
ขณะที่ชาวเอเชียกำลังกังวลว่าเอเชียบ้านเมืองของพวกเขาจะกลายเป็นสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 3 เหตุจากสหรัฐกับเกาหลีเหนือเป็นตัวจุดชนวน สงครามรูปแบบใหม่ที่สหรัฐเป็นตัวก่อกลับเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ นั่นคือสงครามภาษี
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (coporate tax) เป็นภาษีที่เป็นชนวนสงครามภาษีระหว่างสหรัฐกับชาติบริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างแดน
ภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐถือเป็นภาษีที่แพงที่สุดในโลก คืออัตรา 35%
บริษัทอเมริกันระดับยักษ์ใหญ่ของโลกจึงหนีภาษีแพงในบ้านของตนไปหลบภัยในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำ
ไม่ว่าจะเป็นย่านเอเชียหรือแถบยุโรปเช่นลักเซมเบิร์กและไอร์แลนด์ ที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคลต่ำที่สุดในโลก
การไปตั้งบริษัทในประเทศภาษีถูกนั้น นอกจากภาษีถูกแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่ว่าจะด้านสำนักงาน การจ้างบุคลากร ค่าธรรมเนียม และพิธีการศุลกากรและอื่นๆ ถูกกว่าการดำเนินการในสหรัฐมาก
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ หากตกอยู่ในสหรัฐจะมากพอที่จะทำให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เสียดายจนถึงกับหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นพิจารณาเป็นพิเศษ
“นำเงินเหล่านั้นกลับบ้าน” เป็นเป้าหมายสำหรับการรณรงค์เชิญชวนบริษัทอเมริกันกลับมาลงทุนในบ้านเกิดของตน
เสียงเชิญชวนกลับบ้านของทรัมป์ทำให้นักลงทุนอเมริกันหันกลับมาฟังแบบฟังไปงั้นๆ
ดูท่าทีว่า รัฐบาลสหรัฐจะมีมาตรการอื่นใดมาชดเชยการกลับมาลงทุนที่บ้านเกิดของพวกเขาบ้าง เพราะเรื่องอัตราภาษีนั้น พวกเขาตระหนักดีว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ไม่มีทางที่สภาคองเกรสและวุฒิสภาจะให้ผ่านได้
เป็นไปไม่ได้ที่จะมี tax holiday วันผ่อนคลายภาษีสำหรับบริษัทห้างร้าน เพราะอัตราที่เรียกเก็บ 35% นี้ เป็นอัตราที่กระเบียดกระเสียรอยู่แล้ว
หากจะลดภาษีเงินได้ ทั้งประเภทบุคคลและประเภทนิติบุคคล ให้ใกล้เคียงกับชาติที่บริษัทสหรัฐไปตั้งบริษัทประกอบการแล้ว
กระทรวงการคลังสหรัฐจะสูญเสียรายได้ จนทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในทศวรรษที่จะมาถึงทีเดียว
ทั้งนี้ เพราะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คลังควรจะเก็บได้จากบริษัทสหรัฐที่ไปลงทุนในต่างประเทศนั้น โดยเฉลี่ยปีหนึ่งๆ คิดเป็นเงิน 2.8 ล้านล้านดอลลาร์
แต่แม้จะไม่หวังว่ารัฐบาลสหรัฐจะลดหย่อนภาษีให้ บรรดาบริษัทห้างร้านก็ยังเงี่ยหูฟังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการทางภาษีอันใดมาจูงใจให้บริษัทสหรัฐในต่างแดนกลับบ้าน
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐในยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เคยใช้มาตรการ Tax Holiday มาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทอเมริกันที่ลงทุนในต่างแดนกลับมาลงทุนที่บ้านเกิดด้วยอัตราส่วนลด 5.25% ในปี 2004
ครั้งนั้น รัฐบาลสูญเสียรายได้พึงได้จากภาษีไปถึง 362,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เพราะการลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทคืนถิ่น 5.25% นั้น ทำให้รัฐสูญเสียภาษีพึงได้ไป 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ได้ภาษีจากบริษัทเหล่านั้นมาทดแทนแค่ 60,000-70,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
