top of page

เชียร์ยกเครื่อง AMC...เปิดทาง Bad BANK


แก้กฎหมาย AMC Bad Bank ปรับกระบวนท่าการแก้หนี้เสียให้เข้ากับภาวะการเงินที่เปลี่ยนไป ขยายขอบเขตให้รับโอนหนี้จาก Non-Bank และภาครัฐ ขึ้นแท่นเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นมืออาชีพในการแก้ไขปัญหาหนี้ พร้อมร่างกฎใหม่ ห้ามรับโอนหนี้ขณะคดียังไม่ถึงที่สุด อ้างเพื่อลดภาระศาล กูรูบรรยงวิพากษ์...เห็นด้วยกับการขยายบทบาทหน้าที่เอเอ็มซี แต่ชูมือค้านเต็มที่กรณีห้ามรับโอนหนี้ที่คดียังค้างศาล เพราะจะเป็นเหตุให้หนี้ NPL ของแบงก์ทั้งระบบพุ่งพรวด ในที่สุดภาระจะตกแก่ผู้กู้ ผู้ประกอบการภาคเอกชน เป็นผลเสียต่อต้านทุนการผลิตการค้า-การแข่งขันกับตปท.

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงปริมาณหนี้เสียในระบบการเงินของไทยว่า เป็นหนี้เสีย เป็นกระจกสะท้อนว่าระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแรงหรือไม่ ถ้าหนี้เสียมีจำนวนมาก แสดงว่าระบบการเงินของประเทศไทยมีปัญหา และทำให้ความเชื่อถือของประเทศน้อยลง

“ย้อนกลับไปปี 2540 ประเทศไทยมีปัญหาเอ็นพีแอลสูงถึง 50% ของสินเชื่อทั้งหมด ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือรองรับหนี้เสีย จึงมีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) ขึ้นมา นับจากปี 2540 รับซื้อรับโอนบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซีกว่าจะมีผลก็ผ่านเข้าสู่ปี 2543-2544 แล้ว และระหว่างทางเอเอ็มซีก็มีบทบาทสำคัญที่จะลดจำนวนหนี้เสียจาก 50% ค่อยๆ ลดมาจน 30% และเหลือ 20% และ 10% จนปัจจุบันเหลือเพียงกว่า 2% ในระบบแบงก์พาณิชย์ ซึ่งเป็นจำนวนหนี้เสียที่ปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเอเอ็มซี มีส่วนช่วยด้วย”

นายบรรยงกล่าวต่อด้วยว่า ปัจจุบันเอเอ็มซี (Bad Bank) ก็ยังทำงานได้ปกติ แต่ด้วยเจตนาที่ดีของดูแลเอเอสซีต้องการขยายขอบเขตบทบาทหน้าที่ของเอเอ็มซี ให้สอดคล้องกับระบบการเงินที่เปลี่ยนไป เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะแบงก์พาณิชย์ แต่มี Non-Bank และบริษัทลิสซิ่งที่เข้ามามีส่วนสำคัญในระบบการเงินของไทย จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการขยายขอบเขตของเอเอ็มซี เชื่ออยู่ระหว่างการนำเสนอครม. แต่ยังไม่ออกเป็นกฎหมาย เพราะต้องผ่านกฤษฎีกา และนำเรื่องเข้าสนช.ก่อน

“หลักการทั่วไปจะมีการแก้ 4 หลักหัวข้อใหญ่ คือ

1. เพิ่มขอบข่ายให้เอเอ็มซีที่เคยรับโอนแต่หนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ ให้สามารถรับโอนหนี้เสียของนอน-แบงก์ได้ด้วย เพื่อให้ระบบการเงินมีเอเอ็มซีรองรับ และเอเอ็มซีขยายงานได้

