top of page

Donald Trump กับอาหารทะเลไทย


เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้มีการจัดงานเลี้ยงฉลองตำแหน่งเหมือนประธานาธิบดีคนอื่นๆ ของสหรัฐเคยทำมา แต่ที่ฮือฮามากคราวนี้คือการเลือกเมนูอาหารที่ “ทำในอเมริกา” ได้แก่ เนื้อจากเวอร์จิเนีย ไวน์จากแคลิฟอร์เนีย และที่สำคัญที่จะพูดถึงคืออาหารทะเลอเมริกัน ซึ่งรวมล็อบสเตอร์จากรัฐเมน และกุ้งจากอ่าวเม็กซิโก

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากเคยไปลองชิมล็อบสเตอร์ที่รัฐเมนในอเมริกามาแล้ว พูดอย่างเป็นธรรม ตัวใหญ่อร่อยดี ใหม่และสด แต่ผมว่าฝรั่งทำน้ำจิ้มกุ้งสู้แม่บ้านผมไม่ได้ เลยไม่ได้ติดอกติดใจที่จะชวนท่านไปชิมกุ้งฝรั่ง แต่ที่น่าสนใจคือพอประธานาธิบดีคนใหม่เลี้ยงอาหารทะเลอเมริกัน แทนที่จะเลี้ยงแขกด้วยกุ้งเวียดนามหรือกุ้งไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเลของอเมริกาก็ตื่นเต้นกันใหญ่ว่า ท่านประธานาธิบดีกำลังส่งสัญญาณที่จะให้ความดูแลอุตสาหกรรมอาหารทะเลของสหรัฐเป็นพิเศษ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือทีพีพี ซึ่งสมาชิกบางประเทศเช่น จีนและเวียดนาม เป็นผู้ส่งออกหลักที่ส่งอาหารทะเลไปจำหน่ายในสหรัฐ ทำให้เกิดการคาดหมายว่าสหรัฐอาจใช้มาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีมาใช้เพื่อกีดกันการสั่งอาหารทะเลเข้าประเทศ เช่น การเก็บภาษีสินค้าเข้าจากจีนร้อยละ 45 ซึ่งถึงแม้ภายหลังจะมีการปฏิเสธโดยทางการสหรัฐ แต่บอกว่าจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

แค่นี้ก็ทำให้ผู้นำสินค้าอาหารทะเลเข้าประเทศและประเทศผู้ส่งออกเสียขวัญได้พอสมควร เพราะเจ้าหน้าที่สหรัฐถ้าใช้นโยบายตามคุณภาพและแหล่งกำเนิดของสินค้าอาหารทะเลที่ส่งเข้าไปจำหน่ายอย่างเคร่งครัดโดยใช้มาตรการควบคุมอาหารและยาของสหรัฐแล้ว ย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการนำอาหารทะเลจากต่างประเทศเข้าสหรัฐ เพราะอาจถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือถูกขีดทำลายได้ ถ้ามีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยให้ตรวจพบหรือพยายามตรวจจนพบตามนโยบาย

นอกจากการออกนโยบายเร่งกีดกันเพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งแล้ว ยังชัดเจนว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกาจะลดความสำคัญของความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียที่ประธานาธิบดีคนที่แล้วคือประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยประกาศไว้ว่าจะให้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นพิเศษ ซึ่งแม้ว่าเหตุผลหลักจะเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะโอบามาเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นภูมิภาคที่กำลังเจริญเติบโต เพราะนโยบายเศรษฐกิจเสรีและมีโอกาสจะเติบโตขึ้นอีกเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาหุ้นส่วนเศรษฐกิจทีพีพีแล้ว แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นนโยบายเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนไปในตัวด้วย

