เริ่มต้นปี 2561 ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวจีน และเป็นอีกช่วงหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จากผลสำรวจของ China Tourism Academy และ Ctrip (เว็บไซต์ที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีน) พบว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวยังต่างประเทศมีประมาณ 6.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีก่อน และจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนมีการจองผ่าน Ctrip อันดับแรก คือ ไทย (เมืองท่องเที่ยวที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เป็นต้น) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และเวียดนาม และจากผลสำรวจ พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจะเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเองเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 52.0
ทั้งนี้ จากผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน กอปรกับการทำตลาดอย่างเข้มข้นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงห้างสรรพสินค้าที่ต่างทำการตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่ชำระผ่านระบบการชำระเงินของจีนอย่าง Alipay หรือ Wechat Pay โดยให้คูปองส่วนลด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวในไทยน่าจะมีโอกาสสูงถึง 1.12 ล้านคน เติบโตร้อยละ 41.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การเติบโตที่เร่งขึ้นนอกจากจะมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลของการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีน ที่ปีนี้ตกในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ปีก่อนอยู่ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ หากขจัดผลของการเหลื่อมเดือนของช่วงตรุษจีนดังกล่าว โดยพิจารณาจากนักท่องเที่ยวจีนโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 2.10 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทิศทางนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 ยังเติบโตได้ดี...คาดทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมีจำนวนประมาณ 10.4-10.6 ล้านคน
สำหรับทิศทางที่เหลือของปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนท่องเที่ยวในไทยยังน่าจะมีความคึกคักต่อเนื่องจากต้นปี ซึ่งนอกจากภาวะแวดล้อมของตลาดที่ยังเอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และสถานการณ์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจีนและเกาหลีใต้ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ในปี 2561 นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั้งไทยและจีนยังกลับมาทำตลาดอย่างเข้มข้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจสายการบินทั้งสายการบินของไทยและของจีนมีแผนขยายเส้นทางการบินระหว่างไทยและจีน ไปยังเมืองรองของจีน และการขยายเส้นทางการบินตรงมายังเมืองท่องเที่ยวรองของไทย เพื่อขยายฐานตลาดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่
สำหรับประเด็นข้อกังวลในเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนไปในทิศทางที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในระยะสั้นน่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในไทย เนื่องจากค่าเงินหยวนปรับแข็งค่าขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินบาท กอปรกับเมื่อพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินหยวน ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เห็นได้ว่าค่าเงินหยวนกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท
สถานการณ์แวดล้อมที่ยังเป็นบวกต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอ
ว่า ในปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10.4-10.6 ล้านคน เติบโตร้อยละ 6.3-8.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 ในปี 2560 และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยจะมีมูลค่าประมาณ 573,100-584,600 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9.3-11.4 จากที่เติบโตร้อยละ 15.8 ในปี 2560 (การเติบโตที่ชะลอลงส่วนหนึ่งมาจากผลของการเปรียบเทียบฐานที่สูงในปีที่ผ่านมา)
จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเป็นสัดส่วนที่สูง (สัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 29 ของมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวในไทย) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจไทย เช่น ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าขนาดเล็ก อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจีนโดยการติดตั้งระบบเพื่อรองรับการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจอย่างโรงแรมและที่พัก ร้านอาหารและการให้บริการรถเช่ามีการให้บริการดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากความสะดวกสบายในการชำระเงินและการทำโปรโมชั่นผ่านระบบการชำระเงินของจีนก็อาจจะมีผลกระตุ้นทางจิตวิทยาให้นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจุบัน จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนยังคงกระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี (พัทยา) เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรองที่ต้องการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะการทำตลาดจับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวเอง หรือ FIT ซึ่งขณะนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยด้วยตัวเอง หรือ FIT เป็นสัดส่วนมากขึ้น (ประมาณร้อยละ 58) ผู้ประกอบการอาจจะเลือกใช้ช่องทางการทำตลาดผ่านระบบออนไลน์ อาทิ การทำตลาดผ่านเว็บไซต์ท่องเที่ยวออนไลน์ของจีน หรือการเลือกใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของจีน เนื่องจากประเทศจีนจะมีเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะ เช่น Wechat, Youku (ลักษณะการใช้งานเหมือน Youtube) และ Weibo (ลักษณะการใช้งานเหมือน Twitter) เป็นต้น
Комментарии