Nov 18, 20222 min

Momentum ยังไปต่อได้ แต่การแกว่งขึ้นเปราะบาง

ความกังวลดอกเบี้ยลดลง !

ตลาดหุ้นโลกนำโดยตลาดหุ้นสหรัฐยังคงรักษา Momentum ขาขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ย. 65 โดยล่าสุดยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐที่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน ในเดือน ธ.ค. 65 โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.7% ในเดือน ต.ค. 65 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.9% และชะลอตัวจากระดับ 8.2% ในเดือน ก.ย. 65 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือน ต.ค. 65 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5% และชะลอตัวจากระดับ 6.6% ในเดือน ก.ย. 65

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 80.6% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 65 และให้น้ำหนักเพียง 19.4% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะภาคแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สะท้อนออกมาจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง แต่ก็ชะลอตัวจากระดับ 315,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. 65 ขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ในเดือน ก.ย. 65

นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญที่อีกปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นๆ คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของมหาอำนาจลำดับที่ 2 ของโลกอย่างจีน ที่ล่าสุดมีปัจจัยบวกจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือน ต.ค. 65 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน ก.ย. 65 ที่มีการขยายตัว 2.8% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4% ในส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวลดลง 1.3% ในเดือน ต.ค. 65 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน ก.ย. 65

ทางการจีนได้เริ่มคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากขึ้น โดยล่าสุดผู้ที่เดินทางเข้ามายังประเทศจีนจะต้องกักตัวในโรงแรมหรือศูนย์กักกันโรคซึ่งรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้เป็นระยะเวลา 5 วัน และกักตัวต่อในที่พักอีก 3 วัน ซึ่งลดลงจากมาตรการเดิมที่กำหนดให้นักเดินทางขาเข้าต้องกักตัวทั้งหมด 10 วันโดยอยู่ในโรงแรม 7 วันและในที่พัก 3 วัน สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยเชิงกลยุทธ์ในระยะสั้น SET ยังคงมีจุดหมุนที่บริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,612 จุด) เช่นเดิม โดยที่ถ้า SET ยังคงปิดสัปดาห์ยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้โอกาสแกว่งขึ้นไปที่ 1,650 และ 1,670 จุดยังมี แต่ถ้าหมุนตัวลงมาปิดต่ำกว่าอีกรอบ ถือว่าจบรอบการ Technical Rebound เช่นกัน

Momentum ดี แต่ความเชื่อมั่นไม่มา ! ทั้งนี้ Momentum การแกว่งตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลก สะท้อนออกมาชัดเจนจากทิศทางของดัชนี VIX Index ที่ในทางสถิติจะมีความสัมพันธ์ หรือ Correlation ที่เป็นลบกับทิศทางของตลาดหุ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงเปลี่ยนแปลง -7.00%, -10.31% และ -4.78% อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่าสนใจคือในภาวะที่ Momentum ของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะในสหรัฐกับไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -5.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 25.10%

ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +14.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 47.00% ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากการที่นักลงทุนยังคงมองว่าระดับราคาในปัจจุบันของตลาดหุ้นสหรัฐยังคงแพง สะท้อนออกมาจากระดับของ Earnings Yield GAP ซึ่งโดยปกติถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สามารถบอกเป็นนัยว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆ อยู่ในเกณฑ์ Overvalued หรือแพงเกินไป เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต บอกเป็นนัยได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆ อยู่ในเกณฑ์ undervalued หรือถูกเกินไป ดังนั้นการที่ล่าสุดระดับ Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ที่ -1.89SD จากค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง สะท้อนว่าตลาดหุ้นสหรัฐในปัจจุบันยังอยู่ในระดับ Overvalued หรือแพงเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,610 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

18