top of page

Sell in May and Come Back again...แนะดักซื้อหุ้นแบงก์/พลังงาน


SET Index ตื้อๆ ตันๆ ก้าวข้ามไม่ผ่าน 1570 จุดต่อเนื่องกว่า 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนเป็นต้นมา ส่งผลให้เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคมเป็นภาวะที่ไม่มีความมั่นใจ ยิ่งตอกย้ำว่าจะเกิดภาวะ Sell in May and Go away ทำให้แนวโน้มตลาดไม่สดใส มองว่าการขึ้นสู่ 1620-1650 เป็นเรื่องลำบากและเป็นไปได้ยาก... โดยเฉพาะตลาดไทยที่ขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่มีอิมแพ็คแรงๆเข้ามากระตุ้น และต้องอาศัยพลังนักลงทุนต่างชาติเป็นหลักที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อจากนักวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่า การขายในเดือนพฤษภาคม ที่เรียกว่า Sell in may ไม่น่าเกิด หรือเกิดก็ไม่น่าจะรุนแรง หรือแกว่งตัวออกด้านข้างเสียมากกว่า และหุ้นไทยจะพลิกกลับเป็นขาขึ้นได้ในที่สุด แบบ Sell in may and Come back

ทีมวิเคราะห์จาก บล. ทรีนีตี้ ประเมินปัจจัยแวดล้อมต่างๆแล้ว ระบุว่า แนวโน้มดัชนีเดือนพฤษภาคม ยังอยู่ในกรอบ 1540-1590 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม จะแกว่งตัวออกด้านข้างต่อไปในกรอบ 1540 – 1590 จุด โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงมาบริเวณกรอบแนวรับด้านล่าง 50 เหรียญต่อบาร์เรลน่าจะเริ่มมี Downside risk ที่จำกัด เนื่องจากยังคงคาดการณ์ว่าในท้ายที่สุด ที่ประชุมกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้จะมีมติขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปจากเดิม

นอกจากนี้หากพิจารณาในแง่มูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยถือว่าเริ่มอยู่ในระดับที่พอรับได้ เนื่องจากประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนเริ่มถูกปรับขึ้นเล็กน้อยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จนทำให้ล่าสุดคาดการณ์ EPS ของ SET Index ปลายปีนี้อยู่ที่ 102.8 บาท ซึ่งหากเทียบเคียงกับระดับดัชนีปัจจุบันจะพบว่าซื้อขายอยู่บริเวณ Forward PE 15.2 เท่า ถือว่าไม่สูงจนเกินไปนัก

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบที่ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ คาดว่านายเอมมานูเอล มาครง จะชนะ นางเมอรีน เลอ เพน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ประเด็นนี้ก็อาจจะทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมถึงไทยมีโอกาสปรับตัว Underperform ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ในช่วงสั้นๆได้

ส่วนปัจจัยลบที่ต้องติดตามก็คือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 13-14 มิถุนายน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ จะขึ้นดอกเบี้ย (หลังจากการประชุมวันที่ 3 พฤษภายังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย) แต่นักลงทุนในตลาดยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก สะท้อนจากความน่าจะเป็นจาก Fed Funds futures ที่อยู่เพียง 70% เท่านั้น หากในช่วงถัดไปนักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะทยอยปรับตัวสูงขึ้น และเป็นตัวกดดันให้กระแสทุนต่างชาติไหลออกได้บางส่วน

“สำหรับกลยุทธ์แนะนำนักลงทุนใช้บริเวณกรอบแนวรับ 1540-1550จุด ในการเข้าสะสมหุ้น มองกลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มมีความน่าสนใจในแง่ของมูลค่าพื้นฐาน หลังจากที่ราคาปรับตัวลงมาแรง โดยล่าสุดซื้อขายที่ระดับ Forward PBV และ Forward PE ต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน แนะนำ SCB สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก เลือก TISCO และ TCAP

นอกจากนั้นแนะนำสะสมหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีเมื่อมีการอ่อนตัว เช่น PTT, PTTEP, PTTGC เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เห็นแนวโน้มของการปรับเพิ่มประมาณการ และเพื่อรอลุ้นข่าวดีที่อาจเกิดขึ้นจากการประชุมกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในช่วงปลายเดือนนี้”

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงไปแตะระดับต่ำสุด 47.36 เหรียญ บ่งชี้ความกังวลที่มีต่อ supply ของน้ำมันดิบจากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯและบางประเทศ เช่นลิเบีย เรามองตัวแปรนี้ว่าจะเป็นลบต่อผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน

ทั้งนี้ปัจจัยในประเทศ การเข้ามาเก็งงบไตรมาส 1 จะยังมีผลต่อหุ้นเป็นรายตัว ด้านเศรษฐกิจเองกำลังถูกจับตามองในเรื่องแรงส่งทางเศรษฐกิจจากปัจจัยหนุนภาครัฐว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ และ NPLs ของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง จะเป็นผลให้ดัชนีฯ มีแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบแคบๆอยู่ต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากการรอคอยตัวแปรหลายๆ ตัวที่ยังไม่ชัดเจน ทั้งเรื่อง เกาหลีเหนือ , ประชุม FOMC และเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

"จากแนวโน้มดัชนีฯ ที่จะแกว่งตัวแบบ sideway ไปอีกระยะหนึ่ง นักลงทุนอาจเลือกที่จะปรับลดพอร์ตลง เพื่อลดความเสี่ยงลง สำหรับนักเก็งกำไร ควรจับจังหวะเป็นรอบเน้นเล่นสั้นแบบ ลงซื้อ ขึ้นขาย”

38 views
bottom of page