Jan 4, 20222 min

ต้นปี 2565 ทิศทางตลาดหุ้นยังพอไปได้

แค่ไม่ล็อกดาวน์ก็ยังโอเค !

แน่นอนว่าในช่วงต้นปี 2565 ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งจะเป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวม โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยที่ล่าสุดอังกฤษได้เปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นเกิน 120,000 รายต่อวันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 11,891,292 ราย โดยยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมดอยู่ที่ 147,857 ราย และมีผู้ป่วยโควิดจำนวน 8,240 รายยังคงอยู่ในโรงพยาบาล

ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 114,625 ราย ทำให้ปัจจุบันข้อมูลทางสถิติระบุว่าประชาชนราว 1 ใน 20 คนในกรุงลอนดอนติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดในอังกฤษ ขณะที่ในฝั่งของสหรัฐ คณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก แม้ผลการวิจัยจะบ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าในแง่แนวโน้มของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ที่เปราะบางมากที่สุดในช่วงที่เราพบไวรัสซึ่งแพร่เชื้อได้รวดเร็วเป็นพิเศษอย่างโอไมครอน

ประกอบกับการที่มีข้อมูลที่น่ากังวลเพิ่มเติมจากการที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ระบุว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ภายในไม่กี่วันจากทางเดินหายใจไปยังหัวใจ, สมอง และเกือบทุกระบบอวัยวะในร่างกาย โดยเชื้ออาจอยู่ได้เป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ในสหรัฐระงับการให้บริการเที่ยวบินกว่า 1,000 เที่ยวต่อวัน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลายพันคนที่ต้องการเดินทางในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และแน่นอนว่าประเด็นการรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะเป็นประเด็นที่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนแน่นอน ซึ่งตราบใดที่ประเทศสำคัญของโลกยังคงไม่มีการประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ แนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกน่าจะยังคงอยู่ได้ ยกตัวอย่างเช่นสิงคโปร์ ที่ล่าสุดได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนบางส่วนแล้ว หลังผลการวิจัยจากนานาประเทศยืนยันตรงกันว่า แม้โอไมครอนจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า แต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ขณะที่ออสเตรเลีย แม้ว่าล่าสุดจะยืนยันพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกแต่รัฐบาลยังคงไม่ประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ โดยระบุว่าอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลยังคงอยู่ในระดับต่ำอยู่

Momentum ตลาดหุ้นโลกยังคงดี ! ในเชิงเทคนิคการที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยทุกเส้นได้ รวมทั้งยังคงรักษารูปแบบของ Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้นได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน ทั้งนี้ถ้าเราเอารูปแบบของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average (MA) มาเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกความคงอยู่ของแนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกในปัจจุบัน การที่ล่าสุดดัชนี MSCI ACWI ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มราย 3 เดือน และ EMA 200 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มรายปีได้ ก็สามารถระบุได้เลยว่าแนวโน้มขาขึ้นในระยะ 3 เดือน และ 1 ปีของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่

นอกจากนี้ในมุมของ Momentum ของตลาดหุ้น ที่เราสามารถพิจารณาได้ง่ายที่สุด จากทิศทางของดัชนี VIX Index ของแต่ละตลาดหุ้น เนื่องจากเป็นดัชนีที่ในทางสถิติแล้วมักมีความสัมพันธ์เป็นลบ หรือ Negative Correlation กับทิศทางของตลาดหุ้น พบว่าดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐกลับมาปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งในช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 สะท้อน Momentum ที่ยังคงเป็นขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกได้อย่างชัดเจน

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าการปรับตัวลงในระหว่างสัปดาห์ของ SET จะเป็นเพียงการพักตัวเพื่อขึ้นต่อ โดยเป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ บริเวณ Fib Node 0.618 หรือ 61.8% ที่ 1,569 จุดของ SET ยังจะทำหน้าที่เป็นแนวรับ และจุดหมุนที่สำคัญ โดยที่ตราบใด SET ไม่หมุนลงมาปิดต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง SET น่าจะขยับกรอบการเหวี่ยงตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,650-1,700 จุดได้ในช่วงต้นปี 2565 หลังจากได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่สะท้อนมาจากการที่ดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมาทำสัญญาณ Buy Signal อีกครั้ง และตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติไม่กลับมาขายสุทธิต่อเนื่องอีกมากกว่า 2.0 หมื่นล้านบาท เป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่การแกว่งขึ้นไปในกรอบ 1,650-1,700 จุดก่อนในเบื้องต้นขณะที่ในเชิงปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality ถ้าพิจารณาจากสถิติการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย (SET) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2012-2021 จะพบว่าในช่วงเดือน ม.ค. 65 มีโอกาสเกิด January Effect เพราะถ้าพิจารณาจากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2012-2021 พบว่าในเดือน ม.ค. โดยเฉลี่ย SET จะปรับตัวขึ้น 1.69% โดยปรับตัวขึ้น 8 ปีจาก 10 ปีหลังสุด หรือมีระดับ Winner Percentage ถึง 80% ซึ่งถือว่าในเชิงปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality แล้ว สัญญาณขาขึ้น หรือ Bullish มีน้ำหนักมากว่าสัญญาณขาลง หรือ Bearish

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์ นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

12