
ทีเอ็มบี ดัน “ปิติ ตัณฑเกษม” ขึ้นซีอีโอ “บุญทักษ์" บอกอาจลาออกก่อนครบวาระสิ้นปี 61 เมื่อ”ปิติ”พร้อมรับตำแหน่งแทน เหตุอยากพักเต็มที ด้านแนวทางทำแบงก์ยังยึดถือการสร้างความแตกต่างจากแบงก์อื่น มอบสิ่งที่ดีที่สุด ประโยชน์สูงสุดให้ลูกค้า ปีนี้คงเป้าสินเชื่อโต 8% กดหนี้เสียไม่เกิน 2.5%
จากกรณีที่คณะกรรมการ ทีเอ็มบี (TMB) หรือธนาคารทหารไทย ได้ต่อวาระให้ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 2 ปี จากเดิมหมดวาระในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นหมดวาระในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยปัจจุบันเหลือวาระในการดำรงตำแหน่งอีกราว 1 ปีครึ่ง
อย่างไรก็ดี นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากฝั่งกระทรวงการคลังและกลุ่มไอเอ็นจี (ING Bank) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เห็นชอบแล้วที่จะให้ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ของทีเอ็มบีขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน ขณะที่ตนเองอาจลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารก่อนครบวาระวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เมื่อนายปิติเรียนรู้งานจนสามารถขึ้นมารับตำแหน่งแทนได้
“ในเร็วๆ นี้อาจมีการปรับตำแหน่งให้คุณปิติขึ้นมาเป็น CFO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน) เพื่อให้คุณปิติมองเห็นตัวเลขทั้งหมดของแบงก์และกำหนดแนวทางการทำงานของแบงก์ก่อนที่จะขึ้นรับตำแหน่ง CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) เมื่อคุณปิติพร้อม ผมก็อาจลาออกก่อนครบวาระ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับคุณปิติพร้อมเมื่อไหร่ ลาออกแล้วก็จะได้ไปพักผ่อน ไปท่องเที่ยวจริงๆ ตามที่ตั้งใจไว้สักที ยอมรับว่าตลอดเวลาที่ทำงานค่อนข้างเครียด ความดัน (โลหิต) ขึ้นสูง หมอบอกให้พักผ่อนได้แล้ว ตอนสงกรานต์ได้พักผ่อนหลายวันปรากฏว่าความดันลดลงไปเยอะ ถ้าได้พักผ่อนจริงๆ น่าจะดี” นายบุญทักษ์ กล่าว
ขณะที่เมื่อยังคงเป็น CEO ต่อไป นายบุญทักษ์ กล่าวถึงการทำงานให้ทีเอ็มบีและแผนธุรกิจของทีเอ็มบีในปี 2560 ว่า ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยึดแนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น เป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าใช้ชีวิตได้เต็มที่ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและง่าย ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการของทีเอ็มบีที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ทีเอ็มบี สร้างความเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น โดยยึด Brand DNAs ใน 4 เรื่องหลัก คือ ท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่ (Challenge Status Quo) ฉลาด รู้จริง (Intelligent) จริงใจ (Genuine) ง่ายใช้งานได้จริง (Simple&Easy) ทั่วทั้งองค์กรอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการตอบโจทย์ลูกค้าอย่างตรงจุด ริเริ่มพัฒนาและคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการที่ลูกค้าไม่เคยได้รับมาก่อน (Under Served) และไม่เคยมีมาก่อนในธุรกิจธนาคาร อาทิ บริการฝาก ถอนเงินไม่ต้องใช้สลิป (No Slip) แบ่งประเภทบัญชีเงินฝากตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้เป็นบัญชีเงินฝาก ประเภทเพื่อใช้ (Transactional Account) และ เพื่อออม (Savings Account) เปิดกว้างการซื้อกองทุนรวมจากบริษัทจัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงผ่าน TMB Open Architecture ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกซื้อกองทุนหลากหลายได้ในที่เดียวจบ ME by TMB ธนาคารดิจิทัลรายแรกของไทย ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 300,000 ราย ทีเอ็มบี ทัช โมบายแอปพลิเคชั่น (TMB Touch) และล่าสุด ทีเอ็มบี บิสซิเนส ทัช (TMB Business Touch) ที่มุ่งตอบโจทย์ด้านธุรกรรมทางการเงินให้กับลูกค้าธุรกิจโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังไม่หยุดที่จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์และบริการที่จริงใจ (Genuine) ด้วยการยกเลิกเงื่อนไขยิบย่อยเล็กๆ ที่ระบุไว้ด้วยเครื่องหมายดอกจัน ด้วย ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) ที่ให้ลูกค้ากด โอน จ่าย ทั้งชีวิต ฟรี ไม่มีดอกจัน
