งก็จะมารวมกันกับพรรคอนุรักษ์นิยมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยคะแนน 318 บวกกับ 10 คะแนน เป็น 328 คะแนน หมายความว่ามีคะแนนเกินครึ่งที่ 326 คะแนนแบบฉิวเฉียด โดยหลักการแล้วพรรคอนุรักษ์นิยมยังเป็นรัฐบาลอยู่ แต่พรรค DUP ก็จะมาร่วมลงคะแนนเสียงในเรื่องใหญ่เพื่อให้วาระต่างๆ ของรัฐบาลลุล่วงได้ แต่ต้องดูว่ามีเงื่อนไขและรายละเอียดกันอย่างไร”
สถานการณ์การเมือง UK หลังเลือกตั้ง 8 มิถุนายน 2017 ดังกล่าว ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า นางเทเรซา เมย์ ยังไม่รู้ว่าไปรอดหรือไม่เพราะเวลาที่เปิดสภาแล้วการถกเถียงกันจะต้องให้รัฐบาลเสนอวาระต่างๆ ผลักดันกฎหมายเรื่องอะไรบ้าง และหากพรรคอื่นถ้าโจมตีหรือไม่ลงคะแนนให้ ก็เป็นไปได้ว่าอาจล่มได้เหมือนกัน เป็นไปได้ว่าพรรคอนุรักษ์นิยมอาจจะเป็นรัฐบาลต่อในแบบมีคะแนนฉิวเฉียดโดยร่วมกันกับพรรค DUP แต่นางเทเรซา เมย์ ยังโดนกดดันมากให้รับผิดชอบต่อผลที่ออกมา ถ้าเกิดนางเทเรซา เมย์ เป็นนายกรัฐมนตรีไม่รอดก็ต้องลาออก แต่ตัวพรรคยังเป็นรัฐบาลได้ และถ้านางเทเรซา เมย์ ลาออก คนที่จะขึ้นมาก็อาจจะเป็นนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนและรัฐมนตรีต่างประเทศ
“นายบอริส จอห์นสัน ถือเป็นบุคคลที่น่าสนใจ แม้ว่ามีภาพพจน์อื้อฉาวและคนยังไม่ไว้ใจมากเท่าไหร่ และยังเคยเป็นนายกเทศมนตรีของลอนดอนมาก่อน ผลงานก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ตอนนี้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและอาจจะไปถึงนายกรัฐมนตรีได้ถ้าเกิดนางเทเรซา เมย์ลาออก เท่าที่สังเกตการตัดสินใจยุบสภาก็อยากจะได้เสียงจากประชาชนโดยตรง ไม่ได้ต้องการได้มาแบบส้มหล่นจากนายเดวิด คาเมรอนที่ลาออก และการได้เสียงจากประชาชนก็เพื่อนำไปเจรจาเรื่อง Brexit แต่ตอนนี้คะแนนเสียงยังไม่ท่วมท้นทางสหภาพยุโรปก็มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะว่ารัฐบาลอังกฤษแตกแยกกันเองไม่เป็นเอกภาพ เวลาที่ไปเจรจากับสหภาพยุโรปก็จะไม่ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย”
ดร.ฐิตินันท์พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศกาตาร์ว่า เรื่องกาตาร์จะพ่วงเรื่องของอิหร่านด้วย คือ กาตาร์กระทบโดยตรงจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไป เช่น สายการบินกาตาร์แอร์บินผ่านบางประเทศไม่ได้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือมีกลุ่มประเทศหนึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบีย, จอร์แดน, บาห์เรน, อียิปต์, ยูเออี, ลิเบีย, เยเมน, สหภาพอาหรับ รวมไปถึงมัลดีฟส์ ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์เป็นผู้ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย สำนักข่าวอัลจาซีราก็เป็นของกาตาร์ หรือสายการบินกาตาร์ไม่สามารถบินผ่านประเทศพวกนี้ได้เลย
ในช่วงนี้เป็นการช่วงชิงต่อสู้กันหาความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง คือมีการล้มลุกคลุกคลานกันมาโดยตลอด หากย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ระเบียบของตะวันออกกลางที่ตั้งกันมา 101 ปีที่แล้ว มีฝรั่งเศสกับอังกฤษแบ่งกันในตะวันออกกลางโดยปกครองด้วยวิธีให้เผ่าพันธุ์ต่างๆ ของคนท้องถิ่นขึ้นมาปกครองแทน อย่างของซาอุดิอาระเบียมาจากเผ่าของตระกูลซาอุดิอาระเบีย จอร์แดนก็มาจากตระกูลฮัชไมต์ และบางประเทศต่างๆ ที่เกิดสูญอากาศ เกิดความปั่นป่วนกันภายในอย่างอิรัก การล้มลุกคลุกคลานและการต่อสู้กันในรูปแบบต่างๆ เมื่อมาถึงยกที่การตัดขาดความสัมพันธ์กันกับกาตาร์ เป็นบททดสอบที่ต้องจับตามองว่าจะทำให้มีระเบียบมากขึ้นหรือไม่ในระยะยาว
