top of page

กลุ่มสินค้าคนแก่: ตลาดที่โตวันโตคืน


ในอีก 8 ปีข้างหน้า คนแก่จะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ หากอัตรา เกิด:ตาย 1:20 ตลาดสินค้าและบริการคนแก่โตไม่หยุด ขายคนไทยไม่พอ ตลาดสูงวัยต่างชาติยังสนใจ ยกให้ไทยเป็นชาติที่เหมาะสมกับการใช้บั้นปลายของชีวิตด้วยค่าครองชีพที่ถูก แต่อยู่สบายอันดับ 3 ของโลก

สินค้าสำหรับคนชราหรือตลาดสินค้าคนแก่ของเมืองไทยที่ขณะนี้กำลังโตวันโตคืนก็คือบ้านพักคนชรา

แต่เป็นการโตด้านอุปทาน เนื่องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างมองตลาดที่พักอาศัยของคนชราด้วยสายตาเดียวกันคือประชากรสูงวัยของไทยนับวันแต่จะเพิ่มขึ้น

สังคมไทยที่เคยอาศัยกันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แนวโน้มเป็นการอยู่แบบครบครัวเดี่ยวมากขึ้น ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพังและถูกทอดทิ้งมากขึ้น

เป็นการมองที่ถูกด้านเดียวคือด้านซัปพลาย ไม่ได้มองด้านอุปสงค์ ที่แม้ผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแบบเรขาคณิต แต่ความต้องการต่ำ..สาเหตุคือ กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มคนชราต่ำมาก เหตุจากรายได้ของคนชราต่ำ

รายได้หลักของคนชรามาจาก 1. ลูกหลานให้ 2. สวัสดิการรัฐเช่นเบี้ยคนชรา 3. ค่าจ้างสำหรับคนที่ยังทำงานอยู่ 4. เงินบำเหน็จ บำนาญ 5.เงินออม

ในส่วนของซัปพลาย บ้านพักคนชรามีต้นทุนบริหารสูง โดยเฉพาะด้านดูแลสุขภาพ ทำให้ต้องตั้งราคาขาย/ให้เช่า/เซ้งในราคาสูง...มีอยู่รายหนึ่งตั้งราคาไว้ถึง 40,000 บาทต่อเดือนต่อหัว

เป็นการสวนทางที่ทำให้คนชราที่ลูกหลานไม่ร่ำรวยไม่สามารถจะจัดหาที่พักที่เหมาะสมกับรายได้ทั้งของคนชราเองและในส่วนของลูกหลานที่รับภาระ

ยังมีอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ คือกลุ่มคนชราหรือคนวัยเกษียณอายุงานต่างชาติ

มีข่าวคราวเกี่ยวกับการแนะนำแหล่งพักพิงปัจฉิมวัยจากประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงค่าครองชีพสูงออกมาบ่อยๆ ว่า ประเทศโน้นประเทศนี้เหมาะสมกับที่คนชราของประเทศพัฒนาแล้วควรไปใช้ชีวิตในบั้นปลาย ด้วยงบประมาณที่พวกเขาพอจะดูแลตัวเองได้

อย่างรายหนึ่งตั้งประเด็นเป็นคำถามว่า Retirement Funds Too Little? Retire Abroad.กองทุนเกษียณให้น้อยเกินไปหรือ ? ไม่ลองไป (เกษียณ) อยู่ต่างประเทศดูล่ะ

แล้วก็เสนอรายงานสำรวจแหล่งที่คนสูงวัยสามารถอยู่อาศัยได้ด้วยเงินบำเหน็จ บำนาญ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ 30 ปี หรือจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

ถ้าเกษียณอายุที่ 60 ปี ก็จะอยู่ไปจนถึง 90 ปี แต่ถ้าอายุยืนกว่านั้น ก็คงต้องต่ออายุกับกองทุนบำเหน็จบำนาญกันใหม่

แต่คนอายุขัยเลย 90 ปีนั้น คงมีไม่มาก อย่างประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากหรือมีอายุยืนที่สุดคือญี่ปุ่นนั้น อายุขัยเฉลี่ย 82.6 ปี รองลงมาฮ่องกง 82.2 ปี สวิตเซอร์แลนด์ 82.1 ปี

สำหรับคนไทย อยู่อันดับที่ 111 ของโลก อายุขัยเฉลี่ย 70.3 ปี โดยประชากรหญิงอายุเฉลี่ยสูงถึง 75.3 ปี ประชากรชายแค่ 66.5 ปี

จำนวนประชากรสูงวัยของไทยอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง 12.59% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ คือประมาณ 8.5 ล้านคน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า หากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยที่ 20% เช่นนี้ไปอีก 8 ปี คือปี 2568 จำนวนส.ว.ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน

จำนวนคนเกิดมีต่ำมาก คือ 1.0% ต้นๆ ขณะที่คนตายลดลง เท่ากับไปเพิ่มจำนวนประชากรสูงวัยมากขึ้น ในสัดส่วน เกิด:ตาย 1:20

จึงกังวลกันว่า เมื่อถึงเวลาเศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ กำลังผลิตทั้งประเทศกลับมาเต็มศักยภาพจากขณะนี้ที่ต่ำกว่าศักยภาพถึง 40%

ไทยจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานรุนแรง รัฐบาลจึงพยายามกระตุ้นให้คนไทยมีบุตรมากขึ้นด้วยการให้เงินค่าเลี้ยงดูบุตรในวัยปฐมวัย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนวัยเกษียณอายุด้วยการให้การลดหย่อนภาษีแก่บริษัทห้างร้านที่จ้างคนสูงวัยทำงาน

สำหรับสวัสดิการของคนชรานั้น นอกจากเบี้ยยังชีพแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือที่พักที่มีการดูแลด้านสุขภาพระดับมาตรฐาน

ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนชราไทยนั้น เท่าที่ประเมินกันด้วยภาวะความเป็นอยู่และค่าครองชีพระดับกลางนั้น อยู่ที่ 12,000 บาทต่อเดือน หรือ 144,000 บาทต่อปี

นี่คือที่มาของการตั้งเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา 1,250 ต่อเดือนหรือ 15,000 บาทต่อปี เพื่อไปเติมให้แก่ผู้ชราที่มีรายได้ปีละไม่เกิน 100,000 บาท..เป็นสมมุติฐานว่า คนชราไทยอยู่ได้ด้วยเงินระดับนี้

การที่สื่ออเมริกันกำหนดว่า มี 8 ประเทศรวมทั้งไทยที่คนอเมริกันเกษียณอายุแล้วสามารถไปอยู่ได้อย่างสุขสบายด้วยเบี้ยบำนาญ 200,000 ดอลลาร์ เป็นเวลา 30 ปี ก็ด้วยสมมุติฐานลักษณะนี้

เงิน 200,000 ดอลลาร์ 30 ปี เท่ากับปีละ 6,600 ดอลลาร์หรือ 227,700 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 34.50 บาท/ดอลลาร์) ต่อปี หรือ 18,975 บาทต่อเดือน

ประเทศที่เหมาะสมสำหรับอเมริกันชราที่ได้เบี้ยบำนาญระดับนี้ 8 ประเทศเรียงตามลำดับการอยู่อย่างสบายวัดจากมาตรฐานกลางได้แก่

1. เอกวาดอร์ ค่าครองชีพต่อหัวเฉลี่ย 498.76 (ประมาณ 17,207 บาท)

2. นิการากัว ค่าครองชีพ ใกล้เคียงกับเอกวาดอร์

3. ไทย ค่าครองชีพต่อหัวจากการสำรวจของสำนักข่าวแห่งนี้ 554 ดอลลาร์(ประมาณ 19,113 บาท) ใกล้เคียงกับการประเมินของไทยเราเอง

4. เบลีซ ค่าครองชีพต่อเดือนตั้งต้นที่ 1,619 ดอลลาร์ หรือประมาณ 55,856 บาท

5. ปานามา ค่าครองชีพต่อหัวต่อเดือน 720 ดอลลาร์ (ประมาณ 24,840 บาท)

6. คอสตาริกา 666 ดอลลาร์ (ประมาณ 22,977 บาท)

7. มาเลเซีย 452 ดอลลาร์ (ประมาณ 15,594 บาท)

8. สเปน 694 ดอลลาร์ (ประมาณ 23,943 บาท)

ค่าครองชีพถัวเฉลี่ยของคนไทยระดับนี้ถือว่าสูงมาก แต่หากแยกเป็นรายภาค รายท้องถิ่นแล้ว จะต่ำกว่านี้มาก อย่างภาคอีสานนั้น ระดับหมื่นต้นๆนับว่าหรูมากแล้ว ส่วนที่เกินจากนั้น เป็นงบฯเผื่อไว้เป็นค่าเลี้ยงดูเมียไทยและญาติๆ

สงกรานต์ที่ผ่านมานี้ ฝรั่งสูงวัยออกมาสาดน้ำกันหนาตากว่าปีก่อนๆ...ส่งสัญญาณว่า อีก 4-5 ปีข้างหน้า เขยฝรั่งจะเต็มบ้านเต็มเมืองอีสานบ้านเฮา

428 views
bottom of page