
BRICs เคยได้รับการหมายตาว่าจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจดาวรุ่งที่จะขับดันเศรษฐกิจโลกให้รุ่งเรืองเฟื่องฟูแทนมหาอำนาจอเมริกาและยุโรปในอดีต แต่รัสเซียกับบราซิลกลับทำเหลว จีนก็ถึงจุดอิ่มตัว เหลืออินเดียรายเดียวยังไปไหว จึงมีการหาชาติดาวรุ่งเกิดใหม่มาแทนคือ VARPs ที่มีเวียดนามเป็นตัวนำกลุ่ม และข้างบ้านเราคือ CLMV
VARPs ประกอบด้วย เวียดนาม (V- Vietnam) อาร์เจนตินา (A-Argentina) โรมาเนีย (R-Romania) และปากีสถาน (P-Pakistan)
ทุกประเทศต่างมีสภาพทางภูมิศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ รูปแบบและวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แต่ที่บรรดากูรูเศรษฐศาสตร์จับชาติเหล่านี้มารวมกลุ่มกันก็ด้วยเหตุผลเดียว คือต่างก็เป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ให้โอกาสในด้านความเติบโตของโลก
บุคลิกเฉพาะตัวที่โดดเด่นของชาติ VARPs ก็คือ เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตราเติบโตอยู่ช่วง 3-6% มีแรงงานจำนวนมากที่มีกำลังซื้อสูง
ชาติที่นำหน้ากลุ่มชาติแรกคือเวียดนาม มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
จุดเด่นของเวียดนามก็คือแรงงานที่เหลือเฟือและราคาถูก เป็นแรงดึงดูดใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาค
ส่งผลให้มีการจ้างงานสูง กำลังซื้อในประเทศสูง เนื่องจากฐานของชนชั้นกลางขยายตัวออกไปจนกลายเป็นกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ
ที่สำคัญที่สุด การเมืองของเวียดนามมีเสถียรภาพมาก สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในระยะยาว
อักษรย่อตัวถัดมา A อาร์เจนตินา ประเทศนี้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วถูกจัดให้เป็นประเทศล้มละลาย เพราะเมื่อ 10 ปีก่อนเอาเงินไปทุ่มเทกับสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอังกฤษ และแพ้ ทำให้เงินเกลี้ยงคลัง
อาร์เจนตินาขาดดุลงบประมาณและเป็นหนี้สูง ถึงขนาดไม่มีเงินบริหารรัฐวิสาหกิจสำคัญๆโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภค จนรัฐบาลต้องให้สัมปทานต่างชาติเข้าไปดำเนินการ
คนไทยบางกลุ่มดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นรัฐบาลขายชาติ
อาร์เจนตินาถูกตัดขาดจากตลาดทุนระหว่างประเทศ เพราะค่าเงินเปโซเสื่อมสุดขีด ทำให้รัฐบาลต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเอาตัวรอดอย่างเดียวดาย
แต่ด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคเอกชน ยกเครื่องเศรษฐกิจทุกด้าน ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนแบบมั่นคง จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
ประธานาธิบดีมอริซิโอ มาครี สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไฟฟ้า โดยสนับสนุนบริษัทบริการกระแสไฟฟ้าให้สามารถเรียกเก็บค่าบริการในราคาใกล้เคียงกับต้นทุน
เพราะกระแสไฟฟ้านอกจากจะเป็นพลังงานทุติยภูมิที่ใช้ในบ้านเรือนและธุรกิจแล้ว ยังเป็นพลังงานสำคัญที่สุดในภาคการผลิต
การลงทุนต่างประเทศโดยตรง (FDI) สร้างงานให้คนอาร์เจนตินามาก รัฐบาลจูงใจตั้งแต่การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปจนถึงการยกเว้นภาษีเงินกำไรส่งกลับบ้านของนักลงทุน
