
เผย “เครดิตบูโร” อยู่เบื้องหลังการผลักดันแบงก์ชาติเป็นเจ้าภาพตั้ง “คลินิกลูกหนี้” ช่วยคนมีหนี้ท่วมหัวหลังพบข้อมูลไทยวัยทำงานอายุ 29-31 ปี มีปัญหาหนี้หลายแห่ง เผยคนเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้จะถูกปลด Blacklist แต่เจ้าหนี้ไม่ปล่อยกู้ให้เหมือนเดิมต่อไป จนกว่าจะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนอมหนี้เสร็จ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงปัญหาของหนี้ส่วนบุคคล หรือ หนี้บัตรเครดิต ทางเครดิตบูโรได้มีการนำข้อมูลไปให้กับแบงก์ชาติ แต่มีความน่าสนใจและยังมีความน่ากังวล คือ คนที่มีอายุช่วงประมาณ 31 ปี จะมีหนี้เฉลี่ยเกินกว่าช่วงอายุอื่นซึ่งช่วงอายุอื่นมีหนี้เยอะไม่เท่า และที่น่ากลัวกว่านี้ คือ ช่วงคนอายุประมาณ 29 ปี หากเดินมา 5 คน จะมี 1 คน ที่เป็นหนี้ NPL เรียกว่าเป็นหนี้เร็วหรือมีหนี้มาก และรวมไปถึงมีหนี้เสียเยอะ
ช่วงอายุ 29-31 ปี อยู่ในช่วงของวัยกำลังทำงาน แต่เป็นหนี้แล้วไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ อาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลถึงต้องมีมาตรการหรือวิธีการแก้ไข เช่น นาย A มีหนี้อยู่ 3 ที่และยังอยู่ในช่วงทำงานอยู่ อยากจะชำระหนี้ให้หมด แต่จะให้เดินไปคุยกับทีละเจ้าหนี้ก็ไม่ไหว เพราะกว่าจะจบเรื่องกลับมีเงื่อนไขไม่เหมือนกันและใช้เวลานาน ทำให้ไม่มีกำลังใจในการแก้หนี้จึงเกิดการทิ้งหนี้เลย เหตุเพราะนาย A ไปคุยกับแบงก์ที่ 1-3 ไม่จบเรื่องการชำระหนี้ ส่งผลทำให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติต้องมองพื้นที่ศูนย์กลาง เพื่อว่าใครเป็นหนี้หลายที่ก็สามารถเข้ามาแก้ไขเรื่องหนี้ตรงนี้ได้ จึงได้ตั้ง SAM ให้เป็นศูนย์กลาง แต่ต้องมีเงื่อนไข คือ ต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ เช่น นาย A มีหนี้ 3 ที่ และไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ก็ต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มภายใน 5 ปี หรือจนกว่าจะชำระหนี้ 3 บัญชีนี้จบ ซึ่งภายใน 5 ปีก็จะยังพอมีรูหายใจได้บ้างถ้ามีปัญหา เช่น คนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องการที่จะไปก่อหนี้ก็อาจจะยอมให้ก่อหนี้ได้ แต่ถ้าจะไปซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่มก็อาจจะไม่ยอม ซึ่งเมื่อลูกหนี้เข้ามาโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อลดดอกเบี้ย แต่ภายใน 5 ปีนี้ไม่สามารถที่จะก่อหนี้เพิ่ม คิดว่าลูกหนี้จะรับกันได้หรือไม่” นายสุรพลกล่าว
“ในชีวิตประจำวันมีภาระเยอะก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งล่อใจก็มีเยอะ อย่างเพื่อนเราใช้โทรศัพท์ใหม่รุ่นนี้แล้วเราไม่ได้ใช้ การเปรียบเทียบจึงเกิด แรงกดดันที่เกิดจากความอยากได้มันมีตลอดเวลา ต้องถามว่าในช่วงที่จนหนทางกับ 3 บัญชีที่จะฟ้องอยู่แล้ว ทำให้ตัดสินใจเข้าโครงการนี้โดยจำยอม แต่ถ้านิสัยยังไม่เปลี่ยนแปลงมันก็ยังจะไม่เปลี่ยน อยากจะให้ข้อมูลเรื่องหนึ่งหลังจากที่ไปประชุมที่สิงคโปร์ รัฐบาลมาเลเซียใช้วิธีโดยคนที่ไปกู้หนี้กยศ.ถ้าคนที่กู้แล้วไม่จ่ายทางการมาเลเซียจะไม่ให้ออกนอกประเทศ ถ้ายังไม่จ่ายหนี้แล้วจะไปเที่ยวญี่ปุ่นคงไม่ได้ไป แล้วถ้าเป็นของไทยจะเป็นแบบนี้หรือไม่”
นายสุรพลกล่าวถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ว่ามีผลต่อคนที่รู้สึกสำนึกและยอมรับความจริงว่าไม่มีวินัยที่จะดูแล ต้องมองข้ามเงื่อนไขที่ไปก่อหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายได้ ต้องไม่นำมาเป็นข้ออ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยมีความน่าเห็นใจตรงที่ครอบครัวไม่ได้มีเงินออมตั้งแต่แรก เมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยจำเป็นต้องก่อหนี้ แต่ก็ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้เพราะไม่มีเงินออมตั้งแต่ต้น ทำให้มีข้ออ้างของการบอกว่าไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ แต่ถ้ายอมรับได้ว่าไม่ว่าหนี้จะเกิดด้วยเหตุใดก็ตามแล้วจ่ายหนี้ไม่ได้ จะยอมหรือไม่ที่ต้องเข้ากระบวนการดัดนิสัย ถ้าไม่ยอมในจุดนี้ก็จะไม่สามารถชำระหนี้ได้หมด แต่ถ้ายอมในจุดนี้ก็จะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้หมด
“เมื่อลูกหนี้ได้เข้าสู่โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นบัญชีหนี้เสียแต่บัญชีนี้จะกลายเป็นปกติ แต่จะมีการให้ข้อมูลว่าเป็นบัญชีที่เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ โดยหากลูกหนี้แอบไปขอสินเชื่อจากที่อื่น และผู้ให้กู้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ผู้ให้กู้จะเห็นดาวดวงหนึ่งติดอยู่ในบัญชีว่าคนนี้ได้เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้แล้วมีการเซ็นสัญญาว่าจะไม่ก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ แต่เชื่อว่าหากลูกหนี้ไปขอกู้จากที่อื่นหลายๆ ที่ก็จะหาช่องขอสินเชื่อจนเจอ”