Mar 24, 20222 min

ตลาดจะถูกชี้นำด้วยท่าทีของเฟดต่อไปอีก

ยังมีปัจจัยลบที่ต้องตามต่อ! ทิศทางของตลาดหุ้นโลกกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้น 3.58% นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ปรับตัวขึ้น 3.57%, 5.47% และ 3.77% เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% โดยหลังจากการประชุม FOMC ครั้งนี้เฟดออกมาเปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ทั้งนี้เฟดได้ประกาศ Dot-Plot ใหม่ ซึ่งค่า Median ของปี 2568 เป็นต้นไปปรับตัวลดลงเนื่องจากคาดว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้มีนักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมาอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ตัวเลข Initial Jobless Claim ที่ลดลง15,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 220,000 ราย และตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 6.8% ในเดือน ก.พ.2565 สู่ระดับ 1.769 ล้านยูนิต และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.690 ล้านยูนิต จากระดับ 1.657 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค.2565

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องระมัดระวังในระยะต่อไปคือ การที่ในการประชุมดังกล่าวเฟดได้ส่งสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลในการประชุมครั้งต่อไป (วันที่ 3-4 พ.ค.2565) ซึ่งประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง หรือ MBS มูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งเฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้สู่ระดับ 4.3% และปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2566-2567 สู่ระดับ 2.7% และ 2.3% ตามลำดับ อีกทั้งปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP สหรัฐในปีนี้สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 4.0% และคงคาดการณ์ปี 2566-2567 ที่ระดับ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ

เฟดยังส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งๆ ละ 0.25% ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งหมายความว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งหลังจากนี้ ซึ่งส่งผลให้ในปลายปีอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ทั้งนี้เฟดยังคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2566 ก่อนที่จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ขณะเดียวกันธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BoE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25% สู่ระดับ 0.75% ตามคาดโดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ติดต่อกันแล้วนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด

ดังนั้นจากปัจจัยบวกระยะสั้นส่งผลให้ดัชนี VIX Index ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงลบต่อทิศทางของตลาดหุ้น หรือ Negative Correlation ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ปรับตัวลดลง 15.08%, 26.14% และ 4.84% ตามลำดับในสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีจากปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป ทั้งจากการขึ้นดอกเบี้ย และการลดขนาดงบดุลของเฟด ส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลงลดลง 1.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 22.50% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 4.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 49.80%

จีนดีขึ้นระยะสั้นแต่ต่อไปยังต้องระวัง ! แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกในระยะสั้นจากฝั่งจีนเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนทิศทางของตลาดหุ้นโลก หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ออกมาเเถลงว่าจะพยายามช่วยเหลือ โดยจะร่วมมือกับ Regulator ของทางสหรัฐรวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายการลงโทษบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาก่อนหน้านี้ (เช่น การควบคุมการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ของบริษัทเทค, การลบเเอปพลิเคชั่นของบางบริษัทออก หรือการจำกัดเวลาเล่นเกมของเด็ก) หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทจีนบางเเห่งที่จดทะเบียนในสหรัฐ (Dual List) มีเเนวโน้มจะถูกขับออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากไม่ผ่านหลักเกกณฑ์ Holding Foreign company Accountable Act (การตรวจสอบบัญชี 3 ปี เเละการพิสูจน์ว่าบริษัทไม่เกี่ยวข้อง หรือถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน) ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีของจีน ปรับขึ้นอย่างเเรงในช่วงท้ายสัปดาห์ เช่น Alibaba +37%, JD +39% เเละ Pinduoduo +56%

อีกทั้งยังมีปัจจัยที่หนุนจากข่าวรัฐบาลจีนประกาศเลื่อนการเก็บภาษีที่ดินออกไปก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดอยู่ อย่างไรก็ดีในเชิงของปัจจัยพื้นฐานยังคงมีประเด็นที่ต้องระมัดระวังอีกในส่วนของจีน หลังจากที่ล่าสุด มอร์แกน สแตนลีย์ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนในไตรมาสแรกปีนี้ลงเหลือ 0% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 0.6% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะพลาดเป้าหมายการขยายตัวในปีนี้ด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการประกาศล็อกดาวน์ในหลายเมือง อีกทั้งมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,660 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ แต่ถ้าปิดต่ำกว่า 1,660 จุดลงมา การลงทุนระยะ 3 เดือนค่อยลดพอร์ตออกมาว่ากันใหม่ ส่วนการลงทุนระยะ 1 ปี ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,620 จุด) ได้ ยังไม่มีอะไรน่ากังวลครับ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

11