top of page

ดัชนีความทุกข์ยากคล้ายภาพลวงตา


Bloomberg Misery Index 2017 ระบุว่า ประเทศไทยมีคะแนนรวมความทุกข์ยากเพียง 2.6 ต่ำสุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3..เป็นความจริงหรือภาพลวงตา?

การสำรวจและวัดค่าความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกของบลูมเบิร์กนี้ วัดกันด้วยอัตราว่างงาน ค่าเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน

การที่อัตราว่างงานของไทยต่ำสุดในโลก 3 ปี เชื่อมโยงถึงความแข็งแกร่งของตลาดงาน ช่วยลดคะแนนทุกข์ยากลงไปได้มาก..ดูแล้วน่าเป็นปลื้ม นายกฯฟังแล้วก็พลอยปลื้ม

แต่เมื่อหันมาดูตัวชี้วัดตัวสำคัญที่สุด สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจสังคมไทยชัดเจนที่สุดแล้ว

คงจะปลื้มชั่ววูบ ดัชนีความทุกข์ยากต่ำสุดในโลกของไทยกลายเป็นภาพลวงตา

ตัวชี้วัดนี้ก็คือ อัตราเหลื่อมล้ำ ในชาร์ต The World’s Most Uneqaul Countries 2016 ปีที่เพิ่งผ่านไป 2 เดือนเศษ ที่ Credit Suisse Global Wealth Databooks ทำขึ้น

รัสเซียมีสัดส่วนความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก คือ 74.5% อินเดียรองบ๊วย 58.4% ไทยอยู่อันดับ 3 รองบ๊วย ด้วยสัดส่วนความเหลื่อมล้ำ 58.0%

การวัดค่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือฐานะความร่ำรวยนั้น วัดกันด้วยสัดส่วนการครอบครองความมั่งคั่ง อันได้แก่ทรัพย์สินและทรัพยากรของประเทศ โดยกลุ่มประเทศที่คนรวยเพียงแค่ 1% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ครอบครองความมั่งคั่งร่ำรวยในมูลค่าเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินและทรัพยากรที่ประชากรส่วนที่เหลือ 99% ของประเทศครอบครอง

ทั้งโลก มี 9 ประเทศเท่านั้น เรียงลำดับตามสัดส่วนดังนี้

1. รัสเซีย 74.5% 2. อินเดีย 58.4% 3. ไทย 58.0% 4. อินโดนีเซีย 49.3% 5. บราซิล 47.9% 6. จีน 43.8% 7. สหรัฐ 42.1% 8. แอฟริกาใต้ 41.9% 9. เม็กซิโก 38.2%

บ้านเรา กูรูเศรษฐศาสตร์บอกว่าเป็นเพราะติดกับดักชนชั้นกลาง ที่จริงไม่ใช่กับดัก เพราะไม่มีใครเอากับมาดัก หากแต่เป็นเพราะวัฒนธรรมสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นรูปแบบสังคมอุปถัมภ์ เป็นหล่มโคลนธรรมชาติมีมาแต่ยุคก่อน คอยดักและดูดคนไทยด้อยโอกาสเอาไว้ตั้งแต่สังคมทาสตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบอุปถัมภ์ทำให้ชนชั้นสูง ชนชั้นผู้นำ ชนชั้นมั่งคั่งร่ำรวยที่มีสัดส่วนเพียง 1% ของประชากรตามผังกราฟแท่งแนวนอนที่ Credit Suisse Global Wealth Databooks ทำไว้นี้ พยายามปกป้องความมั่งคั่งของตนเอาไว้

รัฐบาลที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งถูกล้มครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยอำนาจแอบแฝงในระบบอุปถัมภ์

ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แต่ละฉบับกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้แสนจะยากเย็น แม้แต่ฉบับที่กำลังทำคลอดกันอยู่นี้ก็เถอะ

เพราะจุดมุ่งหมายก็เพื่อกระจายการถือครองที่ดินซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดสุดของคนรวยไปสู่คนจนโดยผ่านกระบวนการภาษี..ยิ่งถือครองที่ดินมาก ยิ่งต้องเสียภาษีมาก พ.ร.บ.เกี่ยวกับภาษีที่ดินฉบับใหม่นี้ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่คนรวยเอาออกมาให้เช่าจะถูกเก็บภาษีแพงกว่าเดิม 10 เท่าตัว

ถึงวันนั้น อุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะปั่นป่วน ส่งผลดีกับไม่ดีพอๆกัน

คนมีที่ดินมากๆ จะเอาที่ดินออกมาขายกันแบบทุ่มตลาด

ผลดีคือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะสามารถซื้อที่ดินมาพัฒนาได้ในราคาถูก..ส่วนไม่ดีก็คือ บริษัทที่มีแลนด์แบงก์มากๆ มูลค่าทรัพย์สินที่ดินที่ถือครองจะลดลง

อีกด้านหนึ่ง ที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ที่ปล่อยเช่า จะถูกเรียกเก็บภาษีโหด เจ้าของจะพากันปล่อย หนีตายจากภาษี

