top of page
312345.jpg

จับไต๋ผู้นำ FED.."Party is over!" อย่ามัวหม่ำเพลิน


นักเศรษฐศาสตร์ไทย “ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ” จับสัญญาณคำพูดประธาน+รองประธาน FED ล่าสุดฟันธงปรับขึ้น “ดอกเบี้ย” ท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที เตือนสติคนลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่าฝันเพลิน เพราะงานเลี้ยง-ปาร์ตี้ใกล้เลิกเต็มแก่ ควรหาทางหนีทีไล่ให้พร้อม หนีฟองสบู่แตก Fund Flow ไหลออกจากประเทศเร็วมาก ไตรมาส 4/2016 จุดเปลี่ยนอารมณ์ตลาด

ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา-FED ออกมาพูด รวมทั้งกรรมการคนอื่นๆ ช่วงนี้เปิดทางให้ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ว่า โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 2-3 เดือนนี้มีโอกาสมาก โดยเฉพาะในปีนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ประมาณเบร็กซิทเกิดขึ้น คงได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แน่ ตรงนี้ค่อนช้างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ย 1 หรือ 2 ครั้ง หรือขึ้นเดือนไหน คิดว่าโอกาสขึ้น คงจะขึ้นครั้งเดียวค่อนข้างจะสูง และโอกาสที่จะขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ ก็น่าจะสูงกว่าเดือนกันยายนค่อนข้างชัด

“สาเหตุที่มองว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ค่อยเร็ว เพราะสังเกตจากที่นางเยลเลนพูด จะเน้นเรื่องการจ้างงานเสียส่วนใหญ่ คือพยายามจะบอกว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หรือจะขึ้นเร็วแค่ไหน ขอดูตัวเลขการจ้างงาน เรียกว่านาทีสุดท้าย แล้วก็พูดตรงๆว่า ตัวจีดีพีสหรัฐอเมริกา เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจที่มันค่อนข้างดี ไม่ได้ส่งผลให้การจ้างงานเยอะขึ้นเท่าไหร่ ก็เป็นจุดที่ว่า นางเยลเลนใช้ปรามตลาดเหมือนกันว่าอย่ามองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ถ้าการจ้างงานไม่ดี และตลาดก็รีแอ็ค คืองงๆ จะเห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์หรือตัวดาวน์โจนส์หรือเอสแอนด์พี ก็ขึ้นๆลงๆในช่วงต้น ก่อนที่จะลงมายอมรับว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยน่าจะสูงขึ้นแล้วในช่วงท้ายๆตลาด” ดร.บุญธรรมกล่าว และว่า ตรงนี้อาจจะต่างจากนายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟดที่มองว่าจีดีพีน่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่งที่มองว่าไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วคือ

“ถ้าสังเกตจากคำพูดนางเยลเลนพูดในหัวข้อที่ว่าเรื่องนโยบายการเงินในอนาคตศตวรรษหน้า มองว่าเฟด หรือธนาคารกลางอื่นๆ จะมีตัวอยู่ตัวหนึ่งที่ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สมมุติว่าดอกเบี้ยประมาณนี้ จะทำให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้น และจีดีพี รวมถึงการเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไปได้ดี หรือที่เราเรียกว่าไนรูเรท ตรงนี้คือภาษาทางเศรษฐศาสตร์ เขามองว่าจะลดลง จากเมื่อก่อนมองว่าอาจจะ 5% แต่ตอนนี้เหลือ 2-3% แล้ว”

ดร.บุญธรรมสรุปว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างแน่ เพราะอยู่ในช่วงที่เรียกว่า NORMALIZATION เริ่มจะดึงเหมือนกับตรงข้ามผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็คือการที่จะเปลี่ยนให้นโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ซึ่งนางเยลเลนพูดว่าเวลาที่เฟดจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีนโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติ มี 2 ประเด็น คือขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กับลดขนาดสินทรัพย์ของงบดุลทางการเงินสหรัฐอเมริกา

“นางเยลเลนบอกว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อน ก่อนที่จะลดตัว BALANCE-SHEET งบดุลสหรัฐอเมริกาลง ดังนั้นการที่เฟดจะทำการ NORMALIZATION หรือทำให้นโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรเสียเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยก่อน ซึ่งสาเหตุที่นางเยลเลนพูดอย่างนี้ เพราะว่าเวลาดอกเบี้ยขึ้นมันคุมแรงกระเพื่อม ในลักษณะสภาพเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาได้ง่ายกว่าเวลาลดขนาดระดับสินทรัพย์ของงบดุลเฟด แต่เชื่อว่าในการที่จะเปลี่ยนนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ปกติ ปีหน้าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง ส่วนปีนี้คงขึ้นครั้งเดียว” ดร.บุญธรรมกล่าว