2. รับโอนหนี้ภาครัฐได้ เช่นถ้าเป็นหนี้สรรพากร ทางสรรพากรต้องไปเรียกหนี้คืน หรือมีทรัพย์สินก็สามารถผ่องโอนมาที่เอเอ็มซีได้ เพราะให้มืออาชีพบริหารจะได้ผลดีกว่า

3. ให้เอเอ็มซีเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้ หมายความว่า เอเอ็มซีไม่ต้องแก้หนี้ในพอร์ตของตัวเองอย่างเดียว ทุกวันนี้ระบบการเงินเราเวลาคนเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน ถ้าถูกแบงก์ทวงขึ้นมาเป็นหนี้เสียขึ้นมา เขาก็คงต้องไปหาทนายความ อาจจะได้รับคำแนะนำตรงประเด็นหรือไม่ตรงก็แล้วแต่ แต่ถ้ามาหามืออาชีพอาจจะมีคำแนะนำที่เข้าใจว่าแบงก์ต้องการอะไร ก็เลยขยายเป็นว่าให้เอเอ็มซีเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้ ใครเป็นหนี้แบงก์ก็มาปรึกษาเอเอ็มซีได้ ให้ช่วยไปเจรจาหนี้ให้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบ

ส่วนข้อ 4. ไม่ให้โอนสิทธิทางคดี ถ้าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เรื่องนี้เจตนาของกฎหมาย คือไม่ต้องการไปเพิ่มภาระทางศาล เพราะระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ถ้ามีการโอนเจ้าหนี้กัน จะต้องทำเรื่องสวมสิทธิทางคดี ต้องไปเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ในระหว่างคดี ซึ่งทำให้กระบวนการทางศาลยุ่งยากขึ้น ก็เลยห้ามไม่ให้โอนแล้ว”

สำหรับการโอนหนี้จากธนาคารพาณิชย์มาให้เอเอ็มซีนั้น นายบรรยงกล่าวว่าปกติเป็นหนี้ 2 ประเภทคือ หนี้ที่มีคำพิพากษาแล้วและหนี้ที่ยังไม่มีคำพิพากษา ซึ่งยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ดังนั้น ถ้ากฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ จะทำให้ไม่สามารถโอนทรัพย์หรือหนี้ที่อยู่ระหว่างเป็นคดีได้

“เหมือนกับน้ำที่แบงก์พาณิชย์เคยผ่องไหลเข้ามา 2 ท่อ แต่ต่อไปจะปิดไปท่อหนึ่ง ดังนั้น จำนวนหนี้ที่โอนมาที่เอเอ็มซีจะหายไปส่วนหนึ่ง ถ้ามองในภาพแม็คโครของระบบการเงินทั่วไป ทุกวันนี้หนี้เสียลดลง เมื่อปิดส่วนที่เอเอ็มซีรับถ่ายมาจากกู้ดแบงก์ไปช่องหนึ่งก็แสดงว่าจะไหลมาน้อยลง ในส่วนที่ไม่ได้ไหลมาก็ต้องอยู่ในระบบสถาบันการเงิน ไปโชว์ตัวเลขอยู่ที่แบงก์ เพราะฉะนั้นอาจจะมีส่วนทำให้ยอดเอ็นพีแอลในระบบการเงินสูงขึ้น แต่สูงขึ้นเกิดจากการไหลไม่สะดวกคือไหลได้ท่อเดียว เท่ากับว่าต้นทุนหรือจำนวนเอ็นพีแอลของแบงก์พาณิชย์สูงขึ้น ต้นทุนการเงินเขาน่าจะสูงขึ้น เพราะมีหนี้เสียจำนวนที่มากขึ้น และเครดิตเรทติ้งหรือมุมมองของนักลงทุนก็จะมองว่าแบงก์มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เมื่อต้นทุนการเงินของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นก็ไปส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ ก็จะมีการโยนภาระความเสี่ยงต่างๆ ไปยังผู้กู้ ในภาวะแบบนี้คงทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการเอกชนที่จะไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านด้อยลงไปด้วย...

