top of page
312345.jpg

ไทยเดินตามจีน อินเดีย ลงทุนรัฐมือเติบ เร่งโต ?


การที่จีนกับอินเดียกลายเป็นเศรษฐกิจที่โตเร็วที่สุดในโลก มิใช่ด้วยจำนวนผู้บริโภคและแรงงานมากและถูกที่สุดในโลกเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะรัฐลงทุนอย่างทุ่มเท

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเก่า และญี่ปุ่น ที่เป็นชาติพัฒนาแล้วมีอัตราเติบโตอย่างเชื่องช้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ที่เกิดกับสหรัฐนั้น จีนกลับโตขึ้นมาอย่างพรวดพราด

ภายใน 16 ปี อัตราเติบโตของจีดีพีต่อหัวของจีน เฉลี่ย 9-10 % ขณะที่อินเดียมาเร่งโตเอาในช่วง 5 ปีหลัง

แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจนเกิดการหดตัว กลายเป็นภาวะปกติธรรมดาใหม่( New Normal ) แต่จีนก็ยังเป็นชาติที่เติบโตสูงสุดในโลกด้วยอัตราเติบโตของจีดีพี 6.4% ส่วนอินเดียโต 6.3% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ยุโรปจีดีพีโตต่อหัว 1.7% สหรัฐ 1.6% ญี่ปุ่น 0.6%

สำหรับปีนี้ ตัวเลขจากธนาคารโลกตั้งแต่ต้นปี พบว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในโลก 5 แหล่งนี้ ยังคงรูปรอยเมื่อปีที่แล้ว

การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของจีนและอินเดียเช่นนี้ ศาสตราจารย์จู่ เตี้ยน แห่งวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศยุโรปจีน วิเคราะห์ว่า เกิดจากการทุ่มเทการลงทุนภาครัฐ (State Investment) ที่ปีนี้เพิ่มจากปีก่อนถึง 23.5% สวนทางกับการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นแค่ 2.8% แต่กระนั้นก็ยังดีกว่าอินเดียและบางประเทศที่ติดลบ

สำหรับอินเดีย การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 21% แต่ภาคเอกชนกลับลดลงเป็น -1.4%

แต่แม้จะติดลบ ทว่าอัตราเติบโตของอินเดียในไตรมาสแรกกลับแซงจีน คือ 6.6% ต่อหัว ขณะที่จีนโต 6.2% อียูโต 1.6% สหรัฐ 1.3% และญี่ปุ่น 0.2%

ส่วนไตรมาสที่ 2 สหรัฐโตลดลง 0.4% ส่วนชาติอื่นๆโตใกล้เคียงกับไตรมาสแรก เทียบการลงทุนภาครัฐ สหรัฐลงทุนเพิ่มขึ้นแค่ 1.2% ภาคเอกชนลงทุนแค่ 0.3% เท่านั้น การลงทุนภาครัฐของจีนนั้น เน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการสร้างทางรถไฟ ทางหลวง ทางน้ำ สนามบิน และโครงข่ายรถไฟในชนบท โดยตั้งแต่ต้นปีมานี้ รัฐลงทุนไปแล้ว 131 โครงการ ปี 2017 วางแผนไว้แล้ว 92 โครงการ และปี 2018 ตั้งไว้ 80 โครงการ

มองอีกด้านหนึ่ง การลงทุนภาครัฐที่มีอัตราขยายตัวสูงๆของจีนและอินเดีย ทำให้รัฐต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น ตัวเลขหนี้สาธารณะของจีนกลายเป็นความวิตกกังวลของโลก เพราะหากเกิดอาการฟองสบู่แตกขึ้นมาเมื่อใด เศรษฐกิจโลกจะปั่นป่วนยิ่งกว่ายุโรปเจอหนี้สาธารณะเน่าของกรีซ เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก เงินหยวนเป็นสกุลเงินตราสำคัญในตะกร้าเงิน และเป็นสำรองเงินตราต่างประเทศสกุลหนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

นอกจากนี้ ในระยะ 4-5 ปีมานี้ หยวนมีบทบาทเป็นเงินตราค้าขายภายในภูมิภาค ทั้งเอเชียแปซิฟิก ทั้งอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรจีน 1.3 พันล้านคน ขณะที่อินเดียมี 1.1 พันล้านคน การบริโภคภายในประเทศของประชากร 2 ชาตินี้ มีสัดส่วนสูงมากในจีดีพี แต่น้อยกว่ามูลค่าการส่งออก

