May 17, 20213 min

'SME D Bank' ช่วยทำ Business Matching...จัด Soft Loan เฟส 2 ช่วยลูกหนี้ใหม่-เก่า

Interview : คุณนารถนารี รัฐปัตย์

กรรมการผู้จัดการ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

ซอฟต์โลนโครงการ 2 ดูดีกว่าเดิม กู้ได้มากขึ้น ดอกเบี้ยถูก ปลอดดอก 6 เดือน ผ่อนนาน 5-7 ปี กู้ได้ทั้งลูกหนี้เก่าและผู้ที่ไม่เคยเป็นลูกหนี้ที่ไหนมาก่อน ลูกหนี้เก่ายื่นขอกู้ที่สถาบันการเงินเดิม ผู้ที่ไม่เคยเป็นลูกหนี้ สามารถติดต่อได้กับทุกสถาบันการเงิน ล่าสุด...ช่วยผู้ประกอบการโอนทรัพย์มาชำระหนี้ เพื่อหยุดการจ่ายดอกเบี้ยนาน 3-5 ปี โดยระหว่างการโอนทรัพย์ให้สถาบันการเงินยังสามารถเช่าทรัพย์นั้นเพื่อดำเนินกิจการต่อ เมื่อครบสัญญาโอนทรัพย์ผู้ประกอบการสามารถซื้อทรัพย์คืนในราคาตีโอน อีกทั้งยังสามารถนำเงินค่าเช่ามาหักเพื่อลดหนี้ที่ตีโอนออกได้ด้วย

เหนื่อยไหมกับสถานการณ์ขณะนี้

ตอนนี้ Work from Home กัน เรามีประสิทธิภาพมาก meeting ต่อ meeting แต่ก็แทบไม่มีเวลาหายใจ

บรรดาลูกค้าของธนาคารเป็นอย่างไรบ้าง

การระบาดรอบนี้ตอนนี้แพร่เร็ว ตั้งแต่เมษายนมาถึงตอนนี้ประมาณ 1 เดือน แต่การแพร่เชื้อรวดเร็วมาก ถ้ามองภาพก็ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่แล้วที่เกิดการระบาดระยะที่ 2 ถ้าในแง่ของลูกค้าธนาคารตั้งแต่รอบ 1-2 ที่พักชำระหนี้ทางมานี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดูแลทุกราย มีการพักชำระหนี้ มีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังอยู่บนสมมติฐานที่เราคิดว่าปี 2564 จะค่อยๆ ดีขึ้น ณ ตอนนั้นสถานการณ์บ้านเราดูดีมาก แต่การปรับโครงสร้างหนี้หรือการมองธุรกิจเราก็แนะนำเราอย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินไป ต้องระมัดระวัง เราพูดอยู่ตลอดว่าในการทำธุรกิจต้องมองความเสี่ยงควบคู่ไปด้วยเสมอ ต้องมองโลกยาวสั้นผสมความเสี่ยงเพื่อหาทางหนีทีไล่ ใช้วิทยายุทธทุกทาง ในแง่การดูแลลูกค้าเราก็ไปได้เกือบหมดพอร์ต ไปคุยหมดแล้ว

ถามว่าเวฟ 3 มาทุกคนมีความกังวลใจ ยังอยู่กับความตกใจเรื่องโรคภัย แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารและระบบสถาบันการเงินมองล่วงหน้าไว้แล้ว จะเห็นว่ามีข่าวออกมาแล้วเรื่อง พ.ร.ก.หรือซอฟต์โลน 2 เป็น พ.ร.ก.อีกชุดนึงที่ประกาศมาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย อันนี้จะเรียนผู้ประกอบการและนักธุรกิจทั้งหลายว่ามันครอบคลุมสินเชื่อธุรกิจทั้งหมดที่เรามีกับสถาบันการเงิน จะเป็นการให้เงิน เหมือนการเข้าไปช่วยเหลือในต้นทุนที่ถูก จะแตกต่างจากซอฟต์โลนแรกคือ คนที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารมันแตกต่าง เป็นการให้เงินเหมือนกันแต่วงเงินที่ได้มากกว่าเดิม ของเดิมกำหนดไว้ที่ 20% ของเงินต้นคงค้าง เช่นถ้าเราเคยกู้ที่ 10 ล้าน เราเหลือเงิน 5 ล้าน ซึ่งตามข้อกำหนดเดิมเรากู้ได้แค่ 20% ของ 5 ล้าน แต่ พ.ร.ก.ที่ออกมาใหม่กำหนดกู้ได้ 30% ของวงเงิน วงเงินคือ 10 ล้านตั้งแต่ตอนแรกที่เราได้จากสถาบันการเงิน แปลว่าเรามีสิทธิ์ไปขอให้แบงก์สนับสนุนเงินหมุนเวียน 3 ล้านบาท รอบแรกได้ 20% ของ 5 ล้านคือ 1 ล้านบาท เราก็เอามาลบออก รอบที่ 2 เรามีความจำเป็นยังไงก็ไปคุยและเรามีสิทธิ์ที่จะใช้ซอฟต์โลนอีก 2 ล้านบาท

