May 13, 20211 min

ยังคงมองแค่การพักตัวระยะสั้น...ตลาดหุ้นโลกเริ่มกลับมาให้น้ำหนักกับธนาคารกลางสหรัฐ

แค่แรงกดดันระยะสั้นๆ !

ตลาดหุ้นโลกเริ่มกลับมาให้น้ำหนักกับโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด รวมถึงโอกาสในการส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE หลังจาก Janet Yellen รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวแสดงความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป ส่งผลให้ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลง 0.56% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ว่าล่าสุด Janet Yellen จะออกมาแก้ต่างว่าเธอไม่ได้ส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดควรขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ แต่แค่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะต้องขึ้นเร็วกว่ากำหนดจริง โดยการประชุมเฟดครั้งต่อไป (15-16 มิ.ย. 64) ถือว่ามีความสำคัญมาก ทั้งในเรื่องการส่งสัญญาณปรับลด QE ของเฟดจะเกิดขึ้นหรือไม่ ประกอบกับ Dot plot อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่ปัจจัยกดดันระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากพิจารณาการส่งสัญญาณปรับลด QE ของเฟดตอนปี 2017 จะพบว่าตลาดหุ้นสหรัฐกลับปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่วงจรการฟื้นตัวชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน จึงเชื่อว่าการลด QE จะไม่ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น ซึ่งการสื่อสารที่ชัดเจนของเฟดช่วยลดความตื่นตระหนกของตลาดลงได้

ทั้งนี้ “นายหมูบิน” มองว่าหากเฟดตัดสินในขึ้นดอกเบี้ย หรือลดขนาดของมาตรการ QE ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนออกมาล่าสุดจากตัวเลข Initial Jobless Claims ลดลง 92,000 ราย สู่ระดับ 498,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม 2563

นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 540,000 ราย เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐกำลังดำเนินไปด้วยดี จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบเหมือนในกรณีการส่งสัญญาณปรับลด QE ของเฟดตอนปี 2013 ซึ่งพบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างหนัก เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนนัก การประกาศแผนลด QE ของเฟดช่วงนั้นทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงอีก เป็นผลทำให้เกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ในตลาดหุ้น

ถ้าเฟดลดขนาดของการมี QE แต่ละเดือนจะมีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนตัวลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ Fund Flow จะไหลกลับไปที่สหรัฐ

นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกจะได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BoE เปิดเผยผลการประชุมนโยบายการเงิน โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่าล่าสุด BoE จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE โดยระบุว่าทางธนาคารจะลดวงเงิน QE สู่ระดับ 3.4 พันล้านปอนด์/สัปดาห์ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค. 64 ก็ตาม

ลุ้นประเด็นวัคซีนหนุนตลาดหุ้นไทยดีดกลับ ! Momentum ของตลาดหุ้นโลกยังคงดีอยู่มาก สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่มีความสัมพันธ์หรือ Correlation ที่เป็นลบกับตลาดหุ้น ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรปและฮ่องกงปรับตัวลดลง 7.74%, 10.89% และ 3.88% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ

ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 1.70% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 44.30% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 2.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.10% ในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่พบว่ายังมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ราว 2000 รายต่อวัน แม้ว่าจะไม่ได้มีการพุ่งขึ้นอย่างมีนัย อย่างไรก็ดีคาดว่าการใช้มาตรการที่เข้มงวดที่สุดของรัฐบาลอย่างมาตรการล็อกดาวน์ยังไม่น่าเป็นไปได้ หลังจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 กรณีหากครบ 14 วัน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังสูงอยู่ว่า เบื้องต้นยังไม่มีแนวคิดจะประกาศใช้ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวในขณะนี้ โดยจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้หากไม่สามารถยับยั้งหรือควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังคงมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง หลังจากไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนโควิดเข้ามาเพิ่ม และรัฐบาลมีท่าทีที่จะเปิดทางให้ภาคเอกชนร่วมจัดหาวัคซีนด้วย ส่งผลให้เกิดความคาดหวังการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเร่งผลักดันมาตรการเดิมกระจายสินเชื่อซอฟต์โลนและโอนหลักทรัพย์ให้เร็ว พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือ SME และภาคครัวเรือนเพิ่มเติม หากผลกระทบเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

13