top of page
image.png

กรีนพีซฝากถึงกรมควบคุมมลพิษ ควรปรับปรุงระดับมลพิษทางอากาศตามมาตรฐาน WHO


กรีนพีซเตือน...ฝุ่นควันพิษในกทม.วิกฤต ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วเพิ่มมากขึ้น เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ฝากถึงกรมควบคุมมลพิษ คนไทยไม่ได้มีปอดเหล็ก ควรปรับปรุงระดับมลพิษทางอากาศตามมาตรฐาน WHO โดยเฉพาะค่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ไม่ใช่ 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ที่กรมควบคุมมลพิษใช้เป็นบรรทัดฐานในทุกวันนี้

นางสาวรัตนศิริ กิตติก้องณภางค์ หัวหน้าโครงการ right to clean air กรีนพีซ กล่าวในผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสภาพอากาศในกรุงเทพฯช่วงที่ผ่านมาที่มืดครึ้มคล้ายหมอกปกคลุมว่า เป็นไปตามที่กรมควบคุมมลพิษแจ้งมาภายหลังว่าเกิดวิกฤตหมอกควันพิษขึ้น ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก คือมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และมันมีอยู่จำนวนมาก จนกระทบต่อสุขภาพ

“ฝุ่นละอองที่เราเห็น จะมีต้นกำเนิดมาจาก 4 ประเภท คือ 1.การคมนาคม 2.อุตสาหกรรม 3.การเผาในที่โล่ง และ 4.การผลิตไฟฟ้า แต่สำหรับที่เกิดในกรุงเทพฯในช่วงที่ผ่านมาจะมีที่มาหลักๆ จากการคมนาคมคือจากการใช้รถยนต์และจากอุตสาหกรรมบ้าง และที่เราเห็นว่ามันมีจำนวนมากเพราะไม่มีการถ่ายเทของอากาศ คือช่วงที่ผ่านมาอากาศมันนิ่ง ไม่มีลมพัด ไม่ได้มีการถ่ายเท ไม่ได้มีความชื้นเหมือนช่วงอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นแล้วก็กลายเป็นวิกฤตแบบควันพิษ ซึ่งถ้าดูจากการอ้างอิงของกรมควบคุมมลพิษ ถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รุนแรงที่สุด”

สำหรับคำแนะนำต่อคนกรุงเทพฯในการต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่นควันพิษนั้น นางสาวรัตนศิริกล่าวว่าถ้าจะบอกให้ใส่หน้ากากป้องกัน ก็ดูจะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน เหมือนกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่หน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนได้ เพราะเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าเส้นผม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผม ซึ่งสามารถผ่านเข้าขนจมูกและผ่านเข้าไปถึงส่วนอื่นของร่างกายได้

“วิธีแก้ปัญหาคืออยากให้เริ่มที่ต้นเหตุ เป็นการแก้ที่แหล่งกำเนิดของมลพิษที่มาจาก 4 ประเภทที่เป็นต้นเหตุ และอยากให้กรมควบคุมมลพิษ ตอนนี้ที่ทางกรมควบคุมมลพิษรายงานดัชนีคุณภาพอากาศจะเป็นค่าที่รวมเอาแค่ 10 ไมครอนเข้าไปคำนวณเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่กว่า 2.5 ไมครอนเยอะมาก ถ้าเป็นฝุ่นขนาด 10 ไมครอน ร่างกายคนเรายังป้องกันได้ ขนจมูกยังพอดักได้บ้าง หากเข้าไปสู่ปอด ก็ยังขับมาทางเสมหะได้ แต่ถ้าเป็นฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ด้วยความที่มันมีขนาดเล็กกว่าเส้นเลือด ซึ่งเส้นเลือดจะมีขนาด 5 ไมครอน ฝุ่นนี้ก็จะสามารถผ่านเข้าไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนั้น ระบบการเตือนของกรมควบคุมมลพิษ ยังเป็นอะไรที่น่าผิดหวัง ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนมากนัก”

นางสาวรัตนศิริกล่าวต่อด้วยว่า สำหรับสภาพอากาศในกรุงเทพฯล่าสุด วิกฤตทางอากาศถือว่าลดลงแล้วหลังจากมีฝนตกลงมา และอากาศช่วงนี้กลับมาร้อนชื้นเหมือนเดิม ปริมาณฝุ่นจึงลดลงมาในระดับที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อันตรายต่อสุขภาพ แต่ถ้าจะให้ดีต้องเริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยการร่วมมือด้วยกันของหลายๆ ภาคส่วน เช่นภาครัฐต้องออกมาสนับสนุนแก้ไขปัญหาด้วยการทำให้ระบบขนส่งมวลชนดีขึ้น และภาคประชาชนหันมาใช้รถยนต์น้อยลง ก็จะช่วยลดมลพิษได้อย่างถาวรมากขึ้น

“ในต่างประเทศเมื่อเจอวิกฤตทางอากาศ ที่เกิดจากการคมนาคม เขาก็จะเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น หรือในบางถนนที่มีคนนิยมไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็จะมีการปิดถนนแล้วเปลี่ยนให้เป็นถนนคนเดิน มีศิลปวัฒนธรรม ก็สามารถลดมลพิษในส่วนนั้นได้ โดยมีรถยนต์โดยสารบริการนำคนไปจุดนั้นๆ”

ทั้งนี้ นางสาวรัตนศิริยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มกรีนพีซมีการรณรงค์เรื่องปัญหาฝุ่นและหมอกควันพิษมา 3 ปีแล้ว พร้อมทั้งเสนอให้กรมควบคุมมลพิษให้ความสำคัญกับการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งมาตรฐานหนึ่งที่กรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้นำมาใช้คือการระบุว่าค่ามลพิษทางอากาศตามมาตรฐานของ WHO

“การกำหนดมาตรฐานมลพิษทางอากาศของกรมควบคุมมลพิษเหมือนกับมองว่าคนไทยปอดแข็งหรือปอดเหล็ก แต่ที่ทาง WHO เขากำหนดค่าเฉลี่ยของค่าฝุ่นละออง 2.5 ไมครอนเอาไว้ค่อนข้างต่ำทีเดียว คือค่าเฉลี่ยรายปีจะต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ว่าค่าเฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่าเฉลี่ยที่มันสูงกว่ามาตรฐาน WHO เป็นการเอื้อให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษ มากกว่าที่จะดูแลสุขภาพประชาชนคนไทย”

 

Comments


bottom of page