
คลังเคาะ 2 กลุ่มแบงก์ EDC Pool แข่งวางเครื่อง EDC ทั่วประเทศ 5.6 แสนเครื่องให้เสร็จภายในไตรมาสแรกปี 61 เผยลดค่าธรรมเนียมรูดบัตรจาก 1.5-1.8% ของยอดชำระ เหลือแค่ 0.55% ถูกสุดบนโลก ช่วยร้านค้าตัดสินใจวางเครื่องง่ายขึ้น ทั้งจ่ายแค่ค่ามัดจำเครื่องเสียหายอย่างเดียว พร้อมจัดแคมเปญลดภาษีค่าธรรมเนียมการรูด 2 เท่า แถมให้คนรูดและร้านลุ้นรางวัลรวม 84 ล้านบาท ด้าน 2 กลุ่มแบงก์อวดสรรพคุณ กวักเรียกร้านค้าให้ไปวางเครื่อง
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดทำและผลักดันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยอำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม สำหรับโครงการแรกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay)
ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการขยายการใช้บัตร หรือขยายเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น จากเดิมทั้งประเทศมีเครื่องรับบัตรเพียงประมาณ 400,000 เครื่อง และกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ โดยได้มีการลงนามกับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้บริการเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) จำนวน 2 ราย คือ กลุ่ม Thai Alliance Payment System หรือกลุ่ม TAPS ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันของธนาคาร 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต และ กลุ่มกิจการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย
ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้ทั้ง 2 กลุ่ม กระจายการวางเครื่อง EDC แก่หน่วยงานภาครัฐ และร้านค้าทั่วประเทศที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้คัดเลือก รวมทั้งหมดประมาณ 560,000 ราย (เครื่อง) ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2561 รวมทั้งได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการรับชำระด้วยบัตรเดบิตที่ปกติเก็บในอัตรา 1.5-2.5% ของมูลค่าเงินที่ชำระ เหลือเพียงไม่เกิน 0.55% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ถูกที่สุดในโลก ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้กับร้านค้าและจูงใจให้ร้านค้าเลือกรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ขณะเดียวกันจะไม่มีการเก็บค่าเช่าและค่าติดตั้งอุปกรณ์จากร้านค้า แต่อาจมีการเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย ซึ่งร้านค้าจะได้รับเงินมัดจำคืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องรับบัตร โดยให้ร้านค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการรับบัตร (MDR) ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ร้านค้ามีความต้องการติดตั้งเครื่อง EDC มากขึ้น อีกทั้งกระทรวงการคลังยังจะมีมาตรการจูงใจผ่านการชิงโชคการใช้บัตรเดบิตให้ประชาชนและร้านค้า เพื่อกระตุ้นการใช้บัตรและชำระเงินในระบบอีเพย์เมนต์ โดยจะจัดแคมเปญแจกรางวัล ให้ผู้ใช้และร้านค้าได้มีสิทธิ์ลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตรและตู้ ATM เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 (สำหรับผู้ที่ใช้บริการในเดือนพฤษภาคม 2560) ซึ่งรางวัลจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 84 ล้านบาท
ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย จับมือร่วมกันในชื่อ “กิจการการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์” ได้รับการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลัง เข้าร่วมดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ในการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) จำนวน 560,000 ราย ทั่วประเทศ โดยมั่นใจว่าด้วยความแข็งแกร่งของฐานร้านค้ารับบัตรเครดิตเดิมของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยที่รวมกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% จะช่วยให้การดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาล และจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในการชำระเงินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนไทย
โดยเฉพาะการรับบัตรที่มีโครงสร้างเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทย (Local Card Scheme) หรือบัตรที่มีการประมวลผลในประเทศ (Local Switching) ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีแบรนด์ เทคโนโลยี และกฎข้อบังคับของตนเอง ที่จะทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมต่ำลง สอดคล้องกับโครงการในครั้งนี้ที่ได้มีการกำหนดเพดานอัตราค่าธรรมเนียมการรับบัตร (Merchant Discount Rate) หรือ MDR สูงสุดไม่เกิน 0.55% ต่อครั้ง ดึงดูดให้ร้านค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ยินดีรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตมีจำนวนขยายตัวในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น