ข้อพิสูจน์ชัดเจนคือการถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจพีทีทีที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว หมายความว่าประเทศในเอเชียทั้งที่เป็นสมาชิกทีพีพีหรือไม่เป็นสมาชิกอย่างไทย คงหวังว่าสหรัฐจะเปิดตลาดของตนให้ผู้ส่งออกอาหารทะเลเข้าประเทศได้อย่างเสรีได้สูญสิ้นไป และอาจนำมาซึ่งสงครามเศรษฐกิจระหว่างประเทศผู้ส่งออกด้วยกันเอง เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอาหารทะเลในสหรัฐและบางประเทศเช่น จีน เป็นต้น

นอกจากการใช้มาตรการกีดกัน การถอนตัวจากกลุ่มตลาดเสรีแล้ว สหรัฐยังจะลดมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เคยเป็นอุปสรรคในการประกอบอุตสาหกรรมและเพิ่มต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกอาหารทะเลออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ใครจะทราบว่าวันหนึ่งเราอาจได้กินเมนล็อบสเตอร์และกุ้งจากอ่าวเม็กซิโกในร้านอาหารทะเลระดับชาวบ้าน ไม่ใช่เฉพาะในโรงแรมหรือภัตตาคารห้าดาวในบางโอกาสเหมือนในปัจจุบัน ผมอยากดูเหมือนกันว่ากุ้งอเมริกันหรือกุ้งแม่น้ำอิรวดีของพม่าใครจะเป็นผู้ครองตลาดอาหารทะเลในประเทศไทย ถ้าอเมริกาสร้างอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ไม่แน่ว่าอาจมีการเสิร์ฟอาหารทะเลจากอเมริกาในร้านฟาสต์ฟู้ดดังๆ ของสหรัฐอย่างแมคโดนัลด์ในเมืองไทยข้างบ้านผมก็ได้

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามาพูดถึงมาตรการของประธานาธิบดีทรัมป์ต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของเขา แต่ที่น่าสนใจคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย รวมทั้งตัวเลขการส่งออกของอาหารทะเลไทยโดยเฉพาะกุ้งและปลาทูน่า มูลค่าปีละนับแสนล้านบาทว่าจะสามารถปรับตัวรับมาตรการใหม่ๆ ที่ทางสหรัฐจะนำมาใช้หรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนแปลงนโยบายเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราคุณภาพและการนำเข้าอาหารทะเลจากต่างประเทศ ปัญหาบางอย่างที่ยังไม่ยุติเช่นการใช้แรงงานผิดกฎหมายที่เพิ่งได้รับการปรับอันดับดีขึ้น อาจถูกประเมินใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าคุณภาพอาหารทะเลของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภค จึงพอหวังได้ว่าผู้ประกอบการของไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาได้แม้ว่าจะต้องเพิ่มด้านดำเนินการบ้าง เพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตให้สูงขึ้นไปอีกและปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎกติกามารยาทของทางการสหรัฐอย่างเคร่งครัด

กระนั้นก็ตาม การแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดทั้งในสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น คงจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะประเทศผู้ส่งออกทุกประเทศโดยเฉพาะคู่แข่งหลักของไทยเช่นเวียดนาม ต่างรับผลกระทบจากนโยบายใหม่ของสหรัฐอย่างทัดเทียมกัน จึงเป็นอะไรที่จะต้องติดตามดูกันต่อไป

ที่แน่ๆ คือสหรัฐผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการควบคุมอุตสาหกรรมอาหารทะเลของตนเองลงเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทางการไทยก็น่าจะรีบพิจารณาว่าจะลดกฎเกณฑ์อะไรได้บ้าง เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็นลง ผู้ประกอบการไทยจะได้มีทุนไปปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันยุคใหม่ภายใต้กติกาของทรัมป์

แต่ไม่แน่เหมือนกันว่า ผู้บริโภคอาหารทะเลชาวอเมริกันอาจติดรสชาติกุ้งไทยที่ราคาถูกกว่ากุ้งอเมริกันก็ได้ ใครจะรู้ใช่ไหมครับ

6 views
bottom of page