top of page
327304.jpg

ผ่างบจ่าย '61 - อัดลงทุน 23%....เน้น 'โลจิสติกส์' บก, น้ำ, อากาศ


งบฯปี 61 สะเด็ดน้ำที่ 2.9 ล้านล้าน เป็นงบขาดดุล 4.5 แสนล้าน เกลี่ยเป็นงบรายจ่ายในสัดส่วนที่ลดลง เป็นงบลงทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะงบลงทุนด้านโลจิสติกส์ บก เรือ อากาศ แต่ยังไม่รวมงบเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งสามารถเบิกจากงบฯกลางได้ ส่วนงบฯปี 60 ทั้งงบรายจ่ายและงบลงทุนสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่ยืนยันรัฐบาลไม่ถังแตก ฝ่ายหารายได้ยังจัดเก็บรายได้ได้ตามปกติ แถมจัดเก็บสูงกว่าเป้าได้ในบางส่วน

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงงบประมาณปี 2561 ว่ามีกรอบวงเงินอยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท โดยมาจากรายได้ 2.45 ล้านล้านบาท และเป็นรายได้ขาดดุล 450,000 ล้านบาท แต่รายได้ขาดดุลดังกล่าวถือว่าอยู่ในกรอบวงเงินกู้สูงสุดชดเชยซึ่งกำหนดไว้ที่ประมาณ 649,500 ล้านบาท

“ส่วนตัวเลขภาพรวมมีรายจ่ายประจำอยู่ที่ประมาณ 2,153,133.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ที่ประมาณ 2,552.3 ล้านบาท หรือ 0.1% เป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 74.2% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบลงทุนอยู่ที่ 659,924 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.8% เพิ่มจากปีที่แล้ว 875.1 ล้านบาท คิดเป็น 0.1% และยังมีตัวเลขชำระเงินกู้ที่เป็นเงินต้นอยู่ที่ 86,542.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ประมาณ 5,755.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.1%”

สำหรับจุดเด่นของงบประมาณปี 2561 นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า คือรายจ่ายประจำที่ลดลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนในการทำให้งบประมาณสัดส่วนของรายจ่ายประจำให้ลดลง และเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายในเรื่องของการลงทุนให้มากขึ้น โดยสัดส่วนรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 22.8% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 22.5% โดยพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนให้ได้ 23% แต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะยังมีเรื่องรายจ่ายประจำหลายรายการที่ไม่สามารถลดได้

“ตัวเลขรายจ่ายปีงบประมาณ 2561 ที่จำนวนลดลงเพราะปีที่แล้วมีเรื่องรายจ่ายชำระคืนเงินคงคลัง 27,078.3 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 ไม่ได้ตั้งไว้จึงทำให้งบประมาณ 2561 ลดลง ส่วนงบเลือกตั้งยังไม่ชัดเจนว่ามีรูปแบบออกมาอย่างไร การเสนองบประมาณเลือกตั้งจึงยังไม่ได้อยู่ในงบประมาณปี 2561 แต่ถ้ามีความจำเป็นจะมีการเลือกตั้งภายในงบประมาณปี 2561 ก็สามารถที่จะใช้เงินจากงบประมาณกลางได้ ซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้วหากไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ ก็สามารถขอกันสำรองจ่ายได้ ซึ่งตามโรดแมปอาจจะมีเลือกตั้งประมาณต้นปี 2562”

ส่วนงบการลงทุนในปี 2561 ที่ประมาณ 659,924 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 22.8% นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่าส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนทั้งการสร้างโลจิสติกส์ต่างๆ การทำระบบเขื่อนป้องกันริมตลิ่ง และระบบการขนส่งทั้งทางบก เรือ อากาศ ที่จะต้องบำรุงรักษา รวมถึงการก่อสร้างทางสายใหม่ที่จะมีการขยายช่องทางจราจร และสนามบินที่บางสนามบินต้องการขยายอาคารผู้โดยสารตามแผนโลจิสติกส์ของ East-West Corridors หรือ North–South Corridors

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ และในปีนี้การพัฒนาเรื่องคมนาคมขนส่งระบบโลจิสติกส์ในแผนบูรณาการได้ตั้งไว้ถึง 113,735.3 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่เป็นไปตามแผนการพัฒนาของระบบการคมนาคมขนส่ง”

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงภาพรวมงบประมาณการเบิกจ่ายปี 2560 ด้วยว่าการเบิกจ่ายในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 62.38% เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 60.15% เท่ากับมีการเบิกจ่ายสูงกว่าเป้าหมายประมาณ 2.23% ส่วนงบลงทุนเบิกจ่ายสูงกว่าปี 2558 และ 2559 อยู่ประมาณ 2.5% และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันการเบิกจ่ายของปี 2560 สูงกว่าปี 2559 ประมาณ 4.89%

“ปัญหาเรื่องรัฐบาลถังแตกคงไม่มี เพราะตอนนี้รัฐบาลพยายามเร่งให้ส่วนราชการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเป้าหมายบางตัวก็ยังห่างอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อภาพรวม ส่วนงบลงทุนยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่บ้าง แต่ก็ยังสูงกว่าปี 2559 ประมาณ 4.89% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้...

เท่าที่ได้ประสานงานกัน ฝ่ายจัดหารายได้ในภาพรวมยังสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในบางส่วน ช่วงนี้ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการจัดหารายได้ของกระทรวงการคลัง ยังไม่มีการส่งสัญญาณมาที่สำนักงบประมาณว่าให้ชะลอหรือลดการใช้จ่าย มีแต่ส่งสัญญาณมาว่าต้องเร่งรัดให้ใช้จ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย และต้องลงไปดูว่ามีการติดขัดส่วนไหนบ้าง ถ้าติดขัดก็ช่วยแก้ไขปัญหา บางเรื่องทางสำนักงบประมาณจะประสานงานกับกรมราชการให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ …

ส่วนการเปิดประมูลที่คาดว่าจะค้าง ทำสัญญาไม่ทัน รัฐบาลได้โอนงบประมาณรายจ่ายลงทุน จำนวน 118,066.52 ล้านบาทมาแล้ว เป็นการโอนไปอยู่งบประมาณกลางเพื่อสำรองจ่ายไว้ก่อน ในส่วนรายจ่ายที่ราชการตั้งงบประมาณใช้จ่ายแล้วไม่เพียงพอก็สามารถมาของบประมาณกลางในการสำรองจ่ายได้ ส่วนโครงการที่ทำสัญญาไม่ได้หรือประมูลไม่ได้ ทางคณะรัฐมนตรียังมีมติว่า ถ้ายังมีความจำเป็นเรื่องการใช้จ่ายอยู่ สามารถดำเนินการกับผู้รับจ้างที่มีความพร้อมดำเนินการได้ในปี 2560 ก็สามารถมาของบประมาณกลางสำรองจ่ายได้ แต่ถ้าไม่พร้อมในปีนี้ก็ไปใช้งบประมาณปี 2561 ซึ่งได้มีการตั้งงบประมาณรองรับไว้อยู่แล้ว ก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณปี 2560 ให้มีมากขึ้น เรียกว่าพยายามที่จะเซ็นสัญญาว่าจ้างให้มากภายในงบประมาณปี 2560 จึงไม่ต้องกลัวว่าไม่มีเงินจ่าย เพียงแต่ว่าจ่ายไม่ทัน”

37 views
bottom of page