Mar 18, 20212 min

วัคซีนล่าช้าเป็นประเด็นต้องจับตา...ความกังวลเงินเฟ้อลดลง !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นตามคาดนะครับ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งออกแบบโดย Morgan Stanley Capital International (MSCI) เพื่อสะท้อนด้านเคลื่อนไหวของราคาตลาดตราสารทุนโดยรวม และประกอบด้วยหุ้นจากตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เปลี่ยนแปลง +3.29% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า หรือ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ ที่เปลี่ยนแปลง +4.53% หลังจากได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐ Joe Bien ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญ ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนวันที่ 14 มี.ค. 64 ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลง

รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดได้ประกาศขยายเวลาโปรแกรมช่วยเหลือ Paycheck Protection Liquidity Facility ไปจนถึงกลางปี ทั้งนี้ร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีชื่อว่า "American Rescue Plan Act of 2021" ครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรงคนละ 1,400 ดอลลาร์, ให้เงินช่วยเหลือบรรดารัฐและรัฐบาลกลางในวงเงิน 3.50 แสนล้านดอลลาร์, จัดสรรเงินทุนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขยายโครงการช่วยเหลือคนตกงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ออกไปจนถึงเดือน ก.ย.ปีนี้

ทางด้าน Janet Yellen รัฐมนตรีคลังสหรัฐสระบุว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์จะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐมีทรัพยากรที่เพียงพอในการผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และจะทำให้การจ้างงานของสหรัฐกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในปีหน้า สอดคล้องกับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ได้ออกมากล่าวว่าเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์นี้จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐโตเพิ่มขึ้นได้ 5% ถึง 6% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ความกังวลต่อการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ Government Bond Yield ลดน้อยลงแล้ว หลังจากพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคตัวเลขของเดือน ก.พ. 64 นั้นยังออกมาใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. 64 และไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่ตลาดคาดไว้ โดย Headline CPI ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. 64 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่วน Core CPI ขยับขึ้นเพียง 0.1% ส่งผลให้ Government Bond Yield ปรับตัวลดลงไปสู่ระดับ 1.5% อีกครั้ง

ขณะที่ปัจจัยบวกใหม่คือการที่แม้อัตราเงินเฟ้อจะไม่ได้ร้อนแรงตามที่หลายฝ่ายกังวล แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ชะลอตัวลงเช่นกัน โดยที่ตัวเลข Initial Jobless Claim ยังได้ลดลงสู่ระดับ 712,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 725,000 ราย นอกจากนี้จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 193,000 ราย สู่ระดับ 4.1 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้แนวโน้มทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมี Momentum ที่เป็นบวกต่อไปได้อีก หลังจากที่ประธานาธิบดี Joe Biden ได้สั่งการให้รัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนภายในวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยคาดหวังว่า สถานการณ์ในสหรัฐจะกลับคืนสู่ภาวะปกติภายในวันที่ 4 ก.ค. 64 ซึ่งเป็นวันชาติของสหรัฐ

สำหรับตลาดหุ้นไทยต้องจับตาเรื่องวัคซีน ! ในภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐยังคงมีปัจจัยบวกเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในฝั่งของยุโรปล่าสุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และแผนการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ต่อไป และ ECB ยังมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ไว้ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร ต่อไปจนถึงเดือน มี.ค. 65 ขณะที่ปัจจัยจากการที่ตลาดหุ้นจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง -2.89% หลังจากการที่รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายตัวเลข GDP สำหรับปี 2564 ที่ระดับกว่า 6% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 8% และทำให้นักลงทุนกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจกำลังส่งสัญญาณใช้นโยบายควบคุมเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามกองทุนของรัฐบาลจีน หรือที่เรียกว่า "National Team" ได้เข้าแทรกแซงตลาดหุ้นเพื่อสกัดการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นเริ่มส่งสัญญาณการทรุดตัวลงมากเกินไป

ทั้งนี้ Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐดังกล่าว สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงเปลี่ยนแปลง -7.38%, -22.14% และ -8.16% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 9.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 49.40%

ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 1.80% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.50%

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยคงต้องติดตามประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขไทยชะลอการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Astrazeneca หลังประเทศเดนมาร์ก และหลายประเทศในยุโรปประกาศระงับการฉีดวัคซีนของ Astrazeneca ส่งผลให้มีการเลื่อนฉีดวัคซีนในวันศุกร์ที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา แม้สรุปว่านายกฯ ได้ฉีดแล้วเมื่อ 16 มี.ค. รวมถึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนเริ่มกังวลว่าอาจกระทบแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล และทำให้การเปิดประเทศล่าช้า จาก 1 ต.ค. 64 แม้ว่าล่าสุดเศรษฐกิจไทยจะเริ่มสงสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นแล้ว โดยส่งสัญญาณมาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. 64 ที่ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาที่ 49.4 หลังคลายกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,500 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,500 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.ทาง FM 97 เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

24