ส่วนอีกมุมหนึ่ง ที่ผ่านมาเอเอ็มซีได้แสดงบทบาทที่มีส่วนสำคัญในการลดหนี้ด้อยคุณภาพ แต่ที่สำคัญคือตอนนี้เหมือนกับเป็นอุปกรณ์เครื่องหนึ่งที่เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินถ้าเกิดมีวิกฤตขึ้นมา ถ้าย้อนกลับไปปี 2540 ถ้าประเทศไทยมีเอเอ็มซีก่อนหน้านั้น ประเทศไทยจะไม่มีความเสียหายเท่าที่เคยเกิดตอนนั้น แต่สำหรับวันนี้มีเอเอ็มซีแล้ว เหมือนกับมีถุงลมนิรภัย เวลาเกิดอะไรขึ้น เราสามารถไปรองรับ คือมีเครื่องมือ มีความพร้อมแล้ว ถ้าเกิดมีการแก้กฎหมายแล้วมันปิดช่องการโอนหนี้อย่างนี้ เครื่องมือรองรับนี้จะมีศักยภาพลดลง หากเกิดวิกฤตมันไม่สามารถรับโอนหนี้เสียได้ทั้งหมด รับได้แค่หนี้ที่มีคำพิพากษาแล้ว อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยตอนวิกฤตครั้งหน้า ก็จะหมดประสิทธิภาพลงไปบางส่วน”

ทั้งนี้ นายบรรยงแสดงความเห็นด้วยว่ากฎหมายมีทั้งแง่บวกและลบ ในกรณีการแก้กฎหมายเอเอ็มซีที่ห้ามโอนสิทธิหนี้ทางคดี ในกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น ควรจะมีการประเมินและชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างประเด็นการเพิ่มภาระในกระบวนการศาลจากการโอนสิทธิทางคดีในระหว่างการพิจารณาของศาล กับต้นทุนทางการเงินหรือยอดเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการไม่สามารถโอนสิทธิทางคดีนั้น ประเด็นไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน ประเด็นไหนมีผลดีผลเสียมากกว่ากัน

“ก็คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องชั่งน้ำหนัก ส่วนทางออกเรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าจะต้องยึดถือพับบลิคเป็นหลัก อะไรที่กระทบหรือสร้างปัญหาในภาวะแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการเงิน การแข่งขันของประเทศลดลง ก็ควรหลีกเลี่ยง อาจจะต้องมาดูข้อมูลว่าหนี้เสียที่อยู่ในระบบการเงิน ในสถาบันการเงิน มีหนี้ที่ฟ้องแล้วเท่าไหร่ และที่ยังไม่ฟ้องและมีโอกาสไหลมาเอเอ็มซี มีจำนวนมากหรือไม่ ถ้ามีจำนวนมาก เราต้องชั่งน้ำหนักให้ดีๆ เพราะต่อไปตามร่างกฎหมายใหม่นั้น หนี้ที่มีการฟ้องร้องไว้แล้ว เอเอ็มซีไม่สามารถไปซื้อหรือผ่องมาให้เอเอ็มซี เว้นแต่จะมีคำพิพากษาแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีคำพิพากษา ในร่างกฎหมายนี้บอกว่าไม่ให้สวมสิทธิทางคดี ความหมายก็คือโอนไม่ได้ เพราะโอนมาแล้วไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งทางแบงก์พาณิชย์ต้องดำเนินคดีจนมีคำพิพากษาก่อน แล้วจึงสามารถโอนมาให้เอเอ็มซีได้ โดยจะใช้เวลาอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น นานขึ้น แสดงว่าท่อที่เคลื่อนไหลสะดวกได้หายไปบางส่วน”

