Aug 4, 20202 min

จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ

วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 3 - 8 ส.ค. 2563

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 ก.ค.) ตลาดหุ้นโลกปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีนปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดหุ้นหลักอื่นๆที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯในไตรมาสที่สอง ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ นำโดยกลุ่ม Technology และ Health care นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัส และที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงนโยบายการเงิน พร้อมยืนยันว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ โดยนักลงทุนยังกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรป หลัง GDP ของยูโรโซน และเยอรมนี ในไตรมาสที่สอง หดตัวลง 12.1% และ 10.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ตามลำดับ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยีงส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อ เช่น กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น 11.5%YoY และดัชนี PMI ภาคการผลิต (Caixin) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นจีน A-share จากการที่หุ้นกระดาน STARs ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มเทคโนโลยี ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากการจดทะเบียนใหม่ ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามผลประกอบการที่ออกมาชะลอลง และราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง สำหรับราคาน้ำมัน ปรับลดลง หลังนักลงทุนยังกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ GDP ในไตรมาสที่สองของสหรัฐฯ ประมาณการครั้งที่ 1 หดตัวลง 32.9% QoQ, ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงมากที่สุดในรอบกว่า 70 ปี

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกอบกับ การพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัสมีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้น ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯที่น่าจะออกมาดีกว่าคาด และความหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้หลายรัฐฯ กลับมาดำเนินมาตรการ lockdown และหากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯล่าช้า หรือน้อยกว่าที่คาดไว้มาก อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Sentiment ของนักลงทุน นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังมีรายงานว่า นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยว่า สหรัฐจะออกมาตรการแบนบริษัทซอฟต์แวร์ของจีนอีกหลายแห่งที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติในเร็วๆนี้ นอกเหนือจาก TikTok ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันวีดีโอของจีน ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อ จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ จะกดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลง สำหรับตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยนักลงทุนยังติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 รวมทั้ง ผลการประชุมกนง.ซึ่งเราคาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม ด้านราคาทองคำมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อ จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ในสหรัฐฯ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการ ทยอยกลับมาดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

· การหารือของสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯทั้งสองพรรคเพื่อให้บรรลุข้อตกลงมาตการทางการคลังรอบใหม่ เพื่อเยียวผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ หลังจากที่มาตรการ Unemployment benefit ได้สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ วุฒิสภาสหรัฐฯจะหยุดทำการในวัน 10 ส.ค.ถึง 7 ก.ย.นี้

· ผลการประชุมกนง. (5 ส.ค.) คาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมครม. ไทยได้เห็นชอบ ดร.เศรษฐพุฒิ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธปท.คนใหม่แทน ดร.วิรไท ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือน ก.ย.นี้

· ผลการประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI) (6 ส.ค.) คาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4% เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 6.1%YoY ซึ่งสูงกว่ากรอบบนของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 4% +/- 2%

· ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (6 ส.ค.) คาดว่า BoE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.10% และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 745 พันล้านปอนด์ ซึ่งแบ่งเป็นพันธบัตร และตราสารหนี้ภาคเอกชนของสหราชอาณาจักรที่ 725 และ 20 พันล้านปอนด์ ตามลำดับ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ อาจเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรรอบใหม่ โดยคาดว่า BoE จะปรับลดคาดการณ์ GDP ลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เมื่อเดือน พ.ค.

· การหารือทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยนาง Lis Truss เลขานุการทางการค้าของสหราชอาณาจักร จะเข้าพบกับนาย Robert Lighthizer หัวหน้าผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า นาง Lis Truss จะแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหราชอาณาจักร

· การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ในสัปดาห์นี้ เช่น Uber, HSBC, BP, easyJet และ Heineken

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนี PMI ภาคบริการ ยอดค้าปลีกของยุโรป, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานของไทย, ดัชนี PMI ภาคบริการ ดัชนี ISM ภาคการผลิต ดุลการค้า การจ้างงานภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตร รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ, ดัชนี PMI ภาคบริการ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น, การส่งออก นำเข้า และดุลการค้าของจีน

  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การหารือของสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯทั้ง 2 พรรค, สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ, ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน, การประชุมกนง., การประชุม RBI, การประชุม BoE, การหารือทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร และการทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2

10