top of page

มองสินเชื่อระบบแบงก์ปีนี้โตเกิน 6% - ม.ค.เริ่มไม่สวยคาดครึ่งปีหลังมาแรง


TMB Analytics มองระบบแบงก์ไทยปีนี้สินเชื่อเติบโตดีขึ้นอีกครั้ง คาดทำได้ที่ 6.3% โดยต้องได้แรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ท่องเที่ยว กำลังซื้อผู้บริโภคฟื้น และผลตอบแทนในตราสารหนี้ดีขึ้น ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย แจงเดือนแรกสินเชื่อหด หากจะเติบโตอย่างค่อยๆ ไปช่วงครึ่งปีแรกและไปเติบโตดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ชี้สินเชื่อภาครัฐช่วยประชาชนรวม 3 แสนล้านบาท ครบกำหนดในปีนี้หลายตัว เป็นโอกาสดีแบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics รายงานคาดการณ์ภาวะสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2560 ว่า ปี 2559 สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตได้เพียง 2% ต่ำกว่าที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ 3% โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ยังปรับตัวสูงขึ้นไปที่ 2.83% คิดเป็นมูลค่า 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอยู่ที่ 1.50% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 อีกทั้งในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ยังคงลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง MLR และ MRR ลงอีก 0.25% เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ก็มิอาจกระตุ้นให้การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้สินเชื่อกลับมาทะยานได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้อีก 4 ปัจจัยเพิ่มเติมมาช่วยขับเคลื่อนให้สินเชื่อกลับมาเติบโตได้ในปี 2560 นี้ ได้แก่ 1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ 2. การท่องเที่ยวและบริการ 3. กำลังซื้อของผู้บริโภคและรายได้การเกษตร และ 4. การปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

สำหรับปัจจัยแรก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งจะขับเคลื่อนสินเชื่อธุรกิจ และจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ เป็นต้น คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินในปีนี้เกือบ 2 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ ได้แก่ รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง จากนั้นจะส่งผลดีไปยังอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เช่น อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นสัดส่วน 50% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด

ปัจจัยที่สอง การเติบโตของการท่องเที่ยวตามแนวโน้มการเข้ามาของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าเป็นจำนวนทั้งสิ้น 35 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่า 7% ส่งผลดีให้กับอุตสาหกรรมบริการและค้าปลีก ซึ่งจะได้รับการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่สาม กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะแถบภูมิภาคซึ่งรายได้ที่เริ่มจะกลับมาจากการปรับตัวดีขี้นของราคาสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา (เพิ่มขึ้น 24%) และอ้อย (เพิ่มขึ้น 30%) จากความต้องการของตลาดโลกที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น นำมาซึ่งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ดังนั้น สินเชื่อที่ได้รับอานิสงส์ ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (เพิ่มขึ้น 3%) สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต (เพิ่มขึ้น 7%) นอกจากนั้นแล้ว กำลังซื้อของภาคเอกชนที่กลับมาอีกครั้งจะส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะประเภทการค้าและบริการกลับมาฟื้นตัว และสินเชื่อ SME กลับมาเติบโตดีขึ้นอีกครั้งหลังจากปีที่ผ่านมาเติบโตชะลอตัวเหลือเพียง 1.4% จาก 6% ในปีก่อนหน้า

ปัจจัยสุดท้าย อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่เริ่มปรับสูงขึ้นจากผลของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีน่าจะปรับขึ้นไป 50 basis point จากสิ้นปีที่แล้ว ทั้งนี้ หนึ่งเดือนที่ผ่านมาผลตอบแทนได้ขยับขึ้นไปแล้ว 6 basis point ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มกลับเข้ามาใช้สินเชื่อในการดำเนินธุรกิจอีกครั้งหลังจากในปีที่แล้ว ธุรกิจประเภทโทรคมนาคมและอสังหาริมทรัพย์ หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนจนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ไม่เติบโต

ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ คาดว่า สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์จะทะยานกลับมาเติบโตได้ในระดับสูงที่ 6.3% ได้อีกครั้ง โดยสินเชื่อภาคธุรกิจเติบโต 6.0% ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยจะกลับมาเติบโตได้ที่ 7.1%

