
กรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่มีผู้โดยสารจนต้องลดค่าโดยสาร แต่กลับขาดทุนมากกว่าเดิม น่าจะเป็นเพราะสู้กับรถตู้ไม่ไหว
รถไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นรถลอยฟ้าหรือรถใต้ดิน เป็นระบบขนส่งมวลชนที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เที่ยว (ขบวน) ละมากๆ ช่วยแบ่งเบาภาระการเดินทางและลดปัญหาการจราจรได้มาก
ช่วงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาก่อน ได้ติดตามเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 11 สายหลักเพื่อให้ทันกับการเติบโตของกรุงเทพฯและปริมณฑล
แต่เพราะรัฐบาลช่วงนั้นอายุสั้น ก็เลยไม่สามารถเร่งรัดให้โครงการเดินหน้าเร็วขึ้น ทันกับการเพิ่มจำนวนผู้เดินทางเข้ากรุงเทพฯรอบในที่ขยายตัวเร็วมาก
แม้ปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ 16 จังหวัดจะรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจกรุงเทพฯได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นกรุงเทพฯก็ยังเป็นแหล่งงานที่หนาแน่นที่สุดในประเทศอยู่
การที่ปริมณฑลนครหลวงมีอัตราเติบโตสูง และมีการเลียนแบบกรุงเทพฯแทบทุกด้าน ทำให้ถ่ายทอดปัญหาทุกด้านของกรุงเทพฯไปด้วย
จากสถิติเปรียบเทียบยอดขายรถยนต์ระหว่างกรุงเทพฯกับปริมณฑลนครหลวงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ายอดขายรถยนต์ทั้งรถเก๋งและรถพาณิชย์ในปริมณฑลขยายตัวสูงกว่ายอดขายในกรุงเทพฯถึง 22%
เหตุผลคือ แม้กรุงเทพฯจะยังเป็นศูนย์กลางการผลิตของประเทศ ทว่าช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลในด้านการลงทุนเน้นไปที่การกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาค
โดยเฉพาะในเขตปริมณฑล ทำให้แรงงานอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่เขตปริมณฑลนครหลวงมากขึ้น
เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น มีแรงงานเข้ามามากขึ้น จำนวนผู้บริโภคก็มากตาม ทำให้เศรษฐกิจในเขตปริมณฑลนครหลวงเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่กระนั้น กรุงเทพฯก็ยังเป็นศูนย์กลางทุกๆ ด้านอยู่ ถนนทุกสายยังมุ่งเข้ากรุงเทพฯเช่นในอดีต รถยนต์ รถโดยสารทุกประเภทยังคงมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางหรือจุดหมายปลายทาง
ปัญหาการจราจรติดขัดหนักทุกวันนี้ก็ด้วยสาเหตุนี้
การคมนาคมระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟบนดิน รถไฟ (ฟ้า) บนทางยกระดับ รถไฟฟ้าใต้ดิน ล้วนเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัดติดขัดทั้งสิ้น
แต่โครงการเริ่มกันช้ามาก แต่ละสายใช้เวลาในการเริ่มโครงการนานมาก บางสายตั้งโครงการไว้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว กว่าจะลงมือสร้างได้ก็เลย 10 ปี ลงมือสร้างก็อีก 6- 7 ปี
ช่วงที่เชื่องช้านี้ รถขนส่งมวลชนที่คล่องตัวกว่า โดยเฉพาะรถตู้ เข้ามาแทนที่ทุกเส้นทางรถไฟฟ้าหมดแล้ว
การที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนเพราะมีผู้โดยสารน้อยกว่าเป้าหมายมาก จาก 80,000-90,000 คนต่อวัน ได้แค่ 20,000 คนก็ด้วยสาเหตุนี้
รถตู้สายชานเมืองและรถวิ่งระหว่างเมืองเก็บค่าโดยสารถูกกว่ารถไฟฟ้ามาก ส่วนใหญ่ตลอดสาย 25 บาท
ขณะที่รถไฟฟ้าสถานีแรกคิด 15 บาท สถานีถัดไป สถานีละ5 บาท อย่างสายสีม่วงนั้น ค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท
แม้วันนี้จะลดราคาลงมาเหลือราคาสูงสุด 29 บาท แต่ก็ยังแพงกว่ารถตู้ถึง 4 บาท