สั้นๆ ง่ายๆ ให้เห็นภาพตรงนี้ ข้อดีคือเวลาใช้คืน 1 ล้านบาทแรกกำหนดใช้คืนเวลา 2 ปี ให้สิทธิ์ดอกเบี้ยแค่ 2% แต่ 2 ปีนี้วันนี้ทุกคนมองว่ามันยากแน่ 2 ปีนี้ผู้ประกอบการยังต้องปรับตัวหมุนซ้ายหมุนขวาไม่ทัน ก็จะกังวลใจ แต่รอบนี้สำหรับซอฟต์โลน 2 ให้ยาวเลย 5 ปี แต่ถ้าชำระไม่ได้ก็คุยกับสถาบันการเงินเพื่อขอขยับ แบงก์แต่ละที่กำหนดว่าวงเงินนี้ 5 ปี บางที่กำหนดไว้ 7 ปี บางที่กำหนดเกินกว่านั้นก็แล้วแต่ สำหรับ SME D Bank กำหนดไว้ 7 ปี กำหนดว่ากรณีซอฟต์โลน 2 ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของเราอยู่แล้วมาขอวงเงินเราให้ 7 ปี อันนี้เป็นหลักใหญ่ๆ ที่อยากให้ผู้ประกอบการทราบ

แล้วใครได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อย่างแรก ถ้าท่านมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ถือว่าท่านเป็นลูกค้ามีวงเงินกู้มาก่อน อย่างที่สอง ถ้าท่านอยู่กับเขามานานแล้ว สมมติตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2562 ต้องเป็นหนี้ปกติอยู่ อันนี้เขาก็จะขีดเส้นไว้ตั้งแต่เวฟแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ธันวาคม 2562 การขีดเส้นแปลว่าเราได้รับผลกระทบจริงๆ ตอนนั้นเรายังดีอยู่แต่เรากระท่อนกระแท่นเพราะโควิด เราต้องมองภาพอย่างนี้ว่าสำรวจตัวเองก่อน ถ้าเราเข้าคุณลักษณะแบบนี้คือ 31 ธันวาคม 2562 ยังดีอยู่ และเป็นลูกค้าธนาคารที่ใดที่หนึ่ง ไปตรวจสอบดูว่าวงเงินกู้ของเรามีเท่าไหร่ อันนั้นเป็นเพดานคูณ 30% เป็นเพดานที่เราสามารถไปขอคุยกับแบงก์ได้ อย่างที่สาม คือ 2 ปีแรก ทางธนาคารกลางแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งคิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการ 2% คงที่ ไม่ให้คิดเกิน โดย 6 เดือนแรกรัฐบาลช่วยออกค่าดอกเบี้ยนี้ให้ หลังจากเดือนที่ 7 เริ่มชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2% หลังจากนั้นปีที่ 3-5 แล้วแต่สถาบันการเงินว่าจะคิดขึ้นไปเท่าไหร่ แต่ในภาพรวม 5 ปีเฉลี่ยแล้วไม่ให้เกิน 5% ผู้ประกอบการก็จะเห็นแล้วว่าต้นทุน 2 ปีแรก 2% ส่วน 3 ปีหลังต้องเอามาบวกกับ 2 ปีแรก แต่เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 5% ก็อาจจะกำหนดแบบนี้ได้ คือปีที่ 3 เป็น 6 และ 7 และ 8% เอามาบวกกับอีก 2% เฉลี่ยโดยหาร 5 ก็คือ 5% ก็จะช่วยผู้ประกอบการได้มาก 1. ต้นทุนถูกในช่วงต้น 2. เรามีเวลาหายใจได้เพียงพอกับสถานการณ์

