แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย วางแผน 5 ปี เปลี่ยนผ่านให้รองรับทุกกลุ่มลูกค้าพร้อมแข่งขันได้ดีขึ้น ตั้งเป้าขอเป็นแบงก์ขนาดกลางระดับแถวหน้า มีกำไรก่อนหักภาษี 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีขึ้นไป ส่วนปีนี้มั่นใจกลับมามีกำไร ตั้งเป้าสินเชื่อโต 5-10% หนี้เสียต่ำกว่า 5%
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการในภาคอุตสาหกรรมธนาคารของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ความต้องการของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านดิจิทัล คณะผู้บริหารธนาคารจึงได้กำหนดแผนธุรกิจ (Roadmap) ระยะ 5 ปี (2560-2564) เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติด้านการธนาคารรูปแบบใหม่ โดยมีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางระดับแถวหน้าของประเทศ หรือกำหนดนิยามให้เป็นธนาคารมีที่มีกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ระดับ 15,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
“เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในบริบทที่เปลี่ยนไป นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของการทำธุรกิจ ซึ่งพวกเราคณะผู้บริหารต่างมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการจะพาพาธนาคารเติบโตก้าวขึ้นเป็นธนาคารระดับกลางที่แข็งแกร่งที่สุดด้านอาเซียนในประเทศไทย” นายกิตติพันธ์ กล่าวและเผยต่อไปว่า
สำหรับโรดแมป 5 ปี ได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยช่วงที่ 1 (2560-2561) จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเร่งปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นในเวลาอันสั้น มีการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ กระชับขั้นตอนการทำงาน เร่งสร้างการเติบโตของรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินกองทุนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด
ช่วงที่ 2 (2562-2563) เป็นช่วงเวลาแห่งการเพิ่มขีดความสามารถและเร่งเครื่องยนต์ โดยธนาคารจะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากธุรกิจหลัก อันได้แก่ ธุรกิจลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง และดิจิทัล แบงกิ้ง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารเห็นโอกาสที่ดีมากในการเติบโตในธุรกิจเหล่านี้ และหากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย จะช่วยให้ธนาคารเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันสั้น
ส่วนช่วงที่ 3 (2564-2565) จะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการวิ่งเข้าสู่เป้าหมายในการเป็นธนาคารขนาดกลางระดับแถวหน้าของประเทศไทยที่มีจุดแข็งด้านอาเซียนภายในปี 2565 โครงการเปลี่ยนแปลงการทำงาน (Transformation Roadmap) ประสบความสำเร็จตามแผน ก้าวเป็นธนาคารที่แข็งแกร่ง พร้อมต่อการควบรวมและซื้อกิจการเมื่อมีโอกาสเข้ามา และเป็นธนาคารที่บุคลากรผู้มีความสามารถอยากร่วมงานด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดินยุทธศาสตร์ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านได้ถูกทาง ธนาคารจะใช้ความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษาระดับโลกในช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นในเวลาอันสั้น เพื่อช่วยตรวจสอบความเหมาะสม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพนักงาน
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์หลักในปี 2560 จากการที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดีในปี 2559 อย่างไรก็ตาม มีจุดหลักๆ ที่ต้องปรับปรุง คือ การบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไร และการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนให้มีประสิทธิภาพ 3 ข้อนี้นับเป็นหัวใจหลักของการบริหารในปีนี้ ขณะที่ธนาคารมีมุมมองเป็นบวกในธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธุรกิจลูกค้าขนาดใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) ขณะเดียวกัน มีความพร้อมรุกธุรกิจลูกค้า SME หลังได้ปรับโครงสร้างภายในเรียบร้อยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยยุทธศาสตร์หลัก คือ การเดินหน้าลงทุนในโอกาสใหม่ๆ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต เช่น ดิจิทัล แบงกิ้ง และการชะลอธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับ 5C ซึ่งประกอบด้วย Customer, Culture, Compliance, Cost และ Capital
ทั้งนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์ธุรกิจรายย่อยในปี 2560 หลังจากประสบความสำเร็จในปี 2559 ธุรกิจลูกค้ารายย่อยพร้อมแล้วที่จะสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2560 โดยจะมาจาก 3 แกนหลัก ได้แก่ Wealth Management พันธมิตร และดิจิทัล แบงกิ้ง ซึ่งธุรกิจ Wealth Management ธนาคารจะปรับโมเดลจาก ‘สาขา’ สู่ ‘Wealth Center’ เพื่อให้บริการลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น ด้วยบริการที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน จะขยายขอบเขตความความร่วมมือกับพันธมิตรในปัจจุบัน และจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรรายใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น สุดท้ายคือ การเดินหน้ายุทธศาสตร์ดิจิทัล แบงกิ้ง เตรียมความพร้อมในการฉีกรูปแบบธุรกิจเดิมๆ สู่รูปแบบใหม่ ต่อยอดจากสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว และแสวงหานวัตกรรมที่จะช่วยให้ธนาคารแข่งขันได้ในตลาด
ทางด้านยุทธศาสตร์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปี 2560 ซึ่งในปีที่ 2559 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของธนาคารได้ปรับโครงสร้างภายในและพร้อมจะเดินหน้าเติบโตในปีนี้ โดยจะเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้กระบวนการภายในได้รับการปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานด้วยขั้นตอนและการส่งมอบบริการโดยใช้เวลาสั้นลง ปีนี้ธนาคารจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและความสามารถของพนักงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างยั่งยืน
ส่วนยุทธศาสตร์ธุรกิจลูกค้าขนาดใหญ่ในปี 2560 จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่บริษัทเอกชนที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การไปอาเซียนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจนี้ ผ่านการขายผลิตภัณฑ์ข้ามกลุ่ม (cross-sell) นอกจากนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจต่อไปโดยการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ควบคุมต้นทุน และบริหารผลกำไรอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
“เป้าหมายสำคัญของเราในปีนี้เป็นการกลับมาสร้างผลกำไร (ปี 2559 ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 629.53 ล้านบาท) โดยจะเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เป็นกว่า 6% อัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมธุรกรรมตลาดเงิน 5-10% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) เพิ่มเป็น 3.8% โดยประมาณ ในปีนี้ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5% จากสิ้นไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 5.1%”