ส่วนอีกสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือการแก้ไขกฎหมายให้เอเอ็มซีมีอำนาจซื้อหนี้ บริหารหนี้ของนอน-แบงก์นั้น นายบรรยงกล่าวว่า น่าจะเป็นความตั้งใจของทางการในการจัดระบบและกระบวนการการแก้ไขหนี้ให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งเอเอ็มซีเป็นสถาบันการเงินที่แบงก์ชาติ ควบคุมดูแล จึงมั่นใจว่าจะมีธรรมาภิบาล มีคุณสมบัติอย่างไร ที่ทุนจดทะเบียนที่เพียงพอ รวมถึงมีขั้นตอนการทวงหนี้ที่มีคุณธรรม ต่างกับการทวงหนี้ของมาเฟียที่สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้และสังคม

“สรุปแล้ว การแก้ไขกฎหมายเอเอ็มซีใน 3 ข้อแรกเป็นการขยายขอบเขต เกิดประโยชน์กับเอเอ็มซี เป็นประโยชน์กับระบบการเงิน และเป็นประโยชน์กับลูกค้าด้วย เพราะเขาจะได้อยู่ในการดูแลของผู้ที่มีอาชีพหลักในการประนอมหนี้...

ส่วนข้อที่ 4 จะเป็นประเด็นกฎหมายที่บอกว่า กฎหมายเดิมให้สวมสิทธิทางคดีคือรับโอนหนี้ได้ ซึ่งผู้ร่างกฎหมายมองว่ามีผลกระทบคือคดีขึ้นศาลจะเกิดความยุ่งยาก มีกระบวนการซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเจ้าหนี้เดิมฟ้องอยู่ พอโอนมาให้เอเอ็มซี ต้องยื่นไปร้องขอสวมสิทธิ์ แล้วก็ต้องมาพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ ตรงนี้จะเพิ่มงานทางศาล กฎหมายใหม่จึงบอกว่าไม่ให้แล้ว ดังนั้น งานทางศาลก็จะเบาลง แต่ก็มีผลกระทบไปที่สถาบันการเงิน เพราะโอนหนี้มาไม่ได้ ก็จะไปเพิ่มจำนวน ไปเพิ่มต้นทุนการเงิน ซึ่งในที่สุดก็ผลักภาระไปที่ผู้ประกอบการ จึงต้องชั่งน้ำหนักเอาว่า ภาระทางกฎหมายกับภาระทางด้านการเงิน ส่วนไหนที่ควรจะเลือกมากกว่ากัน”

ในตอนท้ายนายบรรยงกล่าวถึงการดำเนินการของเอเอ็มซีในไทยว่า ปัจจุบันที่ดำเนินการอย่างเป็นจริงจังมีอยู่ประมาณ 10 แห่ง โดยเอเอ็มซีอื่นๆ ทยอยปิดตัวเองเป็นจำนวนมากเพราะเสร็จสิ้นภารกิจแก้หนี้เสียจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ลุล่วงแล้ว

งานของเอเอ็มซีทุกวันนี้ โดยระบบจะค่อยๆ ทยอยโอนมาตามภาวะของแต่ละแบงก์ ทำให้เห็นว่าทุกวันนี้แบงก์แข็งแรงมาก เพราะพอเขามีหนี้เสียก็มีช่องโอนมาที่เอเอ็มซีไม่ต้องรอให้พอกเป็นก้อนใหญ่ๆ แล้วสุขภาพเสีย บางทีการโอนหนี้มาทีเดียวก็จะเดือดร้อนเหมือนปี 2540 ทุกวันนี้ก็โอนมาเรื่อยๆ ขณะที่ไซส์เอเอ็มซีอย่างของบสก.ที่บริหารอยู่มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาทถือว่าใหญ่ ก็อยากแนะนำลูกค้าที่เป็นหนี้ให้มาติดต่อคุยได้ ไม่ว่าจะอยู่ขั้นตอนไหน ให้มาคุยกับเจ้าหน้าที่ จะได้หาทางออกที่ดีได้ โดยไม่มีเจตนาบังคับหนี้ให้ต้องเดือดร้อนกัน”

2 views
bottom of page