ราคาทรัพย์สินส่วนเกินเหล่านี้ จะถูกเทขายในราคาถูกๆ อันจะยังผลให้ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่งออกสู่ตลาดหรือยังขายไม่หมดพลอยขายไม่ออกไปด้วย จนอาจจะต้องดัมพ์ราคาสู้

ในยุคที่กำลังซื้อในประเทศซบเซา แม้รัฐบาลจะกระตุ้นด้วยมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อบุคคลค้ำประกันรายละ 5 หมื่นบาท จนกระทั่งมาตรการโปรยเงินแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่

แต่ก็ได้ผลแค่ 10-20%เท่านั้น เนื่องจากเงินไม่ได้เข้าไปหมุนเวียนแบบงอกเงย คือแทนที่จะหมุนได้ 2-3 รอบ แต่ละรอบสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วนเพิ่มแบบเรขาคณิต 25-50-75-100 %

หากแต่มันเข้าไปแล้วไหลออกแบบแบนๆ เป็นระนาบ เพราะถูกค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เป็นตัวติดลบดูดไปหมด ประชาชนไม่สามารถเก็บเงินที่ได้เอาไว้ในพื้นที่ของตัวเองได้

นี่คือตัวถ่วงที่เป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำที่สุดของคนไทย..หนี้สินครัวเรือนนั้น คนไทยต้องจ่ายถึงกว่า 60% ของรายได้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศจะขจัดหนี้นอกระบบที่เป็นตัวสร้างหนี้ครัวเรือนตัวสำคัญที่สุด ถ้าขจัดหนี้นอกระบบ ขจัดนายทุนดอกเบี้ยโหดไปแล้ว คนยากคนจนก็อาจจะพบทางตัน เพราะหันหน้าไปพึ่งใครไม่ได้ โดยเฉพาะจากรัฐที่ใช้มาตรการรองรับซ้ำซากจากที่เคยล้มเหลวมาแล้ว

สินเชื่อ 50,000 บาทต่อรายที่แบงก์รัฐจะปล่อยให้กู้นั้น รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำมาแล้ว ช่วงนั้นพอจะขับเคลื่อนกันได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฝืดเคืองติดขัดอย่างเช่นยุคนี้

เศรษฐกิจระดับหาบเร่ แผงลอย รถเข็น ทั่วประเทศ นับวันมีแต่จะขยายตัว

จากรัฐบาลก่อนๆที่มีจำนวนหน่วยหลักแสนกลางๆนั้น ตอนนี้หลักล้านต้นๆแล้ว

กลไกที่จะมาช่วยให้ประชากรแผงลอยเหล่านี้อยู่ได้ หรือยกระดับเป็นร้านค้าหรือย้ายกลับไปสู่อาชีพเดิมก็คือการใช้จ่ายภายในประเทศ

การใช้จ่ายซึ่งเกิดจากกลุ่มประชากรที่สามารถปั้นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดก็คือชาวไร่ชาวนาชาวสวน ซึ่งมีจำนวนกว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศ

เงินจำนวน 7.2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลที่แล้วอัดเข้าไปรับจำนำหรือในภาคปฏิบัติคือซื้อข้าวจากชาวนานั้นเป็นนโยบายที่มาถูกทาง แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละขั้นตอนมีมอดข้าวดักกินดักแทะไปตลอดทาง ผู้ที่ทำหน้าที่แต่ละขั้นตอนนี้ ขณะนี้กำลังถูกหมายเรียกตัวไปสอบสวน จำนวนกว่า 100 คน

แต่กระนั้น เม็ดเงินที่ตกถึงมือชาวนาจริงๆราว 2.7 แสนล้านบาทก็ทำให้เงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ

ความเหลื่อมล้ำลดลงจาก 15-16 ต่อ 1 ลดลงเหลือ 11-13 ต่อ 1 ตอนนี้เด้งกลับไปสู่จุดเดิมอีกแล้วจากผังกราฟที่เครดิตสวิสโกลเบิ้ลสำรวจมา..ต้องโทษราคาข้าวที่ตกต่ำ

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ชี้แจงถึงปัญหากระทบเป็นลูกโซ่จากท้องนาถึงภาคอุตสาหกรรมจนเกิดเอ็นพีแอลขยายตัวในปีที่แล้วมาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้

เห็นได้จาก วงการค้ามีการขยายเครดิตจาก 30-90 วันเป็น 90-120 วัน แต่ก็ยังมีการชำระหนี้ไม่ตรงตามงวด ไปจนถึงไม่ชำระหนี้ มีการฟ้องร้องกันคดีเพิ่มขึ้น

สาเหตุสำคัญคือยอดขายจากการส่งออกติดลบ ขณะที่แรงซื้อในประเทศยังทรุดตัวต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากราคาข้าวที่ตกต่ำที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการผลิตอื่นๆ

สินค้าเกษตรอื่นๆไม่ว่าจะยางพารา มันสำปะหลัง ราคายังทรงตัว มีเพียงอ้อยที่คาดว่าจะมีราคามากที่สุด

แต่ถ้าเกิดภัยแล้ง ที่ปีนี้คาดว่าจะรุนแรงไม่น้อยไปกว่าปีที่แล้ว ก็คงจะต้องหมุนกลับไปที่เก่า เวลาเดิม

6 views
bottom of page