top of page

EXIM เปิดตัวช่วยหนุน “สินเชื่อส่งออก พลัส”


นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า EXIM BANK ได้เปิดตัว “สินเชื่อส่งออก พลัส” เพื่อสนับสนุน SME ไทย บริการนี้เกิดจากเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัว โดยมีการคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัว 3-4% ขณะที่ทางกระทรวงพาณิชย์มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการส่งออกน่าจะเติบโตจากปี 2559 ที่เป็นปีแรกหลังจากที่ติดลบมา 4 ปีติดต่อกันเป็นบวกที่ 0.5% และปี 2560 นี้ คาดว่าตัวเลขการส่งออกจะเติบโตถึง 5% ทีเดียว คาดว่าถ้าตัวเลขส่งออกเติบโตจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสส่งออก EXIM BANK จึงคิดสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อนำไปผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้ซื้อถึงได้คิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา

ปกติเราจะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เวลามากู้ หลักประกันจะไม่ค่อยมี แต่สำหรับสินเชื่อตัวนี้ ถ้าต้องการ เราขอให้ใช้หลักประกันเพียงแค่ 25% จากปกติที่ทางสถาบันการเงินต้องขอหลักประกันมากกว่านี้ ซึ่งมองเห็นว่าเราน่าจะแบกรับความเสี่ยงได้ เพราะถ้ามีออร์เดอร์ จะผลิต เราก็สามารถปล่อยให้ได้ ตรงนี้เป็นสินเชื่อเพื่อการส่งออกจริงๆ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ก็จะแถมประกันฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการประกันเพื่อการส่งออก เราเองจะเช็กเครดิตฝั่งคู่ค้า ว่าผู้ซื้อมีเครดิตหรือไม่ ถ้าส่งสินค้าไปแล้ว จะชำระได้หรือไม่ ตรงนี้จะเป็นการแถมประกันไปด้วย” นายพิศิษฐ์กล่าวและว่าอัตราดอกเบี้ยในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกมาก นอกเหนือจากหลักประกัน 25% ของจำนวนเงินแล้ว ก็คิดดอกเบี้ยในปีแรก 4.5% ส่วนปีที่สองคิดตามเรท ลบ 1 คือ 5.25% จะเป็นดอกเบี้ยที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ

กรณีเอสเอ็มอี เราให้วงเงินสูงสุดต่อรายที่ 50 ล้านบาท จากปกติให้ที่ 20 ล้านบาท ซึ่งเราพิจารณาว่าเอสเอ็มอีก็น่าจะโตขึ้นบ้างแล้ว โดยวงเงินทั้งหมดที่ปล่อยกู้ตั้งไว้ที่ 3 พันล้านบาท คาดว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะหมุนเวียนได้หลายรอบจากที่ผู้ประกอบการส่งสินค้าไปขาย คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท และถ้าเกิดมีการกู้เต็มวงเงิน 3 พันล้านบาทแล้ว ทางเราก็ยินดีขยายวงเงินเพิ่มให้ ซึ่งเบื้องต้นจะติดตามดูว่ามีคนสนใจแค่ไหน โดยจุดเด่นของบริการนี้ คือการแถมประกันฟรี เพื่อให้ผู้ส่งออกมั่นใจว่าได้รับเงินคืนมาแน่นอน ซึ่งปกติเรามองว่าเอสเอ็มอีใช้บริการสินเชื่ออยู่ที่ธนาคารพาณิชย์หรือที่สถาบันการเงินอื่นๆ แล้ว ก็คิดว่าอย่างน้อยเรามาโปรโมทประกัน เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจ และสถาบันการเงินจะได้ปล่อยสินเชื่อตามมา”

นายพิศิษฐ์ย้ำว่าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมองว่าบางกลุ่มอาจยังไม่ได้วงเงินจากสถาบันการเงิน ดังนั้น ก็ให้ออกสินเชื่อร่วมกันเลยดีกว่า จะได้ช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนของการค้าและการเมืองของโลก แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสด้านการค้าอีกมาก โดยเป้าหมายตัวเลขส่งออกจากที่ภาครัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่ม 5% จากปีก่อน ส่วนตัวมองว่าในภาวะที่มีความผันผวนมีโอกาส โดยการส่งออกของไทยปี 2559 มีอัตราการเติบโตดีมากในภูมิภาค ทำให้มั่นใจว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ น่าจะมีโอกาสโตตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

“นอกจากสินเชื่อเอสเอ็มอีแล้ว ในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ เราก็มีให้บริการ แต่ขณะนี้ก็ตั้งเป้าที่จะช่วยเอสเอ็มอีก่อน ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ถ้าสนใจ เราก็จะพิจารณาดูเป็นรายๆ ไป ขณะที่เอสเอ็มอีนั้น ต้องบอกว่าโอกาสการเข้าหาแหล่งเงิน จะน้อยกว่า หากถ้าเป็นรายใหญ่ๆ ก็จะมีทางเลือก แต่เราก็ยินดี หรือจะไปที่ EXIM BANK ก็ยินดีที่จะพิจารณา” นายพิศิษฐ์กล่าวและว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการส่งออกของไทย คือกลุ่มประเทศใหม่ๆ นิวฟรอนเทียร์ กลุ่มนี้เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมาก และถ้ามีอะไรสะดุดก็จะเกิดปัญหา เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังเติบโต ขณะที่ภาวะการเงินยังไม่มั่นคง เช่น ประเทศแถบแอฟริกา ประเทศแถบลาตินอเมริกา เหล่านี้อาจจะมีปัญหาทางด้านสังคมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไม่มั่นใจก็ให้มาหา EXIM BANK มาใช้บริการรับประกันการส่งออกได้ โดยเราจะช่วยตรวจสอบเครดิตผู้ซื้อให้

“โดยรวมเศรษฐกิจในหลายประเทศหลักๆ ขยายตัว เพราะฉะนั้นมองว่าช่วงนี้น่าเป็นช่วงผู้ประกอบการควรออกไปแล้วดูแหล่งขายสินค้า และก็น่ามีโอกาสขายของได้มากขึ้น โดยที่นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ออกมา จะทำให้ช่องทางการค้าเปลี่ยน ดังนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะรู้ตัวเองว่าจะไปหาช่องทางอย่างไร เชื่อว่าผู้ประกอบการมีความชำนาญมากกว่าธนาคารพาณิชย์ด้วยซ้ำ เพราะว่าอยู่ในตลาดและสามารถรู้ได้ และถ้าต้องการก็สามารถมาหาธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยสนับสนุนการเงินหรือข้อมูล ส่วนทางเราก็ยินดี แม้ว่าช่วงนี้จะเกิดความไม่แน่นอนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการค้าใหม่ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเมืองในยุโรป และเศรษฐกิจจีนที่หลายคนกังวลว่าจะชะลอ และอาจจะเปลี่ยนถ้าโดนนโยบายใหม่ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ ในเรื่องค่าเงินบาท ช่วงหลังมานี้จะเริ่มผันผวนมาก ตรงนี้ก็ต้องติดตามและเฝ้าระมัดระวังด้วย”

0 views
bottom of page