ไม่นับเฉพาะเรื่องกระแสไวรัสมัลแวร์ WannaCry เรียกค่าไถ่ดูดเงินสกุลบิตคอยน์ที่กำลังเป็นประเด็นไปนับ 100 ประเทศทั่วโลก จากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของระบบองค์กรต่างๆ สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนหน้านี้แฮกเกอร์กับกระแสธุรกิจดิจิทัลก็แทบจะเดินควบคู่ขนานไปด้วยกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะงัดแผนออกมาตั้งรับได้ดีกว่ากัน
กรณีนี้ในประเทศไทย แม้เพิ่งจะจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่แปลงร่างมาจากกระทรวงไอทีซีเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้เคลื่อนไหวขยับตัวรับมือต่อเรื่องนี้มากนัก ภาคธุรกิจและภาครัฐต่างๆต้องหามาตรการจัดระบบป้องกันภัยคุกคามทางเทคโนโลยีนี้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่
ภาคธุรกิจประกันภัยไทย ในยุคที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หายใจเข้าออกแทบทุกวินาที เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเป็นดิจิทัล อินชัวรันส์ สอดคล้องกับยุคกระแสไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแล้ว ในแง่หลักการถือว่าดี แต่แง่ปฏิบัติภาพรวม ถือว่ายังไม่ค่อยมีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากนัก มีเพียงบริษัทประกันวินาศภัยราว 4-5 แห่งที่ได้รับอนุมัติแผนประกันความคุ้มครองไซเบอร์แล้วเท่านั้น ซึ่งในแง่แผนงานปฏิบัติและการตอบรับของกระแสตลาด จำนวนลูกค้ามากน้อยแค่ไหนนั้น ยังเป็นสิ่งที่จะต้องถามไถ่กันต่อไปว่ามีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา คปภ. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนต่อยอดจากแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศฉบับที่ 1 (ปี 2556-2559) เพื่อรองรับพัฒนาการด้านการประกันภัยในยุคดิจิทัลและเพื่อเตรียมการให้ คปภ. เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยยุคดิจิทัล (Digital Insurance Regulator) อุตสาหกรรมประกันภัยเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกรมธรรม์ ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ประกอบกับแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ของ คปภ.ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ดำเนินธุรกิจแบบนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ (Digital Business) และมาตรการในการเตรียมความพร้อมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันสู่การเปิดเสรีในการประกอบธุรกิจ
รวมทั้งยกระดับองค์กรให้เข้มแข็งตามมาตรฐานสากลเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพในทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ คปภ. และการวางแผนกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กร Digital Insurance Regulator ตลอดจนวางแผนด้านมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยรองรับการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
แนวทางและมาตรการขับเคลื่อนเพื่อให้ คปภ.ก้าวสู่องค์กรผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยยุคดิจิทัลได้นั้น ได้แก่ 3 หลักการหลัก คือ
1. สร้างระบบบริหารจัดการภายใน (Digital Platform) เพื่อสร้างระบบวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Digital Intelligent Data) ในการเปลี่ยนผ่านสู่องค์ปฏิบัติงานอัจฉริยะ (Smart Operations) โดยมีมาตรการขับเคลื่อน พัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มการบริหารจัดการให้ครอบคลุมทุกภารกิจของ คปภ. (OIC Business Architecture) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานอัจฉริยะ พัฒนาคุณภาพทักษะไอทีให้กับบุคลากร เพื่อสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยีช่วยในการพัฒนางาน (Digital Workforce) สร้างกระบวนการเฝ้าระวังและรับมือเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ให้อุตสาหกรรม
รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนากรมธรรม์รองรับความเสียหายจากอาชญากรรมด้านภัยคุกคามด้านไซเบอร์ (Cyber Security Liability Insurance) เพื่อรองรับการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของภาคธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรดิจิทัลในลักษณะบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อลดภาระในการบริหารจัดการและรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
2. เสริมสร้างความรู้ในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นการทำงานในยุคดิจิทัล (Digital Workforce) ภายใต้หลักบูรณาการข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ (Data Integration) ประกอบด้วยมาตรการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจประกันภัยแบบใหม่
3. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลข่าวสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Digital Efficiency) เพื่อเปลี่ยนผ่านการทำงานไปสู่การให้บริการเชิงรุกให้กับประชาชน โดยให้มีบริการระบบเพื่อเข้าถึงบริการข้อมูลประกันภัย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาแนวทางคุ้มครองข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลของผู้รับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พัฒนามาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลสู่ภาครัฐและภาคประชาชน (Open Government Data) เพื่อรองรับการส่งเสริมนวัตกรรมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างงานรัฐ
สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย (โบรกเกอร์) จัดสัมมนาเรื่อง Insurance Market Trend 2017 โดยนำเสนอความเสี่ยงด้านต่างๆที่มีต่อภาคธุรกิจประกันภัยในยุคสตรีมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยความเสี่ยงภัยยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ, ความเสี่ยงภัยจากสภาพประชากร, ความเสี่ยงภัยจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ, ความเสี่ยงภัยจากสภาพเทคโนโลยี, ความเสี่ยงภัยจากระบบการค้าเสรีและความเสี่ยงภัยจากสภาพตลาดและการกำกับ
ทว่า ในที่นี้จะโฟกัสไปที่มุมมองต่อความเสี่ยงภัยจากระบบเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงภัยยุคใหม่ ภายใต้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจประกันภัยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบธุรกิจสถาบันการเงิน โดย นายพิชิต เมฆกิตติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินดิเพนเดนท์ คอนซัลแทนท์ ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยและเป็นวิทยากรภายในงานสัมมนา
เขาระบุถึงความเสี่ยงภัยจากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับกระแสสารพัดฟินเทคและสตาร์ทอัพว่าประกอบด้วยปัจจัยอาชญากรรมทางโลกอินเทอร์เน็ตและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, ปัจจัยความล้มเหลวของระบบสื่อสารสาธารณะ, ปัจจัยด้านการลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์-การขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการปรับลดการใช้เทคโนโลยีในภาคธุรกิจ รวมถึงการปรับความเข้าใจในพัฒนาการทางเทคโนโลยี
ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย Internet of Things (IoT) สิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวัง คือ ปัจจุบันความเสี่ยงภัยของโลกอินเทอร์เน็ตมีมากมายหลายประเภท หรือ Access Technology มีการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Cloud computing data และพัฒนาการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ผลิตภัณฑ์ประเภท Fin Tech, Prop Tech, Agri Tech หรือแม้กระทั่งธุรกิจประกันภัย Insure Tech การพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับ IoT หรือ Cyber Insurance ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงภัยที่แท้จริงและขีดความสามารถในการรับประกันภัยของตลาดในประเทศ
นายพิชิต กล่าวว่า Professor Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งองค์การเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จะเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการทำงาน ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม
ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยสู่ยุค 4.0 จะทำให้เกิดแนวคิดที่กำลังเกิดขึ้นในโลกที่ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี
สำหรับแนวโน้มตลาดประกันภัยโลก จะเห็นได้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจะทำให้แนวโน้มธุรกิจประกันภัยทั้งระบบชะลอตัว ยกเว้นในบางประเทศที่มีปัจจัยความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น จะมีการปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะภัยธรรมชาติและผลตอบแทนการลงทุน หรือประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเติบโต เช่น อินเดีย
ความต้องการเงินทุนของตลาดประกันภัยโลกจะมีต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลา 6 เดือนของปีที่แล้ว ระบบประกันภัยต่อของโลกมีการเพิ่มเงินทุนสูงถึง 560 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติการเพิ่มที่สูงสถิติในอดีตอย่างมาก
ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากในปี 2016 ค่าสินไหมจากมหันตภัยธรรมชาติประมาณ 39.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับจำนวนค่าสินไหมที่เคยสูงสุดในปี 2012 จำนวน 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ค่าสินไหมที่สูงสุดจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติพายุเฮอริเคน Mattew 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ไฟไหม้ป่าใน Fort McMurray ในแคนาดา จำนวนค่าสินไหม 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐและค่าสินไหมแผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมะโตะ ประเทศญี่ปุ่น 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในแง่ของตลาดประกันภัยโลก พบว่าในอังกฤษต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากน้ำท่วมและพายุ 4.86 แสนรายในรอบปีที่แล้วและยังมีการกำหนดเขตความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมและพายุ โดยเขตรหัสไปรษณีย์เป็นตัวกำหนดพื้นที่ความเสี่ยงภัยธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมจากการจลาจลและปัญหาทางการเมืองในหลายประเทศและสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนที่เริ่มมีอาการถดถอย ค่าเงินผันผวนและความต้องการเงินทุน
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทประกันภัยต่อยักษ์ใหญ่ 31 ราย เช่น มิวนิครี, สวิสรี, เอซ, คิวบีอี, Mapfre, Gen Re และ XL มีอัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก 109 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับอัตราเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้น แต่ผลประกอบการนั้น ทำให้เงินกองทุนลดลง 313 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทประกันภัยต่อประเภท Non-traditional reinsurance
กระแสการควบควมธุรกิจประกันภัยในตลาดโลกก็มีความน่าสนใจ ซึ่งเกิดจากปัจจัยความเสี่ยงภัยของโลกที่เพิ่มขึ้น เช่น ภัยก่อการร้าย ภัยระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและระบบการเงินระหว่างประเทศ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงภาคเงิน เช่น บล็อกเชน สำหรับธุรกิจประกันภัยในอนาคต รวมถึงปัจจัยการเข้าสู่ตลาดประกันภัยในภูมิภาคของนักลงทุนต่างประเทศ เช่น การเข้าสู่ตลาดประกันภัยจีนของบริษัทต่างชาติและการเข้าซื้อกิจการประกันภัยของนักลงทุนจากจีน เพื่อหวังผลตอบแทนการลงทุน
สำหรับตลาดประกันภัยในประเทศไทย โดยภาพรวมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย, แนวโน้มความต้องการเงินกองทุนในภาคประกันภัย เพื่อรองรับขีดความสามารถในการรับประกันภัยไว้เอง, ปัญหาหนี้ครัวเรือนกับขีดความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย, ผลกระทบจากปัญหาบุคลากรของธุรกิจประกันภัย, พฤติกรรมของผู้เอาประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป, สภาพการแข่งขันที่ขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับสภาพแท้จริงและปัจจัยความเสี่ยงของธุรกิจ, ปัญหาอุปสรรคในการควบรวม, การระดมเงินเพิ่มทุนล่วงหน้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาพของความเสี่ยงภัยในทศวรรษนี้
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้เอาประกันภัย, การให้ความสำคัญและสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับตลาดประกันภัยต่อหลักมากกว่าตลาดประกันภัยทางเลือก, การพัฒนาบุคลากรและช่องทางการตลาดที่ยั่งยืนมากกว่าการเพิ่มปริมาณเบี้ยประกันภัยที่มีสภาวะความเสี่ยงจากการขาดทุนจากการรับประกันภัย
แนวโน้มตลาดประกันภัยในปี 2017 จะเห็นได้ว่าอัตราเบี้ยประกันภัยต่อปลายปี 2016 ยังคงลดลง แต่อัตราการลดลงยังน้อยกว่าในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา, การขยายตลาดของ Llod’ys Underwriters เพื่อชดเชยสถานะการเบร็กซิตของอังกฤษ จะเป็นการกระจายขีดความสามารถในการรับประกันภัยที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันขีดความสามารถในการรับประกันภัยของ Llody’d Market สูงกว่า 30 พันล้านปอนด์สเตอริง
ไม่เพียงเท่านั้น การควบรวมกิจการของบรรดาบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันภัยต่อรายใหญ่ จะทำให้มีกำลังในการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น, การเปลี่ยนแปลงกฎกติกาสากลในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโลก โดยเฉพาะการกำกับคนกลางประกันภัย (Insurance Intermediate) และระบบเงินกองทุน (RBC & Solvency 2) และผลกระทบการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดประกันภัยและประกันภัยต่อ
ดังนั้น นวัตกรรมของธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยนับจากนี้ ที่มุ่งสู่เส้นทางแห่งโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆนั้น จะสามารถต้านรับกระแสที่ถาโถมมาอย่างรุนแรงทั้งด้านบวกและลบอย่างไรให้ทันกับการปรับเปลี่ยน ทั้งในแง่ของผู้บริโภค ผู้เอาประกันภัย ประชาชนทั่วไปและในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องไม่ลืมว่าคนไทยมีสมาร์ทโฟนใช้เพื่อการอื่นๆ มากกว่าที่จะเสิร์ชหาข้อมูลสำหรับรูปแบบสิทธิประโยชน์และการซื้อขายประกันภัยในชีวิตประจำวัน