Apr 21, 20212 min

ปัจจัยภายนอกสดใส สวนทางปัจจัยในประเทศ

ตลาดหุ้นโลกยังสดใส !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมยังคงเป็นขาขึ้นชัดเจนนะครับ สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก ออกแบบโดย Morgan Stanley Capital International (MSCI) และประกอบด้วยหุ้นจากตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI เปลี่ยนแปลง +1.37% โดยตลาดหุ้นที่ทำผลงานได้ดีกว่าดัชนี MSCI ACWI หรือ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ ที่เปลี่ยนแปลง +1.79%

ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐยังเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่หรือ All Time High อย่างต่อเนื่อง หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมาออกฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดยังคงมีความมั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ย รวมถึง QE ในวงเงิน1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน จนกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะหลุดพ้นจากภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐยืนยันในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับรายการ "60 Minutes" ของสถานีโทรทัศน์ CBS ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก็ตาม ขณะที่ยอดค้าปลีกสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.8% ในเดือน มี.ค. 64 มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.9% หลังจากที่ปรับตัวลง 2.7% ในเดือน ก.พ. 64 โดยการดีดตัวขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือน มี.ค. 64 เป็นผลมาจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนี้ตัวเลขผู้ Initial Jobless Claim ลดลงสู่ระดับ 576,000 รายในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. 64 โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 710,000 รายด้วย ขณะที่ประเด็นที่นักลงทุนกังวลกันมากในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ล่าสุดประเด็นดังกล่าวลดน้ำหนักลงไปมากแล้ว หลังจากที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับ 1.531% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ส่งผลให้กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น

ทั้งนี้ประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังภาวะโควิด-19 กลับมาเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของตลาดหุ้นสำคัญของโลกอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการกระจายวัคซีนแล้วโดยเฉพาะยุโรป และจีน ที่ล่าสุด Christine Largard ประธานธนาคารกลางยุโรป เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป จะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ขณะที่ในฝั่งของจีน ล่าสุดจีนได้ประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 18.3% เมื่อเทียบเป็น YoY เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากฐานที่ระดับต่ำในช่วงต้นปี 2563 เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

ทั้งนี้ Momentum ขาขึ้นดังกล่าวของตลาดหุ้นโลก สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 1.14% และ 0.39% ตามลำดับ ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 53.80% สูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 24.60% ชัดเจน

ตลาดหุ้นไทยดูอ่อนแอกว่าโลก และภูมิภาค ! ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชียบางส่วน รวมทั้งไทย กลับมีผลงานที่แย่กว่า หรือ Underperform ตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป เนื่องจากล่าสุดมีหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่มีความลังเลที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะของบริษัท Astrazeneca ขณะที่บางประเทศได้ระงับการใช้วัคซีนดังกล่าว เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลว่าอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้แผนการป้องกันโรคโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียเป็นไปอย่างล่าช้า

ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นในเอเชีย Underperform อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวยืนยันว่าประโยชน์ของวัคซีนนั้น ‘มีมากกว่าอันตราย’ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยดูอ่อนแอมากกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค เพราะกำลังเผชิญกับความกังวลต่อการระบาดโควิดระลอก 3 โดยที่ในขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และพบว่าส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน ที่ติดเชื้อจากสถานบันเทิง งานเลี้ยงสังสรรค์ งานปาร์ตี้ ทำให้มีความเสี่ยงและกระจายเชื้อไปยังบุคคลในครอบครัว สถานที่ทำงาน และผู้ใกล้ชิด

ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีมาตรการในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการล็อกดาวน์พื้นที่ ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว แต่กำหนดให้ห้างร้านปิดทำการเวลา 21.00 น. และร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงในพื้นที่สีแดง ปิดในเวลา 23.00-04.00 น. แทน ซึ่งมาตรการที่ออกมาถือเป็นการปลดล็อกความกังวลของนักลงทุนได้บางส่วน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังกังวล และจับตามองอย่างต่อเนื่องคือตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากขนาดไหน และจะมีการล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่จำกัดกรอบกับปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทย หรือ Potential Upside Gain ให้ยังคงต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. ทาง FM 97 เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

23