Sep 22, 20222 min

ผิดหวังเงินเฟ้อไม่มาตามนัด !

ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก 1.48% หลังสหรัฐประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ รวมถึงปัจจัยกดดันจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานเตือนเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอย โดยหลังจากสหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.1% ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐปรับตัวลดลง 0.2% ในเดือน ส.ค. 65 หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ค. 65 ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวลดลงสู่ระดับ -9.9 ในเดือน ก.ย. 65 พลิกจากระดับ +6.2 ในเดือน ส.ค. 65 และดัชนีภาคการผลิตดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +2.8 แบบคนละเรื่อง

ขณะที่ในฝั่งยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน แม้ว่าจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 9.9% ในเดือน ส.ค. 65 แต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง และหากเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในส่วนของรายประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.9% ในเดือน ส.ค. 65 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 7.5% ในเดือน ก.ค. 65 ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์โดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลซึ่งคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.9% นอกจากนี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะปรับตัวลดลง 0.3% ในปี 2566 ลดลงจากคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. 65 จะเติบโต 3.7% ในขณะเดียวกัน ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2566 สู่ระดับ 9.3 ขณะที่ รัฐบาลฝรั่งเศสคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 1% ในปี 2566 จากระดับ 2.5% ในปี 2565 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.4%

นอกจากนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าใกล้ภาวะถดถอยในปี 2566 ขณะที่ ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ลงสู่ระดับ 3.2% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ลงเหลือ 2.9% ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งใหม่นั้น จะมีการเปิดเผยในเดือนหน้า

มองยาวๆ เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ดีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐตามที่กล่าวไปในเบื้องต้น อาจจะเป็นเพียงแค่กดดันในระยะสั้นเท่านั้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับระยะเวลา 1 ปีและ 3 ปีข้างหน้า ออกมาลดลงอย่างมากในเดือน ส.ค. 65 ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าในช่วง 1 ปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 และลดลงจากระดับ 6.2% ที่มีการสำรวจในเดือน ก.ค. 65 ส่วนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 3 ปีข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 2.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 3.2% ในเดือน ก.ค. 65

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นข้อมูลที่ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยอมรับว่ามีผลต่อการตัดสินใจในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะในภาคแรงงานยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 226,000 ราย ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +8.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 26.10% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -7.30% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 46.00%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) SET ยังคงมีจุดหมุนที่บริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,620 จุด) เช่นเดิม ถ้า SET ยังคงปิดสัปดาห์ยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้โอกาสแกว่งขึ้นไปที่ 1,660 จุดยังมี แต่ถ้าหมุนตัวลงมาปิดต่ำกว่าอีกรอบ ถือว่าจบรอบการ Technical Rebound เช่นกัน กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,620 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

13