
Gold Currency เคยมีบทบาทกำหนดค่าเงินกระดาษเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่เลิกไปหลังเกิดการแข่งกันลดค่าเงินจนค่าดอลลาร์เสื่อม ตอนนี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะอาศัยการที่สหรัฐมีปริมาณทองคำสำรองมากที่สุดในโลกนำกลับมาใช้อีก ซึ่งจะสามารถพิมพ์เงินกระดาษได้มากเท่ากับมูลค่าทองคำสำรอง ผลจะกระเทือนถึงค่าเงินทั่วโลก
แต่ก็อาจดีกับค่าเงินบาท ที่มีทองคำสำรองอยู่อันดับที่ 26 จากทั้งหมด 80 อันดับสูงสุดในโลก
ย่างเข้าเดือนมีนาคมอันเป็นเดือนที่มีความสำคัญที่สุดเดือนหนึ่งของปี คือเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก บางประเทศเป็นเดือนสุดท้ายของปีการเงินเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนที่มีการปิดบัญชีหรือปิดงบประมาณการเงินของปีการเงิน
สำหรับปีนี้ มีนาคมมีความหมายต่อระบบการเงินการลงทุนของโลกระดับชี้ชะตา เพราะจะมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Open Market Committee-FOMC) 14-15 มี.ค.ที่คาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง เป็นครั้งแรกของปีนี้ แต่เป็นครั้งที่ 2 ถัดจากธันวาคมที่แล้ว
สัดส่วนความน่าจะเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยเฟดขณะนี้เพิ่มจาก 43% เมื่อเดือนที่แล้วเป็นกว่า 50%
นี่คือปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสกุลท้องถิ่นกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นตัวกระตุ้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนของบรรดาเฮดจ์ฟันด์สหรัฐกลับบ้าน ที่จะกระทบต่อไทยที่สุดก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายของเราจะขยับเขยื้อนเป็นขาขึ้นหลังจากติดล็อก 1.50% มาเกือบ 2 ปี
และแม้จะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของเราจะยังอึมครึมซึมเซา การบริโภคภายในประเทศที่เป็นตัวแปรซึ่งกันและกันกับการลงทุนยังชะลอตัว
ทว่าความจำเป็นในการกระตุ้นการลงทุนในประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมีน้อยจนแทบจะไม่มีความจำเป็น
เหตุผลที่ดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นขาขึ้นนั้น ปีเตอร์ บุควาร์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์แห่งลินด์เซย์ กรุ๊ปนิวยอร์ก ชี้ว่า เป็นเพราะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลก ตั้งแต่เฟดไปจน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มาจนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แม้แต่จีน (BOC) ล้วนใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Qauntitative Easing) มาจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
จึงถึงจุดที่อัตราดอกเบี้ยจะหันหัวกลับ
อีกปัจจัยที่เป็นตัวแปรผันของเศรษฐกิจโลกก็คือปัจจัยทรัมป์เจ้าเก่า..ก่อนที่ทรัมป์จะแถลงนโยบายต่อสภาคองเกรส ตลาดเงินตรา ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ในตลาดสำคัญๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะโตเกียว พากันชะลอการซื้อขาย
ส่งผลถึงตลาดหุ้นไทยที่บนกระดานมีแต่ตัวแดงมากกว่าตัวเขียว ทั้งๆ ที่เป็นช่วงประกาศกำหนดวัน XD จ่ายเงินปันผล
ทั้งนี้เพราะนักลงทุนชะลอการลงทุนระยะสั้น รอดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังการแถลงนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ต่อคองเกรส
ตรงข้ามกับตลาดหุ้นนิวยอร์ก ที่ดัชนีหลัก 3 กระดานทะยานพุ่ง โดยเฉพาะดาวโจนส์นั้น ทำสถิติสูงสุดนับแต่ปี 1992 หรือ 25 ปีก่อน
บทบาทของทรัมป์สร้างความปั่นป่วนให้แก่เศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างไม่ว่างเว้น..ไหนจะนโยบายกีดกันทางการค้า ไหนจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การขึ้นอัตราภาษีขาเข้า ภาษีชายแดน..จากวันรับตำแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ 20 มกราคมมาจนบัดนี้เดือนครึ่ง ทรัมป์ ทำความปั่นป่วนให้แก่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10 ด้าน
ล่าสุดประกาศไม่ยอมรับกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO)