สิ่งที่ทีเอ็มบีจะทำต่อไปเพื่อลูกค้า คือ จะไม่หยุดพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้ลูกค้าสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่ในแบบที่ต้องการ โดย 1. เป็นธนาคารเพื่อการทำธุรกรรมที่ดีที่สุด พร้อมเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายและสะดวก 2. ให้ลูกค้ายิ่งทำธุรกรรมมาก ยิ่งได้ประโยชน์มาก 3.Need Base approach ด้วยบริการที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของธนาคารในนี้ ยังคงเป้าหมายขยายสินเชื่อที่ 8% จากสินเชื่อคงค้างช่วงสิ้นปี 2559 ที่ 6.8 แสนล้านบาท แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกสินเชื่อยังขยายตัวไม่มากเพียง 1% ซึ่งเป็นการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และ สินเชื่อเอสเอ็มอี หากในช่วงที่เหลือของปีเชื่อว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารจะรุกหนักทางด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนให้สูง
ส่วนทางด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 2/2560 คาดว่าน่ายังเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2560 ซึ่งธนาคารจะพยายามควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2.5% ของสินเชื่อรวม ขณะเดียวกันธนาคารยังมีการตั้งสำรองในระดับสูงเพื่อทำให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เฉลี่ยทั้งปีในปีนี้อยู่ที่ 140-150% จากสิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 144%
ด้าน นายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวทางการตอบโจทย์ลูกค้าบุคคลของทีเอ็มบีก็เช่นเดียวกัน คือ ยึดแนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของลูกค้าบุคคลในยุคปัจจุบันที่มีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น ด้วยการเน้นเรื่องของการให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ความจริงใจ ลงในผลิตภัณฑ์และบริการของทีเอ็มบี อาทิ ตอบโจทย์เรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าด้วยความจริงใจ ผ่านเงินฝากบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี ที่ลูกค้ากด โอน จ่าย ได้ฟรีทั้งชีวิต ไม่มีดอกจัน ลูกค้าสามารถกดเงินต่างธนาคาร โอนเงินข้ามเขต จ่ายบิลโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โอนเงินต่างแบงก์โดยที่ปลายทางรับเงินทันที ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรีทุกเงื่อนไขอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้ากว่า 2 ล้านรายเลือกใช้ทีเอ็มบีเป็นธนาคารหลัก นอกจากนี้ เพียงผูกพร้อมเพย์กับบัญชี ทีเอ็มบี อลลล์ ฟรี จะทำให้ลูกค้าสามารถโอนเงินได้อย่างสะดวกโดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ
สำหรับลูกค้าที่รักการออม ชอบผลตอบแทนสูง บัญชีเงินฝากไม่ประจำ ดอกสูง (TMB No Fixed) เพิ่มระดับความพึงพอใจด้วยดอกเบี้ยสูงถึง 1.6% เมื่อลูกค้าคงเงินหรือฝากเพิ่มในแต่ละเดือน มีจำนวนลูกค้า 2.1 ล้านราย
ส่วนลูกค้าที่นิยมการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือ ทีเอ็มบี ทัช โมบายแอปพลิเคชั่น (TMB Touch) เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น โดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคารเลย ลูกค้าสามารถใช้จ่ายบิล โอนเงินและดูข้อมูลสถานะการเงิน พอร์ตการลงทุน และประกันได้แล้ว ยังสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ เปิดใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต และสามารถใช้บริการแบ่งชำระผ่าน So GooOD โดยเลือกรายการที่ต้องการแบ่งจ่าย 0% 3 เดือน ได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการกว่า 1 ล้านราย
