top of page

มั่นใจรถไฟฟ้าสายชมพู-เหลือง เปิดให้บริการปี 63...เสนอขอเพิ่ม 2 สถานี


"คีรี" มั่นใจภายในปี 2563 ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง พร้อมเสนอขอเพิ่ม 2 สถานี ฝ่ายชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งเผยเบื้องต้นร่วมลงทุนในสัดส่วน 15%

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยรูปแบบจะเป็นแบบโมโนเรล หรือ รถไฟฟ้ารางเบา โดยจะมีการลงนามก่อสร้างในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ กำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน ก่อนเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการ หรือ ในช่วงประมาณปลายปี 2563

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โอลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความพร้อมการดำเนินการ และจะยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาและเร่งศึกษาเพื่อขอขยายเส้นทางเพิ่มเติมสำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเสนอขอขยายเส้นทางเข้าไปที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จะมี 2 สถานี คือ บริเวณอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี เพื่อรองรับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ประชุม ปีละกว่า 10 ล้านคน และประชาชนที่อยู่อาศัยอีกกว่า 1.5 แสนคน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ได้เสนอขอเพิ่ม 2 สถานีเช่นกัน คือ จากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกจนถึงแยกรัชโยธินเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเสนอขอเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าว ยังต้องมีการศึกษาตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน ทั้งในส่วนต่อขยายคาดว่า จะต้องรอข้อสรุปเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ประมาณ 1 ปี และการจัดทำแผนแม่บทของ สนข. ที่ยังไม่ได้จัดทำแผนแม่บท รวมถึงต้องรอการตัดสินใจของรฟม. ก่อน

"การดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ต้องการให้คิดว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท บางกอกแลนด์ ของ นายอนันต์ กาญจนพาสน์ แต่อยากให้เห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเดินทางไปยังพื้นที่เมืองทองธานีได้อย่างสะดวก และเมื่อการเชื่อมต่อต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว//สีชมพูและสีเหลือง เพราะหากเชื่อมต่อกันคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนต่อวัน" นายคีรี กล่าว

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเบื้องต้น ซิโน-ไทยฯ ร่วมลงทุนในสัดส่วน 15% ซึ่งจะใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การต่อขยายเส้นทางในซองที่ 3 นั้น เงื่อนไขที่ศึกษา และออกค่าก่อสร้างทั้งหมดให้รัฐ เหลือเพียงให้ขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบเท่านั้น และเชื่อว่า EIA จะไม่มีปัญหา ขณะที่ค่าก่อสร้างหากแยกก่อสร้างโครงการหลักกับส่วนต่อขยาย 2 กับการก่อสร้างไปพร้อมๆ กัน ค่าก่อสร้างแตกต่างกัน เป็นประเด็นที่พิจารณาในซองที่ 3

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีกำไรสะสมประมาณ 50,000 ล้านบาท มีเงินสดในมือ 16,000 ล้านบาท ดังนั้นในสัดส่วนลงทุนที่ 10% สามารถใช้เงินสดในมือได้ ขณะที่สนใจการลงทุนใน EEC ทั้งด้านพลังงานและโลจิสติกส์ รอเพียงความชัดเจนในแต่ละโครงการ

 

เครดิตภาพ: http://www.bangkok.com/bts

57 views
bottom of page