ส่วน นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพจะเพิ่มความมั่นใจให้กับร้านค้าต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองธนาคารมีกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกัน สามารถจัดสรรเป้าหมายและแบ่งภาระความรับผิดชอบได้ชัดเจน มีการวางแผนความร่วมมือในระยะยาว ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศให้ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ
สำหรับโครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการติดตั้งเครื่อง EDC กับหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าไปมีส่วนในการขยายบริการทางการเงินให้กับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับการเข้าติดต่อร้านค้านิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นอีกช่องทางในการขยายฐานลูกค้า และเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการตัดสินใจด้วย
ขณะที่ มีรายงานข่าวจากกลุ่ม TAPS ว่า การจัดตั้งกลุ่ม TAPS มีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ และสร้างเครือข่ายการให้บริการที่แข็งแกร่ง จากการจับมือของ 5 ธนาคารสมาชิก ได้ร่วมกันพัฒนาฟังก์ชั่นในการใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน เพราะเป็นการระดมสมองจาก 5 แบงก์ใหญ่ เครื่องรับบัตรกลุ่ม TAPS จึงเป็นเครื่องรับบัตรรูปแบบใหม่ แตกต่างจากเครื่องรับบัตรแบบเดิมๆ สามารถเพิ่มช่องทางการจัดโปรโมชั่นระหว่างร้านค้ากับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเข้าถึงลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก เพราะในตัวเครื่องจะรวมฟังก์ชั่นพิเศษของทั้ง 5 ธนาคารสมาชิกไว้ในเครื่องเดียว เช่น ฟังก์ชั่นการผ่อนชำระ และฟังก์ชั่นการสะสมแต้ม ทำให้ร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีหลายเครื่องเพื่อรองรับบัตรของแต่ละธนาคารอีกต่อไป จะช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านการลงทุนและการใช้งานแก่ร้านค้าได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง ด้วยจำนวนผู้ถือบัตรเดบิตและบัตรเครดิตของทั้ง 5 ธนาคารซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทำให้ร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องรับบัตรของกลุ่ม TAPS มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะมาซื้อสินค้า บริการ และชำระเงินด้วยบัตรอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน การจับมือกันของพันธมิตร 5 แบงก์ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือระหว่างธนาคารที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้บริโภคขึ้นใน 2 ระดับ ระดับแรก คือ จากการร่วมกันลงทุนด้านโครงสร้าง และพัฒนานวัตกรรม ซึ่งมีผลให้ต้นทุนในการให้บริการลูกค้าต่ำลง ซึ่งผลที่ได้จะตกอยู่กับลูกค้าในที่สุด และระดับที่สอง คือ ทั้ง 5 ธนาคารจะมีการพัฒนาและมีการออกแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อจูงใจให้กับร้านค้า ดังนั้น ร้านค้าจึงสามารถเลือกแบงก์ที่ให้ผลประโยชน์ดีที่สุด เพิ่มทางเลือกให้กับร้านค้าที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นได้อีก
ขณะนี้ กลุ่ม TAPS ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงการคลังให้เป็นผู้ให้บริการติดตั้งเครื่องรับบัตรแก่ร้านค้าแล้ว ในช่วงแรกตั้งเป้าติดตั้งเครื่องรับบัตรให้ครอบคลุมร้านค้าทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 500,000 ร้าน ภายในเดือนมีนาคม 2561 โดยกลุ่ม TAPS มีความพร้อมในการให้บริการได้ทันที เนื่องจากธนาคารสมาชิกทั้ง 5 ต่างมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจร้านค้ารับบัตร อีกทั้งมีความแข็งแกร่งทั้งด้านเงินทุน บุคลากร เทคโนโลยี และมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยสำหรับการชำระเงินเนื่องจากการดำเนินงานภายในมีการตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ขึ้นมา เช่น ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาทาง IT และเทคโนโลยี และด้านการตลาดซึ่งธนาคารสมาชิกทั้ง 5 ได้ส่งตัวแทนผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมในคณะทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดตลอดมา
นอกจากนี้ กลุ่ม TAPS ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรสำหรับบัตรเดบิตจากปกติ 1.5 - 1.8% เหลือเพียง 0.55% และโปรโมชั่นพิเศษอื่นๆ ที่จะตามมา เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตร เดบิต โดยกลุ่ม TAPS พร้อมแล้วที่จะให้บริการเครื่องรับบัตรรูปแบบใหม่ที่จะมอบความสะดวกให้ร้านค้าทำธุรกิจได้อย่างสมาร์ท เติบโต และแตกต่าง เพื่อผลกำไรสูงสุด โดยลูกค้าสามารถสมัครขอใช้บริการได้ที่สาขาธนาคารสมาชิกทั้ง 5 ธนาคาร กว่า 4,100 สาขาทั่วประเทศ หรือติดต่อผ่าน Call Center ของแต่ละธนาคาร