ทั้งนี้ ลูกค้าในยุคดิจิทัลซึ่งเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล ด้วยบริการขอข้อมูลและสมัครผลิตภัณฑ์ออนไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าทุกที่ทุกเวลา โดยที่พนักงานจะโทรกลับในเวลาไม่เกิน 5 นาที (Call Me Now) และในปี 2560 มีบริการให้คำปรึกษาทางการเงินการลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อน โดย Remote Expert ณ สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า สาขาสยามพารากอน สาขาฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต สาขาแฟชั่น ไอส์แลนด์ สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ สาขาเดอะมอลล์ นครราชสีมา และสาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรึกษาเรื่องการลงทุนกับผู้เชียวชาญโดยตรง โดยธนาคารมีแผนงานขยายจำนวนสาขาเป็น 20 สาขา ภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้
“สิ่งที่ลูกค้าบุคคลจะได้รับจากทีเอ็มบีและทำให้สามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่ในแบบที่ต้องการ คือ การทำธุรกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ในเวลาที่ลูกค้าต้องการและช่องทางที่ลูกค้าสะดวก ใช้ระบบดิจิทัลที่ง่าย สะดวกมากขึ้น และมีประสบการณ์ที่ดีตลอดเวลาที่ใช้บริการกับทีเอ็มบี” นายรูว์ กล่าว
ส่วน นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี กล่าวว่า ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับลูกค้าเอสเอ็มอีด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมากับลูกค้าเสมอมา มองว่าค่าธรรมเนียมเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย ดังนั้น จึงได้เริ่มยกเว้นค่าธรรมเนียมข้ามเขต ค่าธรรมเนียมเช็คเรียกเก็บ ให้กับลูกค้าทีเอ็มบีตั้งแต่ปี 2556 ช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีประหยัดค่าธรรมเนียมไปได้ 150 ล้านบาทใน 4 ปีที่ผ่านมา และยกระดับเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน ข้ามเขต ข้ามแบงก์ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ ล่าสุดได้ใช้เทคโนโลยี เข้ามาทำให้เรื่องธุรกรรมรับ-จ่ายสะดวกขึ้น โดยเชื่อมโยงบัญชีธุรกิจ TMB SME One Bank เข้ากับช่องทางดิจิทัล คือ TMB Business Touch ซึ่งเป็นโมบายแอปพลิเคชั่นตัวแรกของไทย ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อ SME โดยเฉพาะ สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ สามารถใช้ TMB Business Click ธนาคารออนไลน์ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างแท้จริง เพิ่มความสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา และทุกครั้ง มีการทำธุรกรรมผ่านทาง TMB Business Click มากกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 67% นอกจากนี้ หากลูกค้าเดินบัญชีกับทีเอ็มบีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Promptpay , EDC หรือการเดินบัญชีปกติ ก็จะมีสิทธิ์ได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารสามารถวิเคราะห์การทำธุรกรรมรับ- จ่ายของลูกค้าตลอด จนทำให้ทราบได้ทันทีว่าลูกค้ามีความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมหรือไม่
ปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอีได้รับการสนองตอบด้านสินเชื่อที่เป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจธนาคาร ได้รับเงินทุน 3 เท่าของหลักประกัน โดยทีเอ็มบีเริ่มให้สินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าของมูลค่าหลักทรัพย์เป็นรายแรก ส่งผลให้ขยายฐานลูกค้าได้มากกว่า 7,000 ราย ในปีแรกด้วยวงเงิน 58,000 ล้านบาท และมีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง ในปีถัดมาเป็นสินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าพลัส โดยลูกค้าได้รับการค้ำประกันทั้งจากบสย. และ International Finance Corporation หรือ IFC ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น15,000 ราย วงเงินเพิ่มเป็น 140,000 ล้านบาท ล่าสุด ทีเอ็มบีสนับสนุนให้ลูกค้าใช้หลักประกันรูปแบบใหม่ในการเพิ่มวงเงินเป็นธนาคารแรก หรือ สินเชื่อทีเอ็มบีเอสเอ็มอี 3 เท่า พร้อมเพิ่ม