มีตัวอย่างมาแล้วเช่นนี้ ทำให้กระทรวงการคลังอิดออดไม่อยากทำตาม ที่ทรัมป์เสนอแนะ
แต่กระนั้นรัฐมนตรีคลัง สตีเวน เอ็มนูชิน ก็ยอมตั้งเรต Tax Holiday เป็นแรงจูงใจแก่นักลงทุนอเมริกันกลับบ้านในอัตราส่วนลดมโหฬารถึง 15%
Apple, Pfizer (US), Microsoft, General Electric และ IBM เป็นบรรดาอภิมหายักษ์ที่ทรัมป์หมายตาชวนกลับบ้าน
การลดหย่อนภาษีให้เป็นกรณีพิเศษลักษณะนี้จะผ่านสภาทั้ง 2 หรือไม่ มีคำตอบค่อนข้างแน่ว่า ไม่ ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวแล้วว่า เคยล้มเหลวในสมัยบุช แต่การลดให้ถึง 15% หรือคิดแค่ 20% ของเงินได้ ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจที่แรงกว่า 5.25% ในยุคบุช หากบริษัทอเมริกันจะกลับบ้านกันมากกว่าครั้งนั้น
บริษัทอเมริกันในประเทศไทยก็คงจะคิดเหมือนกัน เพราะอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยนั้น เรียกเก็บ 20% จากกำไรสุทธิที่ได้เกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป และ 15% สำหรับกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนที่ได้ต่ำกว่า 300,000 บาท ยกเว้นกำไรของบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เกิน 3 ล้านบาทต่อปีทั้งนั้น จึงเข้าข่ายเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 20%
หาก Tax Holiday ของทรัมป์ผ่านสภาอัตราภาษีนี้จะเท่ากับอัตราภาษีของไทย...บริษัทอเมริกันในไทยมิหนีกลับบ้านกันหมดหรือ?
หากมองกันที่อัตราภาษีแล้ว ก็น่าจะกลับอยู่หรอก แต่ก็ต้องมองว่า ทรัมป์จะให้ Holiday กันกี่ปี เพราะนับตามวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาก็ไม่เกิน 4 ปี ส่วนสมัยหน้ายังเอาแน่เอานอนไม่ได้
เอาให้อยู่แค่ครบวาระได้ก็ถือว่าบุญนักหนาแล้ว เพราะขณะนี้พวกที่จ้องจะ impeachment ทรัมป์ พากันมองด้วยตาเขม็งว่าเมื่อไรเขาจะพลาดมาเข้าทางปืน
อีกด้านหนึ่งคือ อัตราค่าจ้างแรงงานเปรียบเทียบ
ประเด็นนี้ทรัมป์ขอร้องให้บริษัทอเมริกันเห็นแก่บ้านเกิดเมืองนอน นำทุนกลับมาลงทุนในบ้าน เพื่อให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น
เป้าหมายแรกคือแอปเปิ้ล ที่ไปลงทุนในจีนและเอาท์ซอร์สการผลิตชิ้นส่วนถึง 90% ในผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลโดยเฉพาะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน เพียงแค่ตัวเรือนและชิ้นส่วนหลัก รวมกันแค่ 10% เท่านั้นที่ผลิตในอเมริกา
ค่าจ้างแรงงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทอเมริกันตัดสินใจว่าจะกลับบ้านหรืออยู่ต่อในประเทศที่ 2
ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ (minimum wage rate) ของอเมริกาเฉลี่ยตกชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์ (บางรัฐ 8.35-11.00 ดอลลาร์) หรือเท่ากับ 253 บาทต่อชั่วโมง ทำงาน 5-7 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับ 1,265-1,770 บาท
แรงงานไทยค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ต้นทุนค่าจ้างจะถูกกว่ากี่เท่าตัว?
สงครามภาษีของทรัมป์กับชาติที่ภาษีถูกคงจะยังไม่เห็นผลแพ้ชนะชัดเจนจนกว่าจะมีมาตรการอื่นมาเสริม เพราะไม่ว่าจะเป็นพ่อค้านักธุรกิจหรือคนธรรมดา ไม่ว่าจะสัญชาติใด ล้วนแต่ชอบของดีราคาถูกกันทั้งนั้น