
ทรัมป์เอฟเฟ็กต์กระเทือนวงจรเอาท์ซอร์สไปทั้งโลก บริษัทอเมริกันพากันเตรียมถอนการลงทุนในต่างแดนกลับบ้าน หวังได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ชดเชยการผลิตนอกประเทศ แต่ยังกังวล ได้ลดภาษี แต่สินค้าจะแพงขึ้น คู่แข่งพร้อมแย่งตลาด แอปเปิ้ลถูกหมายหัวรายแรก
นโยบายกระตุ้นการลงทุนในประเทศตามประกาศช่วงหาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ที่ใช้คำขวัญ “Made in America” แม้จะยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจนกว่าเขาจะสาบานตนเป็นประธานาธิบดีวันที่ 20 มกราคม 2017
ทว่าก็ส่งผลกระเทือนไปทั้งซิลิคอนแวลลีย์ นครหลวงแห่งอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีของโลก
บรรดาบริษัทเทคโนโลยีในหุบเขาแห่งนี้ที่กว่า 90% เอาท์ซอร์สการผลิตไปยังประทศที่มีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะด้านแรงงาน
เฉพาะ แอปเปิ้ล ทรัมป์ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงว่า เขาจะกดดันให้แอปเปิ้ลดึงการผลิตเอาท์ซอร์สกลับมาผลิตในอเมริกาทั้งหมด
เมื่อทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีขึ้นมาจริงๆ แอปเปิ้ลก็อดร้อนใจไม่ได้ ด้วยเป็นหนึ่งในบรรดายักษ์ไอที ที่จ้างบริษัทนอกประเทศผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์
โดยกว่า 90% ของชิ้นส่วนที่บรรจุอยู่ในสมาร์ทโฟน iPhone ทุกรุ่น iPad ทุกรุ่น ล้วนจ้างบริษัทที่มีโรงงานในประเทศจีนผลิตตั้งสิ้น
ส่วนที่ผลิตในโรงงานในคูเปอร์ติโน ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่นั้น ก็แค่ตัวเครื่องหรือเปลือก และทำหน้าที่ประกอบตัวเรือนที่ใช้ชิ้นส่วนนำเข้าจากบริษัทในจีนเท่าหมด
เมื่อเจอทั้งขู่ทั้งปลอบว่า จะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน เป็น 45% และจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 45% เหลือ 15% สำหรับผู้ผลิตในประเทศ ก็ทำให้ต้องคิดหนัก
ชั่งน้ำหนักแล้ว ทางหนึ่งผลิตในประเทศจะได้ลดภาษีกว่า 30%
แต่คิดมุมกลับ อัตราภาษีที่ได้ส่วนลดนั้น เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในอเมริกาที่แพงกว่าค่าแรงจีน 40% แม้ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 45% ก็ดูจะไม่ต่างกันนัก
จึงต้องปรึกษากับบริษัทพันธมิตรรับจ้างผลิตหลัก 2 บริษัท คือ Foxconn กับ Pegatron แห่งไต้หวัน ที่ไปตั้งโรงงานผลิตในจีน อาศัยค่าแรงถูกในจีนดึงดูดใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจ้างผลิต
ผลการเจรจา ฟอกซ์คอนน์สนใจจะไปตั้งโรงงานในสหรัฐ แต่เพกาตรอนไม่สนใจ ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าเท่าตัว
เหตุผลที่ฟอกซ์คอนน์สนใจข้อเสนอของแอปเปิ้ลก็ด้วยเหตุว่า ฟอกซ์คอนน์ได้เทคโอเวอร์ Sharp Corp.บริษัทอายุกว่า 100 ปีของญี่ปุ่นมาแล้ว
ชาร์ป เป็น 1 ใน 4 บริษัทผู้ผลิตจอ OLED ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งขณะนี้แอปเปิ้ลกำลังพิจารณาคุณสมบัติของแต่ละบริษัทว่าควรจะให้ใครเป็นผู้ผลิตจอ OLED ให้ทุกผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล
โดยเฉพาะกับไอโฟน จอ OLED จะใช้กับไอโฟน “Next Generation” ที่จะออกสู่ตลาดในปีหน้าเพื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 10 ปีให้แก่ไอโฟนที่เป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลก
แอปเปิ้ลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จอ OLED จะเป็นจุดขายที่เด่นที่สุดของไอโฟนเจนเนอเรชั่นใหม่
อีก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่จอ OLED ได้แก่ Samsung Display Co., LG Display Co.และ Japan Display Inc.
ทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนทุกรุ่น ทุกแบรนด์แม้แต่ไอโฟน 7 ก็ยังใช้จอ LCD กันอยู่ เพราะจอ OLED เป็นจอที่ทำจากแก้ว มีประสิทธิภาพในการแสดงภาพที่ขยายขอบกว้างได้มากกว่าปกตินั้น กำลังการผลิตยังต่ำอยู่
บริษัทที่สามารถผลิตจอ OLEDได้มากกว่าเพื่อนขณะนี้คือ ซัมซุง ดิสเพลย์ แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอหากได้รับออร์เดอร์จากแอปเปิ้ล ซึ่งตั้งเป้าออร์เดอร์ปีหน้าไว้ 100 ล้านจอ
ส่วนชาร์ป ดิสเพลย์ กับเจแปน ดิสเพลย์ นั้น กำลังอยู่ในขั้นทดสอบขบวนการผลิต OLED อยู่ คาดว่าจะสามารถผลิตได้เต็มที่ในปี 2018
เมื่อมีเพียงซัมซุงดิสเพลย์รายเดียวที่พอจะป้อนจอ OLED ให้แก่แอปเปิ้ลได้ แอปเปิ้ลก็จำต้องตกลงจ้างซัมซุงผลิตไปพลางๆ ก่อน เพื่อใช้กับไอโฟนรุ่นใหม่ที่จะออกมาในปี 2017
โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกันและกันอยู่ในขณะนี้
ปี 2017 แอปเปิ้ลตั้งเป้าหมายจะส่งไอโฟนรุ่นใหม่จอ OLED ออกวางตลาดในช่วงฤดูขายปลายปี 90 ล้านเครื่องเป็นอย่างต่ำ
การที่ฟอกซ์คอนน์สนใจที่จะผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องของไอโฟนและไอแพดในอเมริกาก็ด้วยเหตุผลนี้ส่วนหนึ่ง
ยิ่งกว่านั้น บริษัทยังลดต้นทุนการผลิตลงอีกมาก โดยล่าสุดได้ติดตั้งเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานที่สามารถทำงานแทนคนงานได้ถึง 60,000 คน
การขยายฐานการผลิตไปยังสหรัฐ จึงเป็นปัญหาในเรื่องค่าจ้างแรงงาน ที่แม้จะสูงกว่าในจีนถึง 10 เท่าตัว แต่ก็ชดเชยด้วยการใช้หุ่นยนต์แรงงานได้
สำหรับเพกาตรอนนั้น เป็นบริษัทไต้หวันที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อายุแค่ 9 ปีเท่านั้น (ก่อตั้งปี 2007) เป็นบริษัทที่แทบจะไม่มีแบรนด์ของตนเอง
โดยบริษัททำหน้าที่เป็นมือปืนรับจ้างผลิตคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ชนิดเดสก์ท็อปไปจนถึงเน็ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
ลูกค้ารายสำคัญของเพกาตรอนคือ Asustek Computer และ แอปเปิ้ล โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับเอซุสนั้น เพกาตรอนก่อนปี 2007 ก็คือแผนกหนึ่งของเอซุสนั่นเอง
การปฏิเสธไม่ไปตั้งโรงงานในสหรัฐนั้น เหตุผลหนึ่งก็คือ ภาระผูกพันกับเอซุสในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์เอซุสทั้งหมด
การไปลงทุนในสหรัฐจึงอาจจะไม่คุ้ม เพราะมีลูกค้าที่อเมริกาเพียงแอปเปิ้ลรายเดียว
การพิจารณาเรื่องนี้ ยังคงจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะยังมีปัจจัย องค์ประกอบต่างๆ ที่มีผลต่อราคาของสินค้าอีกมาก
แม้แอปเปิ้ลจะเป็นผู้ครองตลาดอเมริกา เหนือผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอเมริกันด้วยกัน
แต่เมื่อใดที่ราคาของแอปเปิ้ลแพงกว่าราคาปัจจุบัน ก็ยุ่งเหมือนกัน
เพราะแม้ Nexus สมาร์ทโฟนของกูเกิ้ลจะได้รับความนิยมเป็นรองตระกูลไอของแอปเปิ้ล แต่ด้านคุณภาพแล้วแทนกันได้
จึงเมื่อใดที่ราคาของแอปเปิ้ลผลิตในอเมริกาแพงขึ้นไปตามค่าแรงเกือบเท่าตัว ก็น่าห่วงเหมือนกันว่ายอดขายของไอโฟนจะทรุด
ลดภาษีให้ก็คงแค่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่รัฐบาลน้อยลง..แต่ไม่ช่วยให้สินค้าขายดีขึ้น