ซอฟต์โลน 2 ในเชิงปฏิบัติถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมไหม

ใน 1 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง คือคนปรับตัวเข้าสู่สังคม e-Commerce มีน้อยมากที่ไม่ปรับตัวเข้าไป มากน้อยยังไงก็ขายของในเฟซบุ๊กได้แน่นอน แต่ยังมีจำนวนนึงที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำรายเล็กๆ ซึ่งใน SME Bank ไม่ค่อยมีลูกค้าแบบนั้นเพราะเราเป็นสินเชื่อธุรกิจ ใน 1 ปีที่ธนาคารพยายามช่วยเหลือคือพยายามพาคนที่ไม่เคยขึ้น e-Commerce ก็เอาขึ้นมา ถ้าไม่มีประสบการณ์เพราะมันมีหลายระดับ มีหลายแพลตฟอร์ม อาจไม่เข้าใจว่าเวลาจ่ายเงินเขาต้องทำอะไรบ้าง ถ้าไม่เป็นเลยก็เอาสินค้ามาขายที่แพลตฟอร์มของแบงก์ก่อน เป็นเพจฝากร้านฟรี SME D Bank แบบง่ายๆ มีคนดูเพื่อฝึกลองวิชา เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเท่าที่ดูผู้ประกอบการหันมาใช้ e-Commerce จากคนที่ offline มาเป็น online เกือบทั้งหมด ถ้าสังเกตดูผลไม้ตอนนี้ขายออนไลน์หมด แล้วส่งตรงจากสวนกันเลย

คนที่อยากจะเข้าไปขอซอฟต์โลน 2 จะทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงบัญชีได้

ท่านเป็นลูกค้าสถาบันการเงินไหนต้องกลับไปที่นั่นก่อน เพราะหลักเกณฑ์นี้มาจากเงินกู้ อย่างของ SME ถ้าท่านไปกู้สาขาไหนโทรศัพท์ไปที่สาขานั้น ถ้าไม่มีเบอร์ก็โทรไป call center 1357 ได้ หรือดูในเอกสารที่ธนาคารส่งไปที่บ้านท่าน ก็จะมีเบอร์อยู่แล้ว ท่านสามารถสำรวจวงเงินเบื้องต้นได้ และเราจะมีแบบสอบถามว่ามีความประสงค์จะใช้ไหม ถ้าจะใช้จะติดต่อเข้าไป

เรื่องกังวลใจเรื่องนึงคือการให้สินเชื่อประเภทนี้เป็นการประคับประคองให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ท่านที่ยังมีค่าใช้จ่ายแต่รายรับไม่เข้า สิ่งที่ท่านต้องเตรียมตัวล่วงหน้าคือค่าใช้จ่ายที่ยังจ่ายอยู่ทุกวันไปข้างหน้ามีค่าอะไรบ้าง ต้องรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็จดออกมาเวลามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ การพูดคุยตอนนี้ผ่านช่องโทรศัพท์ การแชต ก็มีความสะดวกพอสมควร เวลาคุยก็ได้น้ำได้เนื้อ จะได้แนะนำได้ถูก

SME Bank มีสายฮอตไลน์ไหม

มี 1357 โทรไปตรงนั้นสะดวกที่สุด

จริงๆ ตัว พ.ร.ก.ที่ออกใหม่ให้โอกาสสำหรับลูกค้าอีก 2 กลุ่มด้วย คือผู้ที่ไม่เคยกู้เลยก็มีโอกาสในซอฟต์โลนนี้ คือท่านต้องไม่มีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินที่ไหนเลย มีเหมือนกันในประเทศไทยคือใช้เงินทุนตัวเอง เมื่อก่อนไปได้แต่เดี๋ยวนี้ไปไม่ได้ ก็มายื่นขอที่สถาบันการเงินที่ไหนก็ได้ ก็จะได้เงื่อนไขแบบนี้เหมือนกัน วงเงินสูงสุดสามารถขอได้ 20 ล้าน ส่วนถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะพูดถึงถ้าเราเป็นหนี้อยู่แล้ว มีหลักทรัพย์ค้ำประกันการใช้หนี้ยาวก็จะเป็นเรื่องการโอนทรัพย์ชำระหนี้