“มีประโยคหนึ่งที่นางเยลเลนพูดไว้ค่อนข้างน่าคิดก็คือว่า ส่วนใหญ่ 70% คือเขาพูดไม่เกี่ยวกับที่ตลาดมอง แต่ก็พูดถึงทฤษฎีคือวิชาการไปสักพัก คือเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ โดยมีการพูดคำหนึ่งว่า อย่างไรก็ดีที่เขาพูดมาเยอะแยะเรื่องเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เฟดคงไม่เลือกออกมาใช้ ซึ่งหมายถึงว่า นางเยลเลนพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบ คือความหมายก็คือคงไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ อย่างไรก็คงไม่กลับไปแล้ว คิดว่าอย่างนี้คงจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งเวลานักเศรษฐศาสตร์หรือคนระดับนางเยลเลนพูดจะมีลักษณะที่เหมือนมีสัญญาณ”

ดร.บุญธรรมกล่าวว่า อีกเรื่องที่ค่อนข้างจะชัดก็คือ ถ้าดูรูปในสไลด์ที่นางเยลเลนพูด จะมีช่วงดอกเบี้ยที่ว่า สมมุติดอกเบี้ยตอนนี้จะขึ้นไปสู่ 0.25,0.5 และก็ 1% เมื่อก่อนช่วงจะไม่ค่อยห่างกันเท่าไหร่ คือจะห่างกันประมาณ 1% สูงสุดกับต่ำสุด จะห่างกันแค่ 1% แต่ตอนนี้ห่างกัน 3% หมายความว่า สมาชิกเฟดเองไม่มีความมั่นใจว่าดอกเบี้ยจะไปที่จุดใด แต่ละคนจะมีความเห็นค่อนข้างต่างกัน ซึ่งตรงนี้ทำให้การดำเนินนโยบายการเงิน มีความรัดกุมขึ้น คือต้องไม่ปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำไปนานๆ

“มีคำหนึ่งที่นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ให้สัมภาษณ์ คือเขามั่นใจว่าตอนนี้ตัวเฟดเอง ตอนนี้ยังไม่ได้ปล่อยให้ตลาดหุ้นบับเบิ้ล เกิดภาวะฟองสบู่คือดอกเบี้ยที่ขึ้นในจังหวะนี้ ไม่ได้ขึ้นช้าไป และในทางกลับกันคือถ้าไม่ได้ขึ้นตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว ตรงนี้คือมุมหนึ่งที่นายฟิสเชอร์พูดกับสื่อว่าดอกเบี้ยถึงเวลาขึ้นแล้ว จุดนี้ทำให้มุมหนึ่งของเมืองไทย คือปาร์ตี้งานเลี้ยงในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ฟันด์โฟร์ที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนภายใต้บรรยากาศดอกเบี้ยในโลกที่ต่ำมากๆในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอาจจะใกล้ถึงวันเลิกราแล้ว” ดร.บุญธรรมเตือน

“ใครที่กำลังเพลิดเพลินอยู่ โดยส่วนตัวคิดว่ามีประโยคหนึ่ง อย่าลืมว่าไตรมาส 4 เป็นจุดที่เปลี่ยนมู้ดของปาร์ตี้ก็เป็นได้ ตรงนี้ถ้าจะดีไซน์ออกแบบวางแผนลงทุนกลยุทธ์นี้ เชื่อว่าค่อนข้างชัดว่าไตรมาส 4 ภาพใหญ่ฟันด์โฟร์ของต่างประเทศมันกำลังจะกลับทิศค่อนข้างชัดเจน ซึ่งคิดว่าเราจะได้กินของหวานก่อนหรือไม่นั้น คือยังมีอาหารเสริ์ฟก่อน 1-2 ชุด จากนั้นคงต้องรีบขยับเก้าอี้อีกสักนิด ดูที่จอดรถว่าคนเยอะหรือไม่ จะลงไปจะติดยาวแค่ไหน เพราะเวลาที่ฟันด์โฟร์ต่างประเทศออกไปก็เร็วมาก อาจจะต้องดูทางหนีทีไล่ แต่อย่าลืมคืออย่ากินเพลิน”

37 views
bottom of page