ถึงแม้สินเชื่อจะกลับมาเติบโตได้ดี คุณภาพสินเชื่ออาจจะต้องถูกเฝ้าระวัง โดย NPL ซึ่งเป็นลมต้านจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อประมาณช่วงปี 2557 และ 2558 ซึ่งในขณะนั้นเศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 0.7% และ 2.8% ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ TMB Analytics พบว่า หลังจากที่วัฏจักรเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้ว วัฏจักร NPL จะใช้เวลาประมาณ 18 เดือนจึงจะแตะจุดสูงสุด ซึ่งคาดว่า NPL น่าจะสูงสุดในช่วงประมาณไตรมาส 2 ของปีนี้ ที่ระดับ 3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.2 แสนล้านบาท จากนั้น จะทยอยปรับตัวดีขึ้นจนขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7% ในช่วงสิ้นปี หลังจากนั้น วัฏจักรของ NPL จะอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะส่งผลดี ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมธนาคารเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม เพราะ ความเสี่ยงในด้านสินเชื่อที่ลดลง หมายถึงบริษัทจะเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่เติบโต และส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2560 ซึ่งพบว่า การชำระคืนสินเชื่อจากทุกกลุ่มลูกค้าในเดือนมกราคม 2560 เป็นปัจจัยหลักที่มีผลให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงจากเดือนก่อน 6.63 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการลดลง 0.63% แต่ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 1.12% ซึ่งเป็นปกติของเดือนแรกของปีหลังผ่านฤดูกาลใช้จ่ายในช่วงท้ายปี ประกอบกับความต้องการสินเชื่อใหม่ในเดือนแรกของปียังไม่ปรากฏชัดเจน

สินเชื่อที่ลดลง นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในช่วงท้ายปีที่แล้ว โดยสินเชื่อที่ลดลงในเดือนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าจะมีการเบิกใช้สินเชื่อภาครัฐเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนแรกของปี แต่ก็ถูกหักกลบด้วยการชำระคืนสินเชื่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กยังประคองฐานะสินเชื่อสุทธิเป็นบวกได้เล็กน้อย จากการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจของธนาคารขนาดกลาง และสินเชื่อของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่ขยับขึ้นหลังการแยกพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเพื่อรอการขายตามแผนธุรกิจในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการฟื้นตัวของสินเชื่อในระบบธนาคาร คงจะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาคที่ให้ภาพในทิศทางเดียวกัน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ระหว่างรอจังหวะ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังอยู่ใต้แรงกดดันของภาวะหนี้ครัวเรือนสูง โอกาสการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจึงต้องอาศัยปัจจัยพิเศษ อาทิ ภาระหนี้ครัวเรือนที่ลดลงจากการก่อหนี้ในโครงการรถคันแรก และมาตรการลงทุนของภาครัฐทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และงบสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มทยอยส่งผลที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่อยู่ในระดับประมาณ 90% หรือคิดเป็นสภาพคล่องส่วนเกินประมาณกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 2-3 ปีก่อน ทำให้ประเด็นด้านการบริหารจัดการสภาพคล่องในกรณีทั่วไป ไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความคุ้นเคยกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมากขึ้น ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมเงินฝาก ดังเห็นได้จากการเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารขนาดเล็กในเดือนมกราคมที่ช่วยให้ธนาคารขนาดเล็กมียอดเงินฝากใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่และกลาง

อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งลูกค้าระหว่างธนาคารที่เจือจางลงเป็นลำดับ ทำให้แต่ละธนาคารควรคำนึงถึงการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อและเงินฝากในกลุ่มลูกค้าที่มีอำนาจซื้อสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อาจได้รับข้อเสนอพิเศษจากธนาคารคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในปีนี้ที่จะมีสินเชื่อรายย่อยที่ครบกำหนดจำนวนมาก ทั้งสินเชื่อโครงการรถคันแรก และสินเชื่อที่อยู่อาศัยซอฟต์โลนจากกรณีมหาอุทกภัยในปี 2554 รวมถึงสินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบมหาอุทกภัยที่มีวงเงินรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทยอยครบกำหนดอายุในปี 2560 อันอาจเป็นโอกาสของธนาคารที่จะเสนอผลิตภัณฑ์รีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดลูกค้าประวัติดี รวมถึงแผนการบริหารจัดการสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป

0 views
bottom of page