ขณะที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่า การสนับสนุนเงินทุนในระบบ Supply Chain เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อแต่ละหน่วยธุรกิจใน Supply Chain แข็งแกร่ง จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ทั้ง Supply Chain จึงเริ่มให้การสนับสนุนเงินกู้ให้กับ Supply Chain ของลูกค้า เช่น ปตท. บุญรอด SCG คูโบต้า และเซ็นทรัล รวมถึงลูกค้าของลูกค้า ซึ่งก็คือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาต่อยอด ทำให้ลูกค้าของลูกค้าของลูกค้า หรือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และเมื่อทั้ง Supply Chain แข็งแกร่ง ก็สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้าได้ และในปัจจุบันได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ ทำให้เป็นระบบ Paperless ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถจัดเก็บข้อมูลและนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามีมูลค่าการชำระเงินกว่า 81,000 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของยอดขายของลูกค้าทีเอ็มบี
ส่วนในเรื่องของความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้นำเข้าและส่งออก ลูกค้าจำเป็นต้องได้รับข้อมูลแนวโน้มเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ และต้องการคำแนะนำที่มีประโยชน์ประกอบการตัดสินใจอย่างเร่งด่วนเสมอ ทีเอ็มบีจึงได้พัฒนา FX Simulation เพื่อเป็นเครื่องมือให้ลูกค้าร่วมวางแผนบริหารความเสี่ยงกับผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ลูกค้าสามารถทำได้ด้วยตนเอง และลองวางแผนในหลาย ๆ สถานการณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและควบคุมความเสี่ยง ช่วยให้ลูกค้าสามารถได้ผลกำไรตามที่ได้คาดการณ์เอาไว้
ทีเอ็มบียังคงพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงธุรกิจซัปพลายเชนอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปพร้อมกับลูกค้าธุรกิจทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที
ส่วน นายบุญทักษ์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการ Make THE Difference เพื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลแล้ว ธนาคารยังดำเนินการเพื่อ Make THE Difference ต่อชุมชนและสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่าน ”ไฟ-ฟ้า” กิจกรรมเพื่อการพัฒนาเยาวชนและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา “ไฟ-ฟ้า” ได้จุดประกายการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในชุมชนด้วยการเข้าถึงการเรียนรู้ศิลปะและทักษะชีวิต ผ่านศูนย์ ”ไฟ ฟ้า” 4 แห่ง ได้แก่ ประดิพัทธ์ จันทน์ ประชาอุทิศ และบางกอกน้อย โดยมีเยาวชนมาเรียนรู้ที่ศูนย์ ”ไฟ-ฟ้า” มากกว่า 60,000 ครั้งต่อปี และ ”ไฟ-ฟ้า” ยังได้ขยายการเรียนรู้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 140,000 คน ในปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังเปิดโอกาสให้พนักงานทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่ช่วยกันทำกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 37 แห่ง และมีพนักงานทีเอ็มบีมากกว่า 50% หรือ 4,500 คนเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ
สำหรับเป้าหมายในปี 2560 ในส่วนของเยาวชน ตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าถึงเยาวชนผ่านการเรียนรู้ที่ศูนย์ ”ไฟ-ฟ้า” เพิ่มมากกว่า 10% อาสาสมัครทีเอ็มบีเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 คน ทั้งองค์กร และสานต่อกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนให้กับชุมชนอีก 37 แห่งทั่วประเทศ