
กระทรวงพาณิชย์เตือนผู้ผลิต/ส่งออกไทย รับมือการกีดกันสินค้าค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยลูกค้ารายใหญ่สุดสหรัฐ อียู และญี่ปุ่น สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารโดนตีกลับระนาว กังวลทหารยิ่งอยู่ยาว จะถูกกีดกันหนักขึ้น นักลงทุนไม่ขยับ รอเลือกตั้งแล้วค่อยคิด
ในยามที่ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในไม่สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีนี้ ยังกลับมีความผันผวนทางการเงินเข้ามาแทรก
เมื่อไม่กี่วันก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเตือนแบงก์พาณิชย์ทั้งหลายว่า ให้เตรียมเงินสำรองไว้รับภาวะวิกฤต
เพราะแม้ฐานะธนาคารทั้งระบบโดยรวมจะยังแข็งแกร่ง ประเมินสถานการณ์ NPL ไม่น่าห่วง สินเชื่อยังทรงตัว
ทว่าที่น่ากังวลแทนน่าห่วงก็คือภาวะเศรษฐกิจของไทย
จากการสำรวจเชิงสมมุติฐานภาวะวิกฤติพบว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวลงถึง 4%ในช่วง 2 ปีติดต่อกัน
ขณะเดียวกันตัวเลขส่งออกยังติดลบต่อเนื่องเช่นกัน จนคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องกันยาวถึง 4 ปี
แม้ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยลดลง เพราะกำลังซื้อภายในประเทศคู่ค้าของไทยลดลง การบริโภคลดลง ทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง
ทว่าปัจจัยการเมืองภายในประเทศก็เป็นสาเหตุสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
เพราะประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทยใช้เป็นเงื่อนไข กีดกันสินค้าไทย
ขณะเดียวกันคู่แข่งของไทยที่เป็นเพื่อนอาเซียน ต่างก็ฉวยโอกาสที่ประเทศคู่ค้าของไทยใช้เงื่อนไขกีดกันทางการค้าด้วยเหตุผลไทยมีรัฐบาลเผด็จการทหาร ชิงลูกค้าไปจากเรา
เวียดนามเป็นชาติคู่แข่งสำคัญที่สุดของไทย..กูรูเศรษฐกิจไทยระดับชาติส่วนใหญ่ปรามาสเวียดนามว่า กว่าจะตามทันไทยได้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี (จากปี 2558)
แต่มาวันนี้ เวียดนามแซงหน้าไทยไปได้หลายหมวดสินค้าแล้ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ฉวยโอกาสที่เกิดช่องว่างจากการแทรกแซงสินค้าไทยของหลายประเทศคู่ค้าหลัก
สหรัฐจัดไทยไว้เป็นประเทศเทียร์ 3 ยุโรปตั้งกำแพงสกัดการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าประมง ที่ใช้ตามสหรัฐด้วยข้อหาค้ามนุษย์และใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง
นายกฯญี่ปุ่น นายกฯอินเดีย ถามนายกรัฐมนตรีไทยทั้งเมื่อครั้งไปเยือนประเทศเหล่านั้น ทั้งในการประชุมนานาชาติต่างวาระ
ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด..คำถามลักษณะนี้ ล้วนเป็นตัวบั่นทอนการนำเข้าสินค้าไทย ทำให้เวียดนามใช้เป็นโอกาสเข้าไปแทนที่เราทุกช่องว่าง
การเติบโตภาคส่งออกของเวียดนามเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราเศรษฐกิจเติบโตสูงที่อันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีนในปีนี้
การส่งออกเวียดนามบูม สวนทางกับส่งออกบุ๋มของไทย ทำให้ท่าเรือน้ำลึกของเวียดนาม Port of Ho Chi Minh City คับคั่ง จนต้องสร้างอีกท่าหนึ่งเหนือโฮจิมินห์ ซิตี้ขึ้นไป
