top of page

'มะกัน-ทรัมป์' เป๋! กระทบ 'การเมืองโลก'


รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเรื่องที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงสภาวะโลกร้อน หรือ Paris Climate ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าธรรมชาติในปัจจุบันกำลังเสียศูนย์ ไม่มีความสมดุล จะเห็นว่าอากาศหรือภัยพิบัติมีปัญหาอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาระหว่างประเทศด้วย เพราะมีการตัดไม้ทำลายป่ามาใช้กันมาก อย่างประเทศไทยก็เป็นตัวอย่างที่เกิดน้ำท่วมและมีภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ในหลายประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ทำให้มีการทำข้อตกลงพยายามลดมลภาวะต่างๆ ให้ดีขึ้นโดยมีข้อตกลงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นประเทศใหญ่และมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อถอนตัวออกจากข้อตกลงก็อาจจะส่งผลถึงข้อตกลงที่อาจจะอ่อนลงไปมาก ก็จะทำให้บรรยากาศการร่วมมือกันระหว่างประเทศไม่ค่อยดี และไม่รู้ว่าประเทศอื่นที่ลงนามข้อตกลงไว้ยังจะทำตามอีกหรือไม่ แต่ก็ไม่น่าเป็นเรื่องแปลกใจเพราะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พูดมาตลอดว่าไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไม่จริง ขณะที่จีนได้เปลี่ยนข้อตกลงนี้แล้ว แต่พอถึงเวลาสหรัฐอเมริกากลับถอนตัว ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และคิดว่านับจากนี้จะได้เห็นอะไรแบบนี้อีกเยอะที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวเรื่องข้อตกลงใหญ่ระหว่างประเทศ” รศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าวและว่าประธานาธิบดีทรัมป์ มีความน่าสนใจและน่าวิเคราะห์ตรงที่บางอย่างทำเพื่อโต้แย้งหรือไม่อยากจะทำตามแนวทางนโยบายประธานาธิบดีบารัก โอบามา อย่าง โอบามาแคร์, TPP หรือ Paris Climate หรือเขามีความไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อนจริง หรือโดนัลด์ ทรัมป์ อาจะมีความเชื่อทั้ง 2 อย่าง คือ ไม่เชื่อแนวทางของบารัก โอบามา หรือมีความเชื่อแบบนี้ก็เป็นได้

รศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าวว่าการต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเกิดขึ้น บรรยากาศที่เรียกว่าความแตกแยกมีการแบ่งขั้ว และมีกระบวนการที่จะโค่นล้ม โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ได้ กระบวนการนี้มีทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน หรือนักการเมืองโดยเฉพาะพรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันก็อาจจะมีบ้างนิดหน่อยที่ต้องการถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งในสภา เพราะไปละเมิดกฎหมาย สนิทสนมกับรัสเซียมากเกินไป หรือมีการพูดเท็จ ซึ่งหากมีการตั้งกระบวนการถอดถอนก็ต้องผ่านวุฒิสภา 2 ใน 3 คือคะแนนต้องมี 65 ขึ้นไป แต่เป็นเรื่องยากเพราะพรรคริพับลิกันมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา

“หากจำกันได้ในสมัยบิล คลินตันก็มีเรื่องถอดถอนแบบนี้เช่นกัน โดยที่ บิล คลินตัน มีเรื่องชู้สาวกับ โมนิกา ลูวินสกี ถึงขนาดที่จะมีการถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่พอเอาเข้าจริงก็ถอดถอนไม่ได้เพราะมีคะแนนไม่พอ 2 ใน 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นคิดว่า 2 ใน 3 คือ 66 หรือ 67 จากวุฒิสภา 100 คน ถอดถอนลำบาก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ความแตกแยกจะทำให้การเมืองของสหรัฐอเมริกาติดขัด และการเมืองระหว่างประเทศไม่มีแรงส่งตามไปด้วย” รศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าว

“คนที่ไม่ชอบโดนัลด์ ทรัมป์ มองเขาทำอะไรก็ผิดไปหมด ส่วนคนที่ชอบจะทำอะไรก็มีข้ออ้างหรือข้อแก้ตัว คิดว่าต้นตอของปัญหานี้มาจากที่อื่น ส่วนหนึ่งมาจากโซเชียลมีเดียด้วย สื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงกันได้หมด บางครั้งทำให้มีการโจมตีกันได้ง่าย การแตกแยกแบ่งขั้วหรือการฟังซึ่งกันและกันก็ทำเพียงฟังข้างเดียวกัน ขั้วที่แตกแยกกันก็ลึกลงไปเรื่อยๆ จนทำให้คุยกันลำบาก”

18 views
bottom of page