เรื่องการให้ความช่วยเหลือเรื่องโอนทรัพย์ชำระหนี้ที่มติ ครม.ล่าสุด

เรื่องการชำระหนี้ของลูกค้าเก่า เอสเอ็มอี เราจะมีการประชาสัมพันธ์ออกไปก็คือการพักชำระเงินต้นที่เราเคยทำไปเมื่อปีที่แล้ว ลูกค้าอาจพักไป 6 เดือน และถ้าถึงระยะเวลาครบการพักชำระแล้ว แต่มาประสบปัญหารอบนี้อีก ก็ขอพักชำระเงินต้นต่อเนื่องไปอีกได้ถึงสิ้นปี โดยติดต่อผ่านคิวอาร์โค้ดเข้ามา

มาตรการที่ทางแบงก์ชาติออกมานี้ทางสถาบันการเงินทุกที่ต้องปฏิบัติด้วย แต่ว่าหลักเกณฑ์ก็แล้วแต่ที่เรียกว่าพักชำระหนี้ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักง่ายๆ คือผู้ประกอบการที่กู้เงินกับสถาบันการเงินแล้วมีการเอาทรัพย์ไปจำนองค้ำประกันไว้ อาจจะเป็นโรงงาน อาจจะเป็นร้านค้า อาจจะเป็นตึก หรือจะเป็นโรงแรม ทีนี้เวลาขอสินเชื่อ อาจจะขอมาเพื่อสร้างโรงแรมหรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือซื้อของ หรือซื้อตึกอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งตอนนี้ยอดขายหรือรายได้อาจจะไม่ได้เหมือนเดิม ผ่อนต่อไม่ไหว เพราะเวลามีหนี้ ก็มีการคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาไปเรื่อยๆ ถ้าช่วงนี้ไม่ไหว และดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ด้วยมาตรการนี้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาคุย และขอโอนทรัพย์เข้ามาจำนอง โอนเพื่อชำระหนี้ พักทรัพย์ไว้ก่อน เวลาที่ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์จำนองโอนเข้ามามันจะมาหักตัวยอดหนี้ลง เช่นเราซื้ออาคารพาณิชย์มาเพื่อทำธุรกิจมูลค่าสัก 10 ล้านบาท และเราอาจจะมีวงเงินกู้สัก 7-8 ล้านบาท เราก็เข้าไปคุยเลย แล้วเอาอาคารพาณิชย์โอนมาไว้ที่สถาบันการเงินก่อน ในราคารับโอนที่ 7 ล้านบาท และพอหนี้ที่เป็นวงเงิน 7 ล้านบาทจะหายไป ฉะนั้นอย่างแรกที่ผู้ประกอบการจะได้รับก็คือตัวดอกเบี้ยที่จะเดินต่อไปวันข้างหน้าเรื่อยๆ จะไม่มีแล้ว เพราะไม่มีวงเงินกู้ตรงนั้นแล้ว

ทีนี้ผู้ประกอบการท่านก็จะมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นเวลาโอนทรัพย์เข้ามาเป็นของแบงก์ เขาก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือเปล่าจะเสียของไปหรือเปล่า ก็จะมีความกังวลตรงนั้นว่าจะทำมาหากินอย่างไรต่อ ยังจะใช้เป็นที่ทำมาหากินต่อได้หรือไม่ เพราะประเด็นตรงนี้เขียนไว้ในกฎหมายเลยว่าท่านไม่ต้องมีความกังวลใจ สิ่งที่ธนาคารจะต้องให้สิทธิ์กับท่านที่เป็นสิทธิ์ตามกฎหมายก็คือสิทธิ์ในการซื้อคืน การที่โอนเข้ามาเป็นของธนาคาร แต่ท่านมีสิทธิ์ซื้อคืน โดยให้เวลาเอาไว้ 3-5 ปี ถ้าตกลงว่าขอซื้อคืนตอน 5 ปี ใน 5 ปีนี้ธนาคารจะเอาทรัพย์นี้ออกไปจำหน่ายไม่ได้ ดังนั้นท่านไม่ต้องกังวลใจว่าทรัพย์ของท่านจะหลุดมือออกไป

