Mar 11, 20212 min

ยังไปต่อได้บนความเชื่อว่า..เศรษฐกิจฟื้น

เงินเฟ้อสหรัฐจากเศรษฐกิจฟื้น !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงมีโอกาสไปต่อได้ หลังจากคืนวันเสาร์ 6 มีนาคม 2564 วุฒิสภาสหรัฐได้ลงคะแนนโหวตอนุมัติกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่เสนอโดยประธานาธิบดี Joe Biden แล้ว ด้วยคะแนนโหวตสนับสนุน 50 เสียง ขณะที่โหวตคัดค้าน 49 เสียง หลังจากที่ได้เจรจากันมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานต่อเนื่องสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ด้วย ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 9.5 ล้านรายที่ตกงานเพราะโควิด-19

ทั้งนี้วุฒิสภาสหรัฐจะส่งกลับร่างกฎหมายที่อนุมัติแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติอีกครั้ง และหลังจากนั้นก็ส่งให้ประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปก่อนวันที่ 14 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลงพอดี

นอกจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด คือ ตัวเลข Non-Farm Payroll ออกมาที่ 3.79 ตำแหน่งในเดือนมกราคม 2564 ดีกว่าที่ตลาดคาดอยู่เกือบ 2.5 เท่า สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานที่ถึงจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลข Initial Jobless Claim อยู่ที่ระดับ 745,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 750,000 ราย

ขณะที่การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 117,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง อีกทั้งตัวเลข Unemployment Rate หรืออัตราการว่างงานก็ร่วงลงไปเหลือ 6.2% เท่านั้น ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะทรงตัวที่ระดับ 6.3%

นอกจากนี้ในส่วนของภาคการผลิตสหรัฐ ล่าสุดตัวเลข ISM Manufacturing ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 60.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.9 จากระดับ 58.7 ในเดือนมกราคม2564 ในทิศทางเดียวกับตัวเลข Manufacturing PMI ของยุโรป ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 57.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 57.7 จากระดับ 54.8 ในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปจริงๆ

สอดคล้องกับการที่ Janet Yellen รมว.คลังสหรัฐเปิดเผยว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดกำลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่วิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น” ขณะที่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดยังยืนยันอีกครั้งว่า การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ยังไม่มีความรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยการที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เศรษฐกิจจะต้องมีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และเงินเฟ้อจะต้องอยู่เหนือระดับ 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งเฟดไม่คาดว่าภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปีนี้

ลุ้นมาตรการเศรษฐกิจดันตลาดหุ้นไทย ! ทั้งนี้ในส่วนของประเด็นวัคซีนโควิต-19 ที่มีความคืบหน้ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้ให้การอนุมัติวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว นอกจากนี้ประธานาธิบดี Joe Biden เปิดเผยว่าสหรัฐจะมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพียงพอสำหรับฉีดให้แก่ประชากรอเมริกาวัยผู้ใหญ่ทุกคนในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 หลังจากก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าอาจต้องรอจนถึงช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงจะสามารถระดมวัคซีนได้มากมายขนาดนั้น ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่มีพัฒนาการอย่างมาก

สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ที่อยู่ที่ 40.30% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 25.30%

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ ศบค.ชุดเล็กเตรียมเสนอมาตรการ “ผ่อนคลาย 3 ระยะ” เข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 15 มีนาคม2564 โดยมีแนวโน้มที่จะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 31 พฤษภาคม 2564 โดยที่ระยะแรก 1 เมษายน 2564 เสนอมาตรการผ่อนคลายที่สอดคล้องกับสถานการณ์และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งประเทศ โดยในวันที่ 1 เมษายน2564 อาจพิจารณาปรับสีพื้นที่แต่ละจังหวัด ไปจนถึงหารือมาตรการกักตัวของผู้เดินทางจากต่างประเทศ ขณะที่ในระยะที่ 2 คือวันที่ 1 มิถุนายน 2564 และระยะที่ 3 คือช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ยังจะต้องมีการหารือรายละเอียดมาตรการผ่อนคลายเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 15-19 มีนาคม 2564 นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังออกมาระบุว่าความคืบหน้าการปลดล็อกเงื่อนไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออยู่อีกกว่า 300,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท. โดยจะมีการปรับเงื่อนไขเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึง ซอฟต์โลนได้ ทั้งในส่วนของการปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย เป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท/ราย รวมถึงปรับอัตราดอกเบี้ยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยขั้นต่ำเริ่มที่ 2% หรือมากกว่านั้น เพื่อจูงใจให้เอกชนปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้วงเงินรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,500 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,500 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

15