“แต่ในระยะสั้นและระยะกลางจะเกิดการรบราฆ่าฟันกันในอีกหลายขั้น พ่วงไปถึงอิหร่านด้วยเพราะเป็นคู่อริกันกับซาอุดิอาระเบียในการช่วงชิงเป็นผู้นำของตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดิอาระเบียเป็นคนละนิกาย อย่างของซาอุดิอาระเบียเป็นนิกายสุหนี่ แต่ของอิหร่านเป็นนิกายชีอะห์ ทุกฝ่ายมีเอี่ยวกับกลุ่มก่อความไม่สงบกันหมด ขณะที่กาตาร์เป็นประเทศเล็กแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 70-80% เมื่อเทียบกับไทย แต่กาตาร์ใช้อิทธิพลสร้างเครือข่ายไว้ด้วยการอุปถัมภ์กลุ่มต่างๆ และดูเหมือนอิหร่านกับกาตาร์จะเป็นพันธมิตรกัน ตอนนี้กาตาร์จะดูโดดเดี่ยวเพราะกาตาร์เป็นนิกายสุหนี่ ดร.ฐิตินันท์กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่าเป็นจังหวะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปเยือนซาอุดิอาระเบียและไปกล่าวสุนทรพจน์ที่เหมือนให้ท้ายซาอุดิอาระเบีย เหมือนกับได้รับไฟเขียวมาประมาณหนึ่งเพราะสหรัฐอเมริกามีฐานทัพที่กาตาร์ หากถ้าซาอุดิอาระเบียไม่ได้รับไฟเขียวจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงไม่กล้าทำแบบนี้
กรณีที่รัฐสภาประเทศตุรกี อนุมัติร่างกฎหมายส่งทหารไปประจำการที่กาตาร์ ส่วนนี้จะเป็นการใส่ฟืนในกองไฟหรือไม่นั้น ดร.ฐิตินันท์กล่าวว่า ต้องวิเคราะห์แบบใจเย็น อย่าไปหวือหวากับกระแสข่าวมากต้องเอาข้อเท็จจริงเป็นหลักก่อน ตุรกีให้การสนับสนุนกาตาร์ก็จะเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่ช่วงชิงความเป็นใหญ่ รัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจที่คิดว่าใหญ่ในแถวนั้น หรืออย่างฝรั่งเศสและอังกฤษเคยใหญ่ในแถบนั้นมา สหรัฐอเมริกาอาจไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์ที่ใหญ่มากแต่ในศตวรรษที่แล้วก็ใหญ่ในภูมิภาคนั้น เพราะฉะนั้นประเทศมหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซงหรือรักษาอิทธิพลของพื้นที่ตัวเองมากขึ้น
“รัสเซียจะไม่ยอมให้ซาอุดิอาระเบียหรือเครือข่ายของสหรัฐอเมริกาเข้ามายึดครองอิรัก ซีเรีย หรือกาตาร์ ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะบานปลายขนาดไหน แต่ตอนนี้จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าต้องติดตามแบบข้อเท็จจริงเป็นหลัก ตอนนี้มีสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ต้องติดตามให้ดี” ดร.ฐิตินันท์กล่าวและพูดถึงเมืองไทยในการรับมือเฉพาะหน้าต้องดูความปลอดภัยผลประโยชน์อย่างการท่องเที่ยว การศึกษา หรือสายการบินต่างๆ
“ยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาว 5 ปีขึ้นไปต้องประเมินใหม่และพิจารณาว่าปัจจัยและรูปแบบจะเป็นอย่างไร คือ ไทยอยู่ในจุดดีแม้แต่ไทยมีเรื่องกับซาอุดิอาระเบียมาก็ผ่อนผันและอ่อนลงไปเยอะ พวกประเทศต่างๆ อย่าง ตุรกี อิหร่าน อิสราเอล กาตาร์ ยูเออี ไทยค่อนข้างมีความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ แต่ก็ต้องดูให้ดีว่าใครจะมาเหนือใคร แล้วไทยควรจะปรับตัวรับมืออย่างไร”