Jan 15, 20213 min

บสย. สถาบันการเงินแห่งปี 2563 : วีรบุรุษสมรภูมิโควิด!

“เครือดอกเบี้ย” มอบรางวัลเกียรติยศ Bank of the Year 2020 หรือ สถาบันการเงินแห่งปี 2563 ให้ บสย. หลังผลงานพิสูจน์คุณค่าองค์กร ค้ำประกันสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีตลอดทั้งปีไปกว่า 1.66 แสนราย วงเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อใหม่ในระบบกว่า 1.6 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ยอมรับความเสียหายเพิ่มจาก 30% เป็น 40% เพื่อให้แบงก์กล้าปล่อยสินเชื่อ ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายให้เข้าถึงง่าย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เปิด F.A.Center หนุนเอสเอ็มอีไปถึงฝั่ง


 
สื่อสิ่งพิมพ์ “เครือดอกเบี้ย” ซึ่งประกอบด้วย นิตยสาร “ดอกเบี้ย” หนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” รายการวิทยุ “เซียนเศรษฐกิจ” และ DOKBIA ONLINE รายงานว่า ได้ประกาศยกย่องให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือ Thai Credit Guarantee Corporation (TCG) รับรางวัลเกียรติยศ Bank of the Year 2020 หรือ สถาบันการเงินแห่งปี 2563 หลังจากได้มีการพิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าตลอดปี 2563 ทั้งองคาพยพของ บสย. ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการ ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานได้ทำงานอย่างหนักในการร่วมต่อสู้วิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ไปพร้อมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ช่วยให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากได้รับสินเชื่อหรือเงินทุนจากธนาคารต่างๆ จนสามารถยืนหยัดทำธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งทำให้เกิดการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี ช่วยให้แรงงานจำนวนมากยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัว แม้ว่าผลกระทบจากโรคระบาดได้ทำลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้ต้องทนทุกข์ยากลำบาก จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดของไทยและของโลก

อย่างไรก็ดี แม้ บสย.ไม่ได้เป็น Bank หรือธนาคารตามชื่อรางวัล โดยเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ไม่ใช่ธนาคาร หากก็ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่มีบทบาทในฐานะผู้เติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ช่วยลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ที่เกิดจากความไม่เพียงพอของหลักประกัน นับเป็นการเกื้อหนุนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไม่แพ้ธนาคาร ดังนั้น จึงขยายนิยาม Bank หรือธนาคาร ให้ครอบคลุมถึง บสย.ด้วย สอดคล้องกับที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ได้บอกถึงภารกิจของ บสย.เหมือนเป็น “นายธนาคารข้างถนน” ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยตามถนนหนทาง

สำหรับผลงานที่โดดเด่นของ บสย.ในปี 2563 ได้มีการเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ หรือขาดหลักประกันกับสถาบันการเงินต่างๆ โดย บสย. ได้ทำงานอย่างเข้มแข็ง โปร่งใส สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทำให้เพียง 5 เดือนแรกของปีก็สามารถค้ำประกันสินเชื่อทะลุ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายทั้งปี นับเป็นสถิติสูงสุด นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. ในรอบ 28 ปี ทั้งที่พนักงาน บสย. ก็ต้องเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการ Work from Home เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ

ขณะที่เมื่อดูผลงานตลอดปี 2563 บสย. มีการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 28 ปีของ บสย.เอง โดยลูกค้าได้รับการค้ำประกันสินเชื่อสูงถึง 166,419 ราย วงเงิน 141,888.89 ล้านบาท (เฉลี่ย 0.85 ล้านบาท/ราย) โดยยอดค้ำประกันเพิ่มขึ้นถึง 57% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเป็นผลงานการค้ำประกันสูงกว่าเป้าหมายถึง 41.2% จากเป้าหมายยอดค้ำประกันทั้งปี 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันโครงการของ บสย. ในปี 2563 ยังก่อให้เกิดสินเชื่อใหม่ในระบบมากกว่า 162,000 ล้านบาท

