top of page

วิริยะฯ ลุ้นโตเกิน 2% - รุกคืบนวัตกรรม 4.0


ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2559 ที่ผ่านมา เติบโตในอัตราชะลอตัว ภาพรวมทำได้ไม่ถึง 2.5% ย่ำแย่ตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายรอบด้าน ปีนี้หลายบริษัทจึงมุ่งมั่นจะแก้มือให้กลับมาพลิกฟื้นธุรกิจให้กระเตื้องเหมือนในยุคที่เคยเฟื่องฟู

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท วิริยะประกันภัย ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยและภูมิภาคอาเซียน แถลงทิศทางและแนวโน้มภาพรวมธุรกิจในปี 2560 นี้ ว่าจะปักหมุดยุทธศาสตร์ไปทางไหน ภายใต้กระแสนวัตกรรมขับเคลื่อนในยุคดิจิทัลที่คืบคลานเข้ามาสร้างความท้าทายที่น่าตื่นเต้นให้กับภาคธุรกิจโดยรวม

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่าท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่กระทบธุรกิจโดยรวมทั้งระบบในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้วิริยะประกันภัยเติบโต 2.63% จากเบี้ยประกันรับรวม 3.32 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันรถยนต์ 3.3 หมื่นล้านบาทเศษและเบี้ยที่ไม่ใช่รถยนต์ 3,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งแม้จะดูว่าน้อยมากในรอบหลายๆปี แต่ยังถือว่าดีกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมในปีก่อนที่เติบโตรวมกันไม่ถึง 2%

สาเหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยปัจจัยกระทบหลายด้าน ทำให้ยอดขายจากเบี้ยใหม่เข้ามาไม่มาก แต่บริษัทพยายามเน้นรักษางานประกันปีต่ออายุให้เพิ่มขึ้นเป็น 73% จากเดิมค่าเฉลี่ยประมาณ 70% ภาพรวมทำให้มีกำไรจากเบี้ยประกันประมาณ 2,000 ล้านบาทเศษ เทียบกับกำไรจากการรับประกันภัยที่มีประมาณ 5% เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจ

สำหรับนโยบายปีนี้ มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการระบบงานให้รวดเร้ว ทั้งการรับและจ่าย คือ รับเบี้ยประกันเข้าและจ่ายสินไหมออกไป โดยวางยุทธศาสตร์องค์กรให้เป็นปีแห่งการก้าวสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมประกันภัย ด้วยแนวคิด “70 ปี วิริยะประกันภัย มุ่งสู่อนาคต ด้วยความเป็นธรรม ภายใต้นวัตกรรมบริการ 4.0” นำเทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบ เฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านสินไหมทดแทน นำระบบไอทีเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ทั้งระบบการทำงานของบริษัท สำนักงานตัวแทน ศูนย์บริการซ่อมรถลูกค้า คู่ค้า ลูกค้าและพันธมิตรของบริษัท เพื่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายออนไลน์ทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัทได้ว่าจ้าง The Boston Consulting Group (CBG) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มให้มีระบบการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น ทั้งด้านการรับประกันภัยและการบริการสินไหม ทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานทั้งระบบให้เป็นหนึ่งเดียว สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาปรับปรุงสำนักงานมาตรฐานตัวแทนให้เป็นสำนักงานตัวแทนดิจิทัล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ เพิ่มความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมประกันภัยผ่านช่องทางสำนักงานตัวแทนมาตรฐานที่ได้รับการตกแต่ง ทั้งภายนอกและภายใน โดยเน้นรูปแบบ Office Automation เพิ่มเรื่องความสวยงาม ทันสมัย ตอบสนองทุกการใช้งานของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการทำงานของตัวแทน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการปรับโฉมในครั้งนี้ รวมถึงศูนย์ซ่อมมาตรฐานของบริษัทด้วย ควบคู่ไปกับอยู่ระหว่างดำเนินการในด้านการเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ทั้งด้านข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆที่จะได้ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นอีกด้วย

นายวิญญู อังศุนิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มว่าปีนี้กำหนดกลยุทธ์และแผนงานในด้านการเพิ่มสัดส่วนงานรับประกันนันมอเตอร์ทุกประเภทจาก 9% เป็น 10% โดยเน้นขยายตลาดอย่างจริงจัง เฉพาะอย่างยิ่งด้านประกันสุขภาพ เพื่อที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทมีอัตราการเติบโตในสัดส่วนนี้มากเป็นอันดับ 1 และล่าสุดได้ออกกรมธรรม์ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคลใหม่ “อุ่นใจรักษ์ V-Total Care” เป็นแผนประกันสุขภาพระดับพรีเมียมสำหรับลูกค้าระดับกลางถึงบนที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบริการดูแลรักษาทางการแพทย์และสุขภาพแบบ VIP

นายประวิตร สุขสันติสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงเรื่องการลงทุนของบริษัทว่าปัจจุบันมีพอร์ตโฟลิโอประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ทำผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยได้ 4.1% ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ 2.9 หมื่นล้านบาท นอกนั้นที่เหลือเป็นเงินฝากและพันธบัตร 2.7 หมื่นล้านบาทและตั๋วสัญญาใช้เงิน เฉพาะในพอร์ตหุ้น แยกเป็นพอร์ตที่มีไว้ขายประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและพอร์ตหุ้นเพื่อค้า 9,000 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนในหุ้นส่วนใหญ่เน้นไปหุ้นที่มีสภาพคล่องและหุ้นปันผล ทั้งในกลุ่ม SET 50 และ SET 100 เป็นหลัก

“ปัจจุบัน กำไรในภาพรวมของบริษัท มาจากการลงทุนเป็นหลัก เพราะกำไรจากการรับประกันภัยทำได้ยากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจประกันภัย ทำให้เบี้ยทั้งระบบหดตัวลง หรือเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง วิริยะฯ ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด จึงไม่เล่นราคาเบี้ยในตลาด แต่จะไปมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการให้บริการด้านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะมีส่วนต่อยอดธุรกิจออกไป ภายใต้การดำเนินงานแบบอนุรักษนิยม”

5 views
bottom of page