Mar 31, 20222 min

มองข้ามไปอาจเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

ไปต่อได้ช่วงสั้น !

สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นสัปดาห์ที่ดีของตลาดหุ้นโลกนะครับ โดยดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้น 1.95% โดยมีตลาดหุ้นที่ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ และญี่ปุ่น ที่ปรับตัวขึ้น 2.46%และ 4.35% ตามลำดับ หลังจากสหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนตลาด ได้แก่ ตัวเลข Initial Jobless Claim ที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี โดยลดลง 28,000 ราย สู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังมีความแข็งแกร่งมาก รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 ในเดือน มี.ค. 65 ซึ่งการที่ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวของอุปสงค์ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานดีดตัวขึ้น

อย่างไรก็ตามปี 2564 ที่ผ่านมา สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพุ่งขึ้น 33.4% สู่ระดับ 8.216 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการพุ่งขึ้นของการนำเข้า ขณะที่ภาคธุรกิจเพิ่มการนำเข้าเพื่อรองรับการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ VIX หรือดัชนีความกลัว เป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด โดยเป็นการหาค่า Volatility (ค่าความผันผวน) ผ่านตัว Option โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนีความกลัวของสหรัฐ ยุโรปและฮ่องกงเปลี่ยนแปลง -15.58%, -2.68% และ -12.69% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางดัชนี MSCI ACWI โดยดัชนีความกลัวที่ลดลง และผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +10.30% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 32.80% เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -14.40% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 35.40% ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,660 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ แต่ถ้าปิดต่ำกว่า 1,660 จุดลงมา การลงทุนระยะ 3 เดือนค่อยลดพอร์ตออกมาว่ากันใหม่ ส่วนการลงทุนระยะ 1 ปี ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,620 จุด) ได้ ยังไม่มีอะไรน่ากังวลครับ

ระวังเงินเฟ้อไม่ลง เฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ! อย่างไรก็ดีปัจจัยกดดันต่อไปที่ต้องจับตามอง คือการที่นักลงทุนได้เพิ่มคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 3-4 พ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไป เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 32.9% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็นเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง โดยอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้ในปลายปีอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจจะอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%

ทั้งนี้ เฟดยังคาดการณ์ว่า อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2566 แต่จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ขณะที่ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เขาต้องการให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่สูงกว่า 3% จากระดับใกล้ 0%

ก่อนหน้านี้ นายบูลลาร์ดเป็นเจ้าหน้าที่เฟดเพียงรายเดียวที่ลงมติให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนกลับมากังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำมันอีกครั้ง หลังมีรายงานว่า โรงงานน้ำมันของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ซึ่งได้ยิงขีปนาวุธโจมตีคลังน้ำมันของบริษัทซาอุดีอารามโค ในเมืองเจด-ดาห์ของซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.56 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 113.90 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งการที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐแสดงท่าทีสนับสนุนให้ไล่รัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม G20 และหวังว่าจีนจะไม่เข้ามายุ่งในกรณีนี้ ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐกล่าวว่า ถึงแม้จีนและรัสเซียถือเป็นหุ้นส่วนที่ไม่มีขีดจำกัด แต่จีนก็จะยึดมั่นตามบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีการยอมรับทั่วโลก

ทั้งนี้ Credit Agency อย่าง S&P ระบุว่าจะถอนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับองค์กรทั้งหมดของรัสเซียก่อนวันที่ 15 เม.ย. 65 หลังจากที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รวมถึงปรับลด Credit Rating ของรัสเซียจาก CCC- ลงสู่ระดับ CC หลังมีข่าวว่ารัสเซียกำลังเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดในปี 2566 นี้ โดย S&P ได้เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากสถาการณ์ยูเครน-รัสเซีย พบว่า ภาคการผลิตในยูโรโซนกำลังเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังจากรัสเซียบุกโจมตียูเครนทำให้ต้นทุนพลังงานพุ่งขึ้น ซึ่งต้นทุนเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

12