อาร์เจนตินาวันนี้กลายเป็นชาติที่มีอัตราเติบโตสูงเกิน 6% ที่ทั่วโลกพากันจับตามองในฐานะเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของโลก
R โรมาเนีย เป็นชาติที่เมื่อทศวรรษที่แล้ว มีสภาพโงนเงนไม่ต่างจากอาร์เจนตินา ทั้งๆที่อยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันกับชาติยุโรปอื่นๆ
แต่หลังจากทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ กลายเป็นชาติที่สงบ อยู่ ลงทุน เงินลงทุนพากันไหลเข้ามาจากยุโรปตะวันตกไม่ต่างจากอาร์เจนตินา
P.ปากีสถาน เคยเป็นชาติที่มีความวุ่นวายทางการเมืองไม่จบไม่สิ้น มีการคอร์รัปชั่นกันมโหฬาร อดีตประธานาธิบดี อาลี บุตโต ถูกศาลทหารของคณะรัฐประหารตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ
บุตรสาวนางเบนาซีร์ บุตโต เป็นทายาททางการเมืองรับช่วงต่อ แต่เกิดเรื่องอื้อฉาว สามีของนางที่เป็นมหาเศรษฐี บุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศ ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี ส่วนนางบุตโตหนีไปลี้ภัยที่ดูไบ แต่กลับมาหลังการอภัยโทษและลงสนามหาเสียงเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง
ทว่าโชคร้าย เธอถูกลอบสังหารด้วยระเบิดคาร์บอมบ์ แต่พรรคของเธอก็ได้รับชัยชนะ สามีของเธอ อาร์ซีฟ อาลี ซาร์ดาร์ลี เป็นประธานาธิบดี อดีตคู่แค้นทางการเมืองที่หันมาจับมือกันต่อต้านนายพลมูชาราฟ ผู้กระทำรัฐประหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี
การเมืองของปากีสถานคล้ายกับไทย ที่มีรัฐประหารบ่อย แต่ไม่ถี่ 7 ปีครั้งเหมือนไทย ซ้ำอดีตผู้นำหนีไปอยู่ดูไบเหมือนกัน
แต่วันนี้ปากีสถานเนื้อหอม ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนสูง ความเป็นประตูสู่ตะวันออกกลางและยุโรปทางบกหรือเส้นทางสายไหม ทำให้จีนเข้ามาขอจับมือลงทุน 46,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor)
แม้ขนาดเศรษฐกิจของ 4 ชาติ VARPs จะเล็กกว่าขนาดของ BRICs ถึง 13 เท่าตัว ทว่าก็มีพลังขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง
ที่จับตาก็คือเวียดนาม ที่อยู่ในกลุ่ม CLMV
CLMV ย่อมาจาก Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam กัมพูชา (C) ลาว (L) เมียนมา (M) และเวียดนาม (V) อันเป็นดินแดนพระจันทร์เสี้ยวโอบไทยจากด้านตะวันออกสู่ตะวันตก
สามชาติในกลุ่ม CLMV ที่ถูกจับตามองที่สุดคือ เมียนมา ด้วยอัตราเติบโตของจีดีพีที่ประเมินกันว่า ปีนี้อาจจะถึง 8.4% ถือเป็นชาติที่มีอัตราเติบโตของจีดีพีสูงที่สุดในโลก (ข้อมูลธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย)
ชาติที่สองคือกัมพูชา 7.0% ลาว 6.8% และเวียดนาม อัตราเติบโตจีดีพี 6.0%
ที่พม่า ลาว และกัมพูชา มีอัตราเติบโตสูงกว่าเวียดนามนั้น เหตุจากชาติทั้ง 3 มีขนาดเศรษฐกิจเล็กและตัวเลขเติบโต (Y-o-Y) มาจากฐานตัวเลขที่ต่ำมาก
CLMV มีประชากรรวมกัน 180 ล้านคน มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว ปีที่แล้วไทยส่งออกไปกลุ่มนี้มูลค่า 751,962 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้ไว้ 900,000 ล้านบาท อาจจะพลาดเป้าเล็กน้อย
บรรดากลุ่มทุนชาติของไทยจึงพากันไปลงทุนใน CLMV กันมาก เพราะบรรยากาศการลงทุนดีกว่าลงทุนในไทยมาก
หากปีหน้าบรรยากาศทางการเมืองไทยไม่ดี ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ในตลาดหุ้นก็อาจจะไหลไปลงทุนในย่านนี้แทนลงทุนในไทย