ส่วนเมื่อดูผลงานตั้งแต่ปี 2534-2562 บสย. มีการอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อทั้งสิ้น 847,952 ล้านบาท ช่วยเหลือ SMEs ไปแล้วจำนวน 414,262 ราย (เฉลี่ย 2.05 ล้านบาท/ราย) เมื่อรวมกับผลงานในปี 2563 ทำให้ บสย.มียอดการอนุมัติค้ำประกันสะสมรวม 989,814 ล้านบาท ช่วยเหลือ SMEs จำนวนทั้งหมด 580,681 ราย

การที่ บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อเป็นจำนวนมากเกิดจากการปรับกระบวนการทำงานภายในที่ได้มีการ Transformation องค์กร ตามแผนระยะกลาง 4 ปี (2562-2565) มีการปรับโครงสร้างองค์กรรับผิดชอบสายงานแต่ละด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระหว่างเดือน มกราคม-พฤษภาคม 2563 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลกระทบในเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินทุนหมุนเวียน และปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ บสย.จึงปรับตัวเพื่อรับมือกับ New Normal บริบทใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการปรับกระบวนการทำงานภายใต้กรอบแนวคิดและรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรใหม่ ส่งผลทำให้กระบวนการในการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อทำได้เร็วขึ้น จากเฉลี่ยวันละ 500 ฉบับ เป็นวันละ 2,000 ฉบับ ตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รอใช้วงเงินสินเชื่ออยู่เป็นจำนวนมาก

ส่วนในการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นในเดือนมีนาคม ซึ่งธนาคารต่างๆ ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน ในส่วนของ บสย.ได้ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ โดยให้พักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันนานสูงสุด 12 เดือน (ช่วงปลายปีในสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ บสย.ให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบพักชำระค่าธรรมเนียมต่างหากอีก 6 เดือน) พร้อมขยายเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS5 - PGS7 นานสูงสุด 5 ปี และไม่คิดค่าธรรมเนียมในช่วงเวลาต่อขยาย รวมทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อใหม่และได้รับการปรับเงื่อนไขชำระหนี้ หรือปรับหนี้จากธนาคาร สามารถเข้าโครงการประกันสินเชื่อ “บสย.SMEs สร้างไทย” โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุด 30 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี และที่สำคัญสินเชื่อใหม่ได้รับการค้ำประกันความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 40% สำหรับสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 30% จูงใจให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

นอกจากนี้ระหว่างการ Lockdown ประเทศ กระทั่งการประกาศเคอร์ฟิว ที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเจ็บหนักเข้าไปอีก บสย.ได้ออกโครงการค้ำประกันที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผลิตภัณฑ์ของ บสย.ที่ดำเนินการและรับผิดชอบความเสียหายเอง เช่น โครงการ บสย. SMEs ไทยชนะ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ราว 12,000 ราย และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล โดยมีการนำ PGS8 ปกติ วงเงิน 100,000 ล้านบาท อันเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในปี 2563 มาแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย โครงการย่อย เช่น

โครงการ "บสย. สร้างไทย" วงเงิน 50,000 ล้านบาท ช่วยเหลือ SMEs ที่มีปัญหาความสามารถในการชําระหนี้ และรวมถึงกลุ่ม NPL โดยให้สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างการชำระหนี้ และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเสริมสภาพคล่อง

โครงการ “บสย. พลิกฟื้นท่องเที่ยว” วงเงิน 3,700 ล้านบาท โดยร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ที่สำคัญ นอกจากบทบาทช่วยเหลือแล้ว บสย.ยังดำเนินบทบาทพัฒนา โดยได้มีการพัฒนาเครื่องมือ Financial Health Check ซึ่งเป็น Credit Scoring ให้ SMEs สามารถตรวจสอบสุขภาพทางการเงินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถรองรับได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยทำการทดสอบผ่าน Website ของ บสย.