ลดลงมาแล้ว ก็ยังขาดทุนเหมือนเดิม ซ้ำหนักกว่าเดิม
เพราะแรงจูงใจด้วยค่าโดยสารถูกลง ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารแค่ 20% เท่านั้น แต่ลดราคาให้ถึง 30% เศษ
ขณะที่รถตู้ที่วิ่งขนานหรือมีเส้นทางและจุดหมายปลายทางใกล้เคียงกับรถไฟฟ้ายังคงมีผู้โดยสารจงรักภักดี ขึ้นกันเหมือนเดิม
การที่ผู้โดยสารเลือกรถตู้นั้น นอกจากราคาค่าโดยสารถูกกว่ารถไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นรถโดยสารที่ผู้โดยสารทุกคนได้นั่งหมด
ต่างจากรถไฟฟ้า ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารแน่นมาก (ยกเว้นสายสีม่วง) จนต้องยืน
การที่รถตู้สามารถทำราคาค่าโดยสารได้ถูกกว่านั้น เหตุผลคือ รถตู้คันเดียว ใช้คนขับคนเดียว ทั้งขับทั้งเก็บค่าโดยสาร
เทียบกับรถไฟฟ้า ทั้งระบบต้องใช้ทั้งคน ทั้งพลังงาน ทั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ต้นทุนจึงสู้รถตู้ไม่ได้
เรื่องต้นทุนเดินรถนั้น แม้การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเป็นระบบขนส่งที่ราคาถูกที่สุด แต่กลับขาดทุนหนักที่สุด
ความเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้การรถไฟฯสามารถยืนอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากรัฐ หากให้เอกชนดำเนินการ อาจจะได้กำไรก็ได้
ผมเคยได้รับการไหว้วานให้ศึกษาการแก้ปัญหาขาดทุนของการรถไฟฯเมื่อ 20 ปีก่อนเพื่อนำไปเป็นนโยบายบริหารการเงิน
ศึกษาแล้วสรุปได้ 4 ข้อ ในจำนวนนั้นได้มีการแก้ไขไป 2 ข้อ แต่อีก 2 ข้อยังคาราคาซังมาจนบัดนี้ โดยมีข้อหนึ่งที่รัฐบาลนี้กำลังจะดำเนินการ
นั่นคือการนำที่ดินของการรถไฟมาหาผลประโยชน์
การรถไฟมีที่ดินอยู่ทั่วประเทศ แม้แต่จังหวัดที่รางรถไฟไปไม่ถึงเช่นเชียงราย (สมัยนั้น) ก็ยังมี
ที่ดินเหล่านั้น กันเอาไว้สำหรับการสร้างทางรถไฟในอนาคต โดยมีส่วนเผื่อเอาไว้เท่าตัว
ถ้าเอาอีกเท่าตัวนั้นมาเปิดให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ก็จะมีรายได้มหาศาล ปลดหนี้การรถไฟฯได้ทันที
เฉพาะที่ดินย่านมักกะสันที่ เอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าพ่อแชร์ชาร์เตอร์ เคยตั้งโครงการเอาไว้ก่อนหนีคดีไปเมืองนอกนั้น ก็ตก 20,000 ล้านบาท (สมัยนั้น)
ส่วนอีกข้อใน 4 ข้อก็คือการลดต้นทุน โดยลดต้นทุนบุคลากร ซึ่งมีมากกว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ หลายเท่าตัว
จากการศึกษาพบว่า จำนวนพนักงานรถไฟฯทุกๆ ด้านรวมกันนั้น เฉลี่ยแล้ว ระยะทาง 1 กิโลเมตรตามเส้นทางรถที่มีอยู่ขณะนั้น ใช้ลูกจ้างหรือพนักงานถึง 8 คน
ลูกจ้างเหล่านี้ ไม่ได้มีค่าจ้างอย่างเดียว แต่มีสวัสดิการตามติดตัวมาด้วย
การที่การรถไฟฯมีลูกจ้างมากขนาดนั้น สาเหตุจากกฎระเบียบการจ้างข้อหนึ่งที่ว่า เมื่อมีการเพิ่มจำนวนลูกจ้าง ให้รับลูกหลาน เครือญาติของลูกจ้างหรือของพนักงานเก่าไว้ก่อน
หัวหน้าหน่วยงานใดอยากให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ได้เข้าทำงานในการรถไฟฯ ก็ตั้งอัตราขึ้นมา
ใครมาใหม่ก็ตั้งอัตราใหม่ ตั้งกันจนล้นงาน
คำว่า “ 7 ชั่วโคตร”ที่ใช้กับกฎหมายบางฉบับขณะนี้ วันนี้ขอยืมมาใช้กับการรถไฟว่า “ขาดทุน 7 ชั่วโคตร”
ที่จริงยาวนานกว่า 7 ชั่วโคตร เพราะรถไฟไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว
รถไฟไทยวันนี้ จึงยังเป็นรถไฟที่วิ่งแบบ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ไม่ต่างไปจากสมัยเจ้าคุณปู่ของปู่ ของปู่ เช่นเดิม