ชื่อ Dung Quat (ดัง กวั๊ด) เป็นท่าเรือน้ำลึกใหญ่ที่สุดในภาคกลาง เส้นทางเดินเรือเชื่อมกับเมืองท่าซีแอตเติลของสหรัฐโดยตรง
ในอนาคตเมื่อจีนสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงลงมาเวียงจันทน์ ข้ามมาหนองคาย ลงไปถึงสิงคโปร์
จะมีทางแยกจากเวียงจันทน์ลงไปท่าเรือน้ำลึกโฮจิมินห์ซิตี้อีกสายหนึ่ง โดยผ่าน ท่าเรือดัง กวั๊ด ด้วย
ส่วนที่ข้ามมาไทย เมื่อมาถึงแก่งคอย ก็จะมีเส้นทางแยกไปแหลมฉบังและสิ้นสุดที่มาบตาพุด
ขณะที่สายหลักเข้ามากรุงเพฯ แล้วจะเลี้ยวลงใต้ ไปเชื่อมกับเส้นทางที่สิงคโปร์กับมาเลเซียสร้างขึ้นมาจ่อรออยู่ที่ปาดังเบซาร์ขณะนี้
ในรูปการณ์เช่นนี้ ทั้งจีน ทั้งเวียดนาม ต่างก็เพิ่มศักยภาพทางการค้าไปสู่ภูมิภาคอาเซียนและสู่ซีกโลกตะวันตกได้มหาศาล
ถ้าไทยยังเอาแต่มุ่งยุ่งเหยิงกับการเมืองเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก ก็จะคงสภาพตัวหดเช่นนี้ไปเป็นสิบๆ ปี แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
ทั้งนี้เพราะ การที่เรามีรัฐบาลทหารเช่นนี้ ไม่ต่างไปจากพม่าเมื่อครั้งยังมีรัฐบาลทหาร คือประเทศถูกปิดกั้นทางเศรษฐกิจโดยปริยาย
เมื่อกลับมาเข้าประชาคมโลก ก็จะตามเพื่อนไม่ทัน กลายเป็นมนุษย์โตช้า
ฟิลิปปินส์ยุคเผด็จการมาร์กอส กับพม่ายุคฮุนต้าครองเมือง ถูกเรียกว่า Sick Man of Asia ก็ด้วยสาเหตุนี้
ครั้งหนึ่งพม่าเคยเป็นชาติส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก จนได้ฉายาว่า Rice Bowl of Asia คือเป็นชามข้าวแห่งเอเชีย
พอมีรัฐบาลเผด็จการทหาร ข้าวพม่าแทบจะไม่ออกสู่ตลาดโลก ขายได้ก็แต่จีนเป็นหลัก
ไทยก็เลยได้โอกาส ครองตลาดข้าวโดดเดี่ยวมาหลายปี
วันนี้ สหรัฐรับปากกับ นางอองซาน ซูจี ประธานาธิบดีหลังม่าน ว่าจะยกเลิกมาตรการแซงชั่น
(รัฐธรรมนูญใหม่ของพม่าออกแบบกีดกันนางซูจีโดยเฉพาะ โดยกำหนดว่า ผู้มีคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดีได้ จะต้องไม่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ)
ถึงวันนั้นไทยก็จะเสียตลาดข้าวรายใหญ่ๆ ให้พม่าอีกราย หลังจากเวียดนามและอินเดียแย่งไปพอแรงแล้ว
แม้กระทรวงพาณิชย์จะเตือนให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเตรียมรับมือกับการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกที่เกลียดชังการปกครองระบอบเผด็จการ
ให้ข้อมูลว่าปี 2558 สินค้าไทยถูกกีดกันด้วยมาตรการต่างๆ รวมกันถึงกว่า 3.5 หมื่นมาตรการ
แต่ผู้ผลิตเพื่อส่งออกก็ไม่รู้จะเตรียมการรับมืออย่างไร
เพราะข้อจำกัดบางข้อในการส่งออกของเรานั้น อยู่เหนือความสามารถที่ผู้ประกอบการจะจัดการ แก้ไขหรือควบคุมได้
คงจะต้องทำไปตามมีตามเกิด เน้นคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นหลัก..สร้างนวัตกรรมใหม่ ผลิตสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง ที่มีคู่แข่งน้อย ใช้ต้นทุนต่ำ บริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนเรื่องให้ปรับตัวนั้น ผู้ประกอบการและนักลงทุนล้วนปรับตัวกันมานานแล้ว ตั้งแต่ใช้นโยบายบริหารความเสี่ยง มาจนถึงอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย
กอดทุนเอาไว้เฉยๆ เวท แอนด์ ซี ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งเท่านั้น