ส่วนอีกเรื่องที่จะให้ความสบายใจก็คือ ท่านยังเอาไปใช้ต่อได้หรือไม่ ก็คือได้ คุยกันเลยว่าขอใช้ต่อ แต่จะมีค่าใช้จ่าย จะเป็นเรื่องของค่าเช่า อัตราค่าเช่าก็ตกลงกับทางธนาคาร ก็ต้องเป็นอัตราตลาดที่เป็นไปได้จริงๆ ในช่วงนี้ จะเอาค่าเช่าสูงๆ ก็เป็นไม่ได้อยู่แล้ว

สรุปว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้ก็คือว่า อย่างแรกดอกเบี้ยจะหายไปแล้ว ไม่ต้องแบกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ อย่างที่สองคือมีที่ทำมาหากินต่อ แล้วถามว่าพอถึงเวลาจะมาซื้อคืนเท่าที่โอนบอกเลยก็คือซื้อคืนเท่าที่โอน ถ้าท่านโอน 7 ล้านบาท 5 ปีต่อมาก็ซื้อคืนที่ 7 ล้านบาทเท่าเดิม และที่ดีกว่านั้นก็คือค่าเช่าที่จ่ายไประหว่างทาง ตกลงค่าเช่าเท่าไหร่ เอามาหักออกจาก 7 ล้านบาทตอนซื้อคืนได้ กล่าวคือถ้าโอนสูงก็ซื้อคืนสูง โอนต่ำก็ซื้อคืนต่ำ ก็เอามาหักออกไป ก็จะเป็นทางออกหนึ่งของผู้ประกอบการที่มีลักษณะวงเงินกู้ประเภทแบบนี้

ส่วนค่าใช้จ่ายการโอนนั้นปกติเวลาเราโอนเข้าโอนออกจะมีภาษีเยอะแยะ ภาษีโอน ภาษีธุรกิจ ภาษีอากรแสตมป์ แต่ด้วยมาตรการนี้กฎหมายยกเว้นให้ทั้งขาที่โอนมาชำระหนี้สถาบันและขาที่โอนกลับคืนไปกับให้ของเก่า เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ไม่มีเกิดขึ้น

คุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้าข่ายใช้สิทธิ์ตามมาตรการนี้

หลักง่ายๆ อย่างแรกท่านต้องเป็นลูกค้าของธนาคารก่อน 1 เมษายน 2564 ถ้าท่านมีวงเงินกู้อย่างนี้ก่อน 1 เมษายน 2564 ท่านเข้าเกณฑ์ ประการต่อมา ถ้าท่านกู้กับเขามานาน มองย้อนกลับไปว่า ก่อน 1 เมษายนท่านอยู่กับแบงก์ ย้อนกลับไปดูถึงธันวาคม 2562 ว่าขณะนั้นท่านยังเป็นหนี้ที่เป็นปกติหรือเปล่า ก็กลับเข้าหลักการเดิมคือผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือแบบนี้คือคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจริงๆ และถูกกระทบมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว ดังนั้นเป็นไปตามเกณฑ์ 2 ข้อที่ว่า เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ตรงนี้ก็เข้าเกณฑ์ที่จะคุยกัน

ส่วนทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์จำนอง อันนี้ไม่เข้าเกณฑ์นี้ ต้องเป็นทรัพย์ที่จำนองกับสถาบันเท่านั้น ตรงนี้จะเป็นหลักการใหญ่ๆ แล้วก็สามารถที่จะไปพูดคุยกับสถาบันว่าเราสนใจแบบนี้ จะมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่นว่า ทรัพย์เรามูลค่ามาก แต่หนี้เหลือน้อย เวลาโอนเราจะทำอย่างไร หรือทรัพย์เราน้อย แต่หนี้เกิน จะทำอย่างไร ถ้าทรัพย์น้อยกว่าหนี้ ก็โอนเท่าที่ทรัพย์รองรับหนี้ได้ อย่างน้อยหนี้ก็ลดลง ดอกเบี้ยก็ลดลงด้วย

ผู้ประกอบการบางคนใช้บ้านเป็นทรัพย์จำนอง เพราะใช้บ้านเป็นที่ทำงานด้วย

ของ SME D Bank ก็เป็นสินเชื่อธุรกิจ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการบางคนก็ใช้ที่เรียกว่า Non Core Assets ก็คืออาจจะมีโรงงาน แต่เราใช้ที่เปล่า อันนี้ถ้าเป็นทรัพย์จำนองหลักการแค่ว่าเป็นทรัพย์จำนองเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายนี้ จะเป็นบ้าน จะเป็นที่เปล่า เป็นทรัพย์จำนอง สามารถเข้ามาพูดคุยได้หมด ในบางช่วงที่ไม่ใช่ตามกฎหมายว่าไว้ ส่วนใหญ่ธนาคารเขาก็จะไม่รับ พวกเป็นทรัพย์ที่ไม่ใช่ Core Assets