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญและโดดเด่นมากในปี 2563 ของ บสย. คือ การยกระดับ “คลินิกหมอหนี้” จัดตั้งเป็น ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A.Center) ซึ่งมีจุดเริ่มจากแนวคิดความต้องการยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ “จากนายประกันสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน” โดยกำหนดเป้าหมายให้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs เป็น F.A. ภาครัฐ ช่วยเหลือ SMEs ไทย เป็นเพื่อน SMEs ทั้งให้คำปรึกษาทางการเงิน การเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เป็นเพื่อนแท้ยามวิกฤต ซึ่งมีผลตอบรับหลังการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A.Center) โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ขอคำปรึกษาจาก บสย. มากกว่า 6,000 เคส และปิดเคสได้แล้ว 2,000 เคส หรือราว 34%

สำหรับ Soft Loan ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งบอกว่าธนาคารปล่อยสินเชื่อยาก บสย.ยังมีบทบาทสำคัญ เป็นกลไกช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Soft Loan+) วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดย บสย. เข้าไปเริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 ไปจนถึงปีที่ 10 แบบต้นจนจบ (end to end) เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน ใน 10,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 125,000 ล้านบาท อีกด้วย

ส่วนโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 หรือ PGS9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงิน 25,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติอนุมัติเมื่อ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ บสย.ได้จับแยกเป็นผลิตภัณฑ์เจาะจงช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างเร่งด่วน มีการเปิดตัว 6 โครงการค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับธนาคารพันธมิตรช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง 2 โครงการที่มีทั้งฟรีค่าธรรมเนียม 2-3 ปีแรก และรับความเสียหายสูงสุด (MAX CLAIM) 35-40%

ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป มีจำนวน 4 โครงการ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ บสย.จะช่วยดึงดูดให้ธนาคารต่างๆ ยินดีปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ผลงานของผลิตภัณฑ์ที่แตกออกมาจาก PGS9 คงไปปรากฏเด่นชัดในปี 2564

ทั้งนี้ แม้ส่วนใหญ่การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.จะได้รับการชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายจากรัฐบาล ซึ่งทำให้ บสย.สามารถผ่อนปรน หรือยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันได้ หากแต่กว่าที่จะคำนวณออกมาเพื่อเป็นโครงการต่างๆ และให้รัฐบาลช่วยชดเชยความเสียหาย คนของ บสย.ก็ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งการที่สถาบันการเงินจะกล้าปล่อยสินเชื่อ การที่เอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงสูงจะเข้าถึงสินเชื่อ ตลอดจนการที่รัฐบาลจะไม่ต้องนำเงินภาษีมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากนัก ขณะเดียวกันการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อที่พันธมิตร 18 สถาบันการเงินส่งให้ บสย.รับมือเพียงองค์กรเดียว ซึ่งต้องทำให้เร็วทันกับความต้องการของเอสเอ็มอีก็เป็นงานหนักไม่ใช่น้อยเช่นกัน

ผลงานที่โดดเด่นของ บสย. ในปี 2563 ส่วนสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการเข้ามาเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ที่ทำให้ บสย.เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยแผนปรับปรุงพัฒนาองค์กร (Trasformation) ระยะกลาง 4 ปี (2562-2565) ซึ่งทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2563 ด้วยปริมาณการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นหลายเท่า กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่อาจนับเป็นผลงานของ ดร.รักษ์ คนเดียว องค์กรคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากมายเพียงนี้ หากไม่มีการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกคนหรือทั้งองคาพยพของ บสย. จนทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และความก้าวหน้าชนิดก้าวกระโดด

ตลอดทั้งปี 2563 งานหนักในการช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. จึงเหมาะสมที่สุดแล้วในการได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ Bank of the Year 2020 หรือสถาบันการเงินแห่งปี 2563

107