เพราะเหตุนี้ เมื่อการส่งออกลดลง อัตราเติบโตของจีดีพีก็ลดตาม จากตัวเลข 2 หลักเหลือหลักเดียว

การค้าโลกเริ่มหดตัวตั้งแต่ปี 2008 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2014-2015 ทำให้ประเทศที่อัตราเติบโตของจีดีพีต้องพึ่งพาการส่งออกมากๆอย่างจีนและอินเดียต้องหันมากระตุ้นตลาดภายในประเทศแต่เพราะกำลังซื้ออ่อน รัฐบาลจึงต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing- QE) และลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0-0.25%

ล่าสุด ญี่ปุ่นถึงกับใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (negative rate)โดยอัดฉีดเงินเข้าไปซื้อพันธบัตรธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ยราคาถูก ผลก็คือ เกิดสภาพคล่องสูง ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นการบริโภค(ผ่านบัตรเครดิต) กระตุ้นการลงทุน ต้นทุนผลิตต่ำ สินค้าราคาถูก การบริโภคภายในประเทศขยายตัว

ล่าสุด อัตราการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐมีอัตราขยายตัวของการบริโภคสูงสุดนับแต่พ้นภาวะถดถอย

จีนเองก็ใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเช่นกัน ได้ผลไม่ต่างจากสหรัฐ ยูอี และญี่ปุ่น

แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องลงทุนภาครัฐบาลเสริมเข้าไปอีก ส่วนอินเดียนั้น พยายามกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยดร.ราคุราม ราชัน ผู้ว่าการธนาคารกลางที่กำลังจะหมดวาระในเดือนนี้และไม่ยอมต่ออายุ ใช้มาตรการผ่อนคลายอย่างหนัก ถึงขนาดนิรโทษกรรมให้นักลงทุน นักธุรกิจที่ติดแบล็คลิสต์ในเครดิตบูโรสามารถกลับมากู้เงินใหม่ได้

แม้จะเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียรอบใหม่ แต่รัฐบาลก็ยอมเสี่ยง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนซึ่งสอดรับกับการลงทุนภาครัฐ ผลก็คือ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น การผลิตขยายตัวเต็มศักยภาพ วงจรเศรษฐกิจที่ซบเซากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อัตราการหมุนเวียนของเงินตราภายในประเทศเร็วและคล่องขึ้น แม้การค้าโลกจะหดตัว การส่งออกทั้งโลกเมื่อสิ้นสุดปี 2015 เฉลี่ยทั้งปีลดลง 11.3% การนำเข้าลดลง 13.0 %

แต่เมื่อตลาดภายในประเทศเติบโตดี โดยเฉพาะในจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และอินเดียรองลงมา ก็ทำให้จีดีพีเติบโตได้ดี แม้จะไม่เท่ากับรายได้จากการส่งออกก็ตาม

การลงทุนภาครัฐ การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การกระตุ้นการส่งออก ดูจะเป็นสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่ประสบภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองในขณะนี้

สำหรับประเทศไทย การลงทุนภาครัฐทุ่มเทกันขนาดหนัก เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน สาขาที่เติบโตที่สุดได้แก่การท่องเที่ยว สาขาอื่นๆหัวเทียนบอดหรือเขม่าจับกันหมด เครื่องยนต์จึงเดินไม่เต็มสูบ

การที่โครงสร้างเศรษฐกิจของเราเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก โดยมูลค่าส่งออกมีสัดส่วนในอัตราเติบโตของจีดีพีถึงกว่า 70%

เมื่อต้องพึ่งพาการส่งออก ก็ต้องรอการฟื้นตัวของการค้าโลก ตัวเลขส่งออกเดือนล่าสุดยังติดลบกว่า 2% แสดงถึงว่า ตลาดโลก ตลาดเรา ยังไม่ฟื้นตัวดี

หากยึดกรอบเวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยผ่านการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐไปใช้ในการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี กว่าจะสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้บรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้เพราะเมกะโปเจ็กต์เหล่านั้น ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มต้น หรือบางด้านยังไม่เริ่มต้นเลย

ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการขนส่งระบบราง โครงการระบบขนส่งทางน้ำ โครงการด้านพลังงานทดแทน ฯลฯ

ถึงเวลานั้น เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็ได้

เพราะโตตามโลก ที่ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จ้าขึ้นทุกทีแล้ว

0 views
bottom of page