ก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์ ทรัมป์ประกาศว่า จะนำเงินตราทองคำ (gold currency) กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อให้ค่าดอลลาร์สหรัฐมีเสถียรภาพ..ดูขัดๆ กับนโยบายกดค่าดอลลาร์ให้อ่อน อย่างไรพิกล
มาตรฐานทองคำ (gold-standard) เคยมีการพูดถึงกันมากในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษ 21 หรือผ่านปี 2000-2010 ซึ่งเศรษฐกิจโลกขาดเสถียรภาพรุนแรงอันเกิดจากวิกฤตการณ์ sub-prime credit crisis สินเชื่อด้อยคุณภาพที่นำไปสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐ
โดยให้ย้อนกลับไปดูการแก้ปัญหาความผันผวนของค่าเงินในช่วงศตวรรษ 19 ที่มีการนำทองคำมาเป็นตัวกลางวัดค่าเงินที่เรียกว่า gold currency..ถือว่าทองคำเป็นเงินตราสกุลหนึ่งที่เป็นเงินตราสกุลหลักในตลาดเสรี (free market system)
การที่นำทองคำมาเป็นมาตรวัดค่าเงินและเป็นสกุลเงินกลางที่เรียกว่ามาตรฐานทองคำก็เพราะ ทองคำที่เป็นโภคภัณฑ์ซื้อขายกันในตลาดโลกนั้น ซื้อขาย ชำระราคากันเป็นดอลลาร์สหรัฐ. ที่สามารถเปลี่ยนเป็นดอลลาร์ได้ทันที และในทำนองเดียวกัน สามารถเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำได้ทันทีเช่นกัน
ทองคำจึงเป็นเสมือนเงินตราสกุลหนึ่งในสำรองเงินตราระหว่างประเทศของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ธนาคารกลางทุกประเทศสมาชิกใช้เป็นทุนสำรองอีกสกุลหนึ่งเรียกว่าสำรองทองคำ (gold reserve)
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีทุนสำรองที่มีทั้งเงินตราต่างประเทศที่เป็นดอลลาร์อยู่ 180,917.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสำรองทองคำมูลค่า 6,108.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 17 ก.พ. 2560)
หากวันนี้ มีการนำมาตรฐานทองคำกลับมาใช้หนุนค่าเงินอีก เราก็จะสามารถพิมพ์เงินกระดาษออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ค่าบาทก็จะอ่อนลง จาก 34 บาทต้นๆ ต่อ 1 ดอลลาร์ ก็อาจจะลงไปเป็น 36-37 หรืออาจจะถึง 40 ดอลลาร์
เป็นอาวุธสู้กับบางประเทศที่ใช้วิธีการทำให้ค่าเงินอ่อนลงด้วยการลดค่าเงินกันดื้อๆ
ช่วงที่โอบามาเป็นประธานาธิบดียุคแรก เศรษฐกิจจีนแกร่งมาก อัตราเติบโตของจีดีพีเป็นเลข 2 หลัก โดยเป็นผลมาจากการส่งออกมูลค่าสูงที่สุดในโลก..จีนกดค่าเงินหยวนให้อ่อนลงกว่าค่าเป็นจริงถึง 15% ด้วยการลดค่าเงิน
ในการเจรจาการค้าทวิภาคกับสหรัฐ ตัวแทนของสหรัฐถึงกับมีการทุบโต๊ะ ให้จีนปล่อยค่าหยวนเป็นไปตามธรรมชาติ
ขณะนี้เวียดนามกำลังเดินตามรอยจีน มีการลดค่าด่องกันแทบจะเดือนเว้นเดือน ทำให้เวียดนามโตพรวดพราดขึ้นมาผิดหูผิดตา
การบิดเบือนกลไกกำหนดค่าของเงินตราเช่นนี้ ทำให้มีคนคิดถึงมาตรฐานทองคำและสกุลเงินทองคำอีกครั้ง
แม้ทองคำจะเป็นแหล่งพักพิงที่ปลอดภัย (save haven) ของเงินตรายามเกิดวิกฤต แต่ทองคำก็เป็นสินค้าในตลาดเสรี ยามใดที่ทองคำทะลักออกมา ค่าเงินที่ผูกติดกับทองคำก็อ่อนหรือเสื่อมลงด้วย
ทองคำจึงเป็นตัวแปรที่อาจก่อให้เกิดความผันผวนหรือสร้างความเสี่ยงให้กับค่าเงินกระดาษ (paper money) ได้ดังที่เกิดกับดอลลาร์เมื่อปี 1971
วันนี้ทรัมป์อยากนำมันกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะได้ประกาศในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า จะทำให้ค่าดอลลาร์อ่อนลงเพื่อผลในการส่งออก
หากนำมาตรฐานทองคำกลับมาใช้อีก สหรัฐจะสามารถพิมพ์เงินกระดาษหรือธนบัตรได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะทองคำแท่งที่เก็บสำรองไว้ที่ฟอร์ทน็อกซ์นั้น มีมูลค่ามากกว่า เงินตราครึ่งโลกรวมกัน
ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินที่ใช้หมุนเวียนค้าขายทั่วโลกในปริมาณเกือบ 60%ของปริมาณเงินตราที่หมุนเวียนทั่วโลก
วันใดที่สหรัฐหันกลับมาใช้มาตรฐานทองคำหนุนค่าดอลลาร์ และพิมพ์เงินกระดาษออกมา ค่าดอลลาร์ก็จะอ่อนลงสมเจตนารมณ์ของทรัมป์ โดยมีอัตราขยายตัวของเงินเฟ้อพุ่งพรวดตามมา
แต่ก็ยังมีดาบสองไว้แก้ คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเฟด ที่วางตารางไว้ว่าปีนี้จะขึ้นถึง 3 ครั้ง
เอาตัวรอดได้ โดยไม่สนใจว่าสกุลเงินชาติอื่นๆ จะปั่นป่วนกันอย่างไร ตามสไตล์ทรัมป์ๆ