SME D Bank มีมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่

คราวที่แล้วเราพูดถึงเรื่องการให้เงิน เรื่องที่สองคือลดทอนหนี้ลง ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องการตลาด เช่นเรื่องค้าขายที่มีปัญหา เราขายได้ลดลงจะทำอย่างไรบ้าง ตอนนี้เรามีอยู่ 2 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นโครงการช่วยเหลือทางการตลาดก็คือSME D Bank กับทาง สสว. และโลตัส ที่เป็นค้าปลีกร่วมกันทำ Business Matching เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่ค้าขาย เราพูดเรื่องออนไลน์กันบ่อยๆ ตรงนี้ก็จะเป็นการค้าขายอีกแบบหนึ่งที่เราอยากจะเอาของไปวางขายบนโลตัส เราจะทำอย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นการเพิ่มโอกาสเป็นการจัดร่วมกัน 3 แห่ง จะทำทุกเดือนจนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2564 ทั้งหมด 7 ครั้ง ที่น่าสนใจก็คือว่า สมัครเข้ามาจะเป็นการ Online Matching ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ท่านมีสินค้า ที่ท่านเตรียมของเอาไว้ เตรียมข้อมูลสินค้าที่ท่านมั่นใจว่าขายดี มีกี่ประเภท มีกี่ขนาด กำลังการผลิตเท่าไหร่ เป็นข้อมูลเบื้องต้น แล้วก็สมัครเข้ามา

ใน 1 เดือน ที่ผู้สมัครมาก็จะมี Brand Matching Online และจะมีฝ่ายจัดซื้อของโลตัสเข้ามาสัมภาษณ์ ท่านไม่ต้องเข้าไปพบด้วยตัวเอง ก็จะเพิ่มโอกาสและจะง่ายขึ้นมากๆ เลย Business Matching ที่เราจัดไปครั้งแรกมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสมัครเข้ามา 200-300 รายทีเดียว ถือเป็นโอกาสที่ดีทั้งที่เป็นครั้งแรก มีการเสนอสินค้า 66 ราย ก็ทำโดยวิธีการออนไลน์ก็จะง่ายมาก เปิดโอกาสให้พูดคุยกัน แล้วก็ผ่านระบบการคัดเลือก ตรงนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ส่วนโครงการที่สองที่ปีที่แล้วเราร่วมมือซีพีออลล์ในการนำสินค้าของผู้ประกอบการไปวางขายในเซเว่นอีเลฟเว่น ตรงนี้มีทุกเดือน ถ้าสนใจสามารถสมัครเข้ามาที่ www.tescolotus.com/sme หรือโทร.ข้ามาถามที่ 1357 SME D Bank ก็ได้ ว่าต้องการ Business Matching ติดต่อไปที่ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ ก็จะช่วยแนะนำท่าน และติดต่อทางโลตัสให้ด้วย

มีอีกเรื่องที่เราทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็คือร่วมกับเซเว่น อีเลฟเว่น ลักษณะคล้ายกัน ตรงนี้ได้ตั้งแต่ 26 เมษายนถึง 31 พฤษภาคม 2564 ตรงนี้ลักษณะคล้ายกัน แต่สินค้าที่ทางเซเว่น อีเลฟเว่นมีความสนใจจะเป็นประเภทผลไม้ ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม เบเกอรี พวกอาหารทั้งหลาย หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่เป็นโอทอปลักษณะที่เป็นซองเล็กๆ อย่างนี้ก็ได้ ถ้าเราเดินเข้าเซเว่น อีเลฟเว่น จะมีของแบบนี้เยอะเลย ตรงนี้ก็จะมีการคัดผู้ประกอบการเพื่อนำสินค้าไปวางขาย อย่างรอบที่แล้วสมัครเข้ามาประมาณ 100 ราย และทางซีพีออลล์ก็จะสัมภาษณ์ คนไหนที่ผ่านการคัดเลือกก็จะสินค้าไปวางขายได้

31