Oct 21, 20222 min

ดอกเบี้ยขาขึ้น-เศรษฐกิจขาลงหุ้นไปต่อยากมาก

เงินเฟ้อสหรัฐกดไม่ลง !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเดินหน้าต่อในแนวโน้มขาลง หลังสหรัฐประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ย. 65 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.5% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 6.3% ในเดือน ส.ค. 65 โดยที่ทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงมีโอกาสทรงตัวในระดับสูงต่อไป ในทิศทางเดียวกับราคาวัตถุดิบในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ล่าสุดดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือน ก.ย. 65 และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.2% ในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ปัจจุบันโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.50% หรือครั้งละ 0.75% ในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ มีความเป็นไปได้เกิน 70% แล้ว

ในภาวะที่นักลงทุนยังคงกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัว หรือ Growth Slowdown ของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% พร้อมทั้งระบุว่าเศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3 จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปี 2565 หรือปี 2566 ขณะที่การขยายตัวของสหรัฐ, สหภาพยุโรป และจีนจะชะลอตัวลง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน, วิกฤตค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ, ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา

อย่างไรก็ดี IMF ยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ที่ระดับ 3.2% นอกจากนี้ IMF ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2565 และปี 2566 สู่ระดับ 1.6% และ 1% ตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงต่อไปอีก โดยเงินเฟ้อทั่วโลกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายปี 2565 โดยจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 8.8% จากระดับ 4.7% ในปี 2564 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 6.5% ในปี 2566 และปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.1% ในปี 2567 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเฟด สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าจะลดลงสู่ระดับ 5.4%

อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าเป้าหมายของเฟด ที่ระดับ 2% อยู่ดี ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกไม่ได้ตอบสนองมากนักกับการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ประกาศมาตรการใหม่ โดยธนาคารจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสูงถึง 1 หมื่นล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากวงเงินก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 5 พันล้านปอนด์ โดยสาเหตุสำคัญมาจากการที่โครงการซื้อพันธบัตรดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 ต.ค. 65 ทำให้มีความกังวลว่าตลาดการเงินอังกฤษจะกลับมาผันผวนอีกครั้งหลังโครงการสิ้นสุดลง ในภาวะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เศรษฐกิจเอเชียเริ่มกลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา ในระยะสั้นปัจจัยกดดันจากฝั่งเอเชียมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากสภาวะเศรษฐกิจของจีน และญี่ปุ่น โดยในฝั่งของจีนได้รับแรงกดดันจากการที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการจีน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.3 ในเดือน ก.ย. 65 ลดลงจากระดับ 55.0 ในเดือน ส.ค. 65 เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์ รวมถึงการจำกัดการเดินทางทั่วประเทศ

ทั้งนี้บริษัทในภาคบริการกำลังเผชิญกับภาวะอุปสงค์ที่ซบเซา รวมถึงการผลิตที่หดตัวลง และต้นทุนที่สูงขึ้น แม้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศฟื้นตัวขึ้นก็ตาม ขณะที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2565 และปี 2566 สู่ระดับ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ โดยถูกกระทบจากการที่จีนใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์

สำหรับญี่ปุ่น ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือน ก.ย. 65 หลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือน ส.ค. 65 ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 5.1% ในเดือน ส.ค. 65 ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.7% นอกจากนี้ เมื่อเทียบเป็นรายเดือน การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 1.7% สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคของญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และค่าเงินเยนที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ขณะที่ในส่วนของแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเชิงกลยุทธ์ในระยะสั้น

การที่ SET ยังคงแกว่งตัวอยู่ต่ำกว่าบริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,608 จุด) ทำให้การดีดตัวระยะสั้นของ SET ยังให้ถือว่าเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